ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งที่พูดถึงแนวคิดเรื่อง "นาน้ำน้อย 1 ไร่ ได้ 6 ตัน" ซึ่งเป็นรูปแบบการทำนาชีวภาพ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการผลิต แต่ใช้หลักปฏิบัติเชิงปราณีต ยอมรับว่าค่อนข้างสงสัย และไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ เพราะแม้แต่ญี่ปุ่น ประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีการทำนาปลูกข้าวมากที่สุดก็มีผลผลิตสูงสุดเพียง 2 ตันต่อไร่เท่านั้น
อย่างไรก็ตามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยแล้งติดต่อกันยาวนาน และคาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาปรังในเขตลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าน้ำเกินครึ่งที่ปล่อยจากเขื่อนในแต่ละปีถูกนำไปใช้เพื่อการปลูกข้าวนาปรัง
ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน และปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามกำหนดนโยบายมาตรการเพื่อให้ชาวนาลดพื้นที่ทำนาและปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดแรงจูงใจ ขาดแรงสนับสนุนในการชดเชยการทำนาอย่างชัดเจน ชาวนาส่วนใหญ่หวนกลับมาปลูกข้าวอีกเช่นเดิม แนวคิด "นาน้ำน้อย 1 ไร่ ได้ 6 ตัน" ถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจหากสามารถเข้ามาช่วยค้นหาทางออกต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน เช่น การลดต้นทุนการผลิต การสร้างความยั่งยืนทางการผลิตและคุณภาพชีวิตให้กับชาวนาและเกษตรกรที่กำลังเผชิญวิกฤติหลายประการดังกล่าว
"ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แต่ต้องการน้ำ ข้าวจะแตกกอได้ดีเมื่อได้น้ำ แสงแดด และอากาศที่เหมาะสม และที่สำคัญคือข้าวต้องการอินทรียวัตถุในดินสูง คุณภาพของดิน ดินสมบูรณ์เป็นสิ่งสำคัญ" ซึ่งสวนทางกับวิถีชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำต่อ ๆ กันมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ชาวนาทำนาน้ำขัง ด้วยเหตุผลความสะดวกเรื่องการจัดการหญ้าและป้องกันโรคพืชบางชนิด เช่น เพลี้ย แต่ตามหลักวิชาการเราสามารถปลูกข้าวโดยไม่ต้องแช่ขัง ปลูกข้าวให้เหมือนกับการปลูกผัก"
ชาวนาผู้ริเริ่มแนวคิด "นาน้ำน้อย 1 ไร่ ได้ 6 ตัน" คือ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ปราชญ์ชาวนาจังหวัดสระแก้ว ได้นำแนวคิดนี้มาทดลองปฏิบัติและทดลองใช้ในแปลงนาของตนเองเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผลจากการศึกษาทดลองเบื้องต้นพบว่า จากข้าว 1 เมล็ด สามารถแตกกอ ให้ต้นข้าวเพิ่มขึ้นสูงสุดได้ถึง 200 ต้น หรือ 200 รวง เมื่อนำมาเทียบเคียงแล้วสามารถให้ปริมาณผลผลิตได้สูงสุดถึง 6 ตันต่อไร่
เนื่องจากกระบวนการเตรียมดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการเพาะปลูก จึงขอนำเสนอตัวอย่างวิธีการเตรียมแปลง ของดร.เกริก มีมุ่งกิจ ที่กำลังจะเริ่มต้นปลูกข้าวฤดูการทำนาปรังระหว่างเดือน มกราคม ถึง เมษายน 2560 พื้นที่ 3 งาน เพื่อให้พอมองเห็นภาพรายละเอียดกระบวนการทำนาน้ำน้อยได้ชัดเจนมากขึ้น
1.หญ้าในนาข้าวปล่อยไว้ไม่ต้องทำอะไรเลย 2.เอาฟางข้าว ใบไม้ใบหญ้า เศษผักผลไม้ เทเกลี่ยลงไปในนาข้าวให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 3.หมักใบไม้จากสวนป่าเป็นดินที่สมบูรณ์ไว้แล้ว เทเกลี่ยลงในแปลงนา ประมาณ 30 กระสอบปุ๋ย 4.นำปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง 6 กระสอบ เทเกลี่ยลงไปในแปลง 5.นำจุลินทรีย์หน่อกล้วยที่หมักไว้แล้วแบบหัวเชื้อ 20 ลิตร ผสมน้ำ 400 ลิตร ใส่บัวรดน้ำเทราดลงในแปลงให้ทั่วๆ
