ความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ด้วยอาการที่รัฐไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนาดังที่เป็นอยู่ ไม่ได้
สะท้อนเพียงการบริหารจัดการของรัฐที่ล้มเหลวในการดำเนินโครงการตามนโยบายนี้เท่านั้น หากยังได้สะท้อนบทเรียนปัญหาที่ต้องการการแก้ไขในระยะยาวอีกหลายประการ หรือถ้าจะพูดให้เข้ากับสถานการณ์ ก็ต้องกล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลวอยู่นี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างนโยบายการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรในสาขาต่างๆ อย่างเร่งด่วน
การปฏิรูปนโยบายการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร หรือจะเรียกรวมๆ ว่าการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรจะเป็นการวางพื้นฐานอันสำคัญ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของชาวนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่สร้างภาวะพึ่งพา ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอันเป็นที่มาของนโยบายช่วยเหลือที่ขายความนิยมชั่วคราว และส่งผลให้เกิดม็อบเกษตรกรในทุกฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
ที่เป็นอยู่เช่นนี้ ก็เพราะที่ผ่านมานโยบายการช่วยเหลือชาวนาของรัฐ มักผูกโยงให้ชาวนา ติดกับดักการพึ่งพากลไกรัฐ กลไกตลาดของภาคเอกชนและภาคทุนมากเกินไป นานวันจึงกลายเป็นว่า ชาวนาเป็นอาชีพที่พึ่งพาตัวเองได้น้อยมีภาวะเศรษฐกิจเปราะบาง หนี้สินมากจนสูญเสียที่ดิน และมีฐานะทางเศรษฐกิจเสียเปรียบเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในสังคม
ดูตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลได้ผูกโยงให้ชาวนาพึ่งพาธุรกิจโรงสีแทนที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับขอให้โรงสีและภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการเกือบจะทุกขั้นตอนของโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่รับจำนำข้าวจากชาวนา รับฝากข้าวของรัฐไว้ในโกดังของโรงสี รวมไปจนถึงการประมูลซื้อข้าวของรัฐจากโกดัง หน่วยงานของรัฐอย่างสำนักงานเกษตรอำเภอและองค์การคลังสินค้า ทำหน้าที่เพียงรับลงทะเบียนเกษตรกรและตรวจสอบข้าวในโกดังเท่านั้น
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลรัฐบาลไม่มีความพร้อมเนื่องเพราะไม่มีโรงสี ไม่มีลานตากข้าวหรือไม่มีโกดังข้าวเป็นของตนเองก็ตาม แต่โครงการรับจำนำได้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทและได้รับผลกำไรในการดำเนินโครงการอย่างสูงโดยขาดการตรวจสอบที่มากพอของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นที่มาของการทุจริตคอรัปชั่นอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐท้องถิ่น
ในขณะที่ชาวนาเอง ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากโครงการนี้ ดังกรณีที่ชาวนากล่าวว่าข้าวที่เอาไปจำนำ ไม่เคยได้ราคา 15,000 บาทต่อเกวียน ตามที่รัฐบาลประกาศ เพราะเวลาเอาข้าวไปจำนำไม่ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยช่วยเหลือดูแลในกระบวนการรับจำนำ เวลาที่โรงสีบอกว่า ข้าวของชาวนามีความชื้นสูงและมีสิ่งเจือปน ต้องถูกหักราคาเหลือ 12,000 บาท หรือ 11,000 บาทต่อเกวียน ชาวนาก็ต้องยอมรับราคานี้ เสมือนว่าโรงสีเอง ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการรับจำนำ และกำหนดราคารับจำนำข้าวที่แท้จริงให้กับชาวนาไปโดยปริยาย
ยังมีเรื่องโควตาในการจำนำข้าว ที่ชาวนาทุกคนให้ข้อมูลเหมือนกันหมดว่าโควต้ารับจำนำข้าว มักถูกซื้อจากโรงสี ในส่วนที่ชาวนาปลูกข้าวได้ไม่เต็มจำนวนผลผลิตทีควรจะได้และกำหนดไว้ตอนลงทะเบียน ส่วนข้าวที่โรงสีเอามาสมทบเพิ่ม เพื่อให้เต็มโควต้าของชาวนาแต่ละคนนั้น จะเอามาจากที่ไหน ไม่มีใครรู้และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบแต่อย่างใด คล้ายๆกับว่า โรงสีก็ดำเนินการรับจำนำข้าวจากเกษตรกรเอง ตรวจสอบเอง แล้วค่อยแจ้งจำนวนให้หน่วยงานรัฐทราบในภายหลัง
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเช่นนี้ จึงมีแต่จะทำให้โรงสีขนาดใหญ่มีความเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ชาวนาตกอยู่ในภาวะพึ่งพา เพราะถูกนำไปผูกโยงกับโรงสี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และนายทุนเงินกู้นอกระบบ ที่พักหลังได้กลายเป็นผู้ต่อชีวิตให้กับชาวนา ยามที่ชาวนาไม่มีเงินหมุนเวียนลงทุนและใช้จ่ายในครอบครัว
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของชาวนา ส่วนหนึ่งจึงเป็นเพราะความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของชาวนาอย่างแท้จริง
ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชาวนา จำเป็นต้องวางอยู่บนรากฐานเพื่อให้ชาวนาเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ทำการผลิตที่ยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ การเป็นเจ้าของที่ดินจะทำให้ชาวนาทั่วประเทศมีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจะนำมาสู่ความเข้มแข็งของภาคเกษตร แต่นโยบายการช่วยเหลือชาวนาของรัฐ กลับมองข้ามนโยบายการปฏิรูปที่ดินและการจัดสรรที่ดินให้ชาวนาไปอย่างน่าเสียดาย ชาวนาบ้านเราขณะนี้ กว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำนา ทั้งที่ที่ดินก็เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ชาวนาควรจะมีไว้เป็นเจ้าของ ในพื้นที่ภาคกลาง แหล่งส่งออกข้าวที่สำคัญอย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวนากว่า85 เปอร์เซ็นต์ กลับต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำนา เห็นได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนของการช่วยเหลือชาวนา
หากนโยบายการช่วยเหลือชาวนาอย่างโครงการรับจำนำข้าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตคอรัปชั่นในทางนโยบาย และล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการยกระดับรายได้ชาวนาแล้วก็น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลในช่วงเวลาใหม่ ช่วงเวลาที่ใครๆ ก็พูดถึงการปฏิรูป จะมาทบทวนถึงนโยบายการช่วยเหลือชาวนา ให้มุ่งไปสู่การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชาวนา ด้วยการปฏิรูปที่ดิน จัดสรรที่ดินให้ชาวนาเป็นเจ้าของและเช่าที่นาในราคาถูกในรูปของธนาคารที่ดินชุมชนเพื่อให้ชาวนาสามารถก้าวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
LOCALACT
แหล่งข้อมูล: หนังสือชาวนา ชีวิตปริ่มน้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน 2556
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.