6.ให้รถไถมาไถนาให้ทั่วเพื่อคลุกผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ไถครั้งเดียว ผาน 3-5-7 ผานใดก็ได้ 7.ต่อเทปน้ำพุ่ง เปิดรดน้ำให้พอดินชื้นๆ และรักษาความชื้นของดินให้สม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่า 15-20 วัน เพื่อย่อยสลายอินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ต่างๆ เริ่มทำงานและขยายตัว 8.เมื่อจะปลูกข้าวให้ใช้รถไถติดตัวปั่น(โรตารี่)ปั่นให้พื้นนาเรียบ ดินร่วนซุย พร้อมที่จะหยอดเมล็ดข้าวได้
ข้างต้นเป็นตัวอย่างหลักการในขั้นตอนการเตรียมดินเท่านั้น ยังมีรายละเอียดหลักการอื่นที่ต้องปรับวิถีการทำนาจากแบบเดิม ได้แก่ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การปลูกด้วยระบบหยอดหลุม การกำหนดระยะห่างต่อหลุม 40x40 ซม. การให้น้ำด้วยระบบเทปน้ำพุ่งเฉพาะช่วงที่ดินแห้งวันละ 10 นาที และการบริหารจัดการแปลงนาแบบชีวภาพ อย่างไรก็ตามแนวทางเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติในแปลงนาของเกษตรกรพื้นที่ต่างๆ อย่างจริงจัง
ดังนั้นเพื่อหาความชัดเจนและมีการทดลองอย่างเป็นระบบ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สค.ปท.) และกลุ่มชาวนาคนกล้าคืนถิ่น อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท จึงได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อวางแผนปฏิบัติการและปลูกทดลองจริงในแปลงนาของตนเอง ในปีการผลิต 2560 ทั้งฤดูนาปรัง ช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 และฤดูนาปีระหว่างเดือนมิถุนายน –พฤศจิกายน 2560
เจตนารมณ์เป้าหมายจากการศึกษาทดลองในแปลงนาของเกษตรกรภาคกลางครั้งนี้ หัวใจสำคัญไม่ได้มุ่งหวังที่ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว (การทดลองคาดหวังผลผลิต 3 ตันต่อไร่ จากปัจจุบันผลผลิตข้าวพื้นที่ภาคกลางสูงสุด 1.5 ตันต่อไร่) เพียงเท่านั้น แต่เป็นการริเริ่มพัฒนาองค์ความรู้และริเริ่มหาทางออกระดับพื้นที่ด้วยตัวชาวนาเอง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ การพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต การลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี และที่สุดคือความอยู่รอดของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรรายย่อยในท่ามกลางวิกฤติขาลงเรื่องราคาข้าว โดยจะพิจารณาและประเมินในเชิงภาพรวมว่าการทำนาปรัง ปีละ 3 รอบ ในแต่ละรอบมีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจที่จะทำมากน้อยเพียงใด
สุดท้ายแม้ว่าแนวคิดการทำนาน้ำน้อยจะมีบทสรุปว่าสามารถขยายผลและนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง สามารถแก้ไขข้อจำกัดหรือแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ สร้างผลผลิตสูงขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้มุ่งหวังให้ชาวนามองเพียงตัวเลขที่ได้ หันไปเพิ่มรอบการผลิตหรือขยายพื้นที่ทำนามากขึ้น เพราะจะหวนกลับสู่วังวนวิถีปัญหาแบบเก่า หากการทำนาไม่ได้พิจารณาสถานการณ์เรื่องต้นทุนที่มีอยู่ ทั้งกำลังแรงงาน ปัจจัยการผลิต สภาพดินฟ้าอากาศ กลไกราคา กลไกตลาด คุณภาพข้าว ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกรร่วมด้วย เพราะหัวใจสำคัญของวิถีการทำนาน้ำน้อย คือ ความยั่งยืนของระบบนิเวศและความยั่งยืนของชาวนา ซึ่งวิถีการทำนาน้ำขังแบบเดิม ที่ใช้สารเคมีเข้มข้น พึ่งพาปัจจัยภายนอกสูง เน้นเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ มีบทสรุปแล้วว่าไม่ใช่คำตอบเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชาวนา
อารีวรรณ คูสันเทียะ landactionthai.org, Local Act
พิมพฺ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 27 มกราคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.