ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง "เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร : ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และความรู้ของคนท้องถิ่นในฐานะมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม" ในประเด็นแรกว่าด้วยเรื่องกระบวนการได้มาของที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ซึ่งเป็นไปอย่างเร่งด่วนและขาดการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น จึงทำให้เกิดการละเลย และนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะเพื่อเศรษฐกิจของคนท้องถิ่น
ส่วนประเด็นคำถามวิจัยที่สองที่ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีการจัดเตรียมมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร งานศึกษาพบว่าภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนจังหวัด และภาคเอกชน มีความพยายามที่จะกล่าวถึงมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร อาทิเช่น เมื่อภาคประชาชนมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หน่วยงานรัฐได้พยายามพูดถึงเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial city) หรือการออกแบบแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use and Master Planning) ที่ต้องการให้ภาคเอกชนที่จะมาลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม วางแผนเรื่องการกำจัดขยะและมลพิษอุตสาหกรรมให้ชัดเจน
ส่วนมาตรการด้านสังคม หน่วยราชการระดับจังหวัดได้ทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษกับแกนนำชุมชน รวมทั้งมีเวทีสัมมนาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ขณะที่ธนารักษ์จังหวัดมุกดาหารทำหน้าที่ในการขอเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรจำนวน 5 รายที่สูญเสียที่ดินทำกินคนละ 3 ไร่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซี่งกระทรวงการคลังจะจ่ายให้ในอัตราไร่ละไม่เกิน60,000 บาท
อย่างไรก็ดีพบว่าการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารของหน่วยงานรัฐยังจำกัดอยู่เฉพาะตัวแทนหรือผู้นำภาคส่วนต่างๆ ในขณะที่ประชาชนตำบลคำอาฮวน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง ยังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่าที่ควร พวกเขารู้เพียงแต่ว่าจะมีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งในบริเวณติดหมู่บ้าน แต่ไม่ทราบในรายละเอียดว่านิคมอุตสาหกรรมหมายถึงอะไร และไม่มีข้อมูลอะไรที่มากกว่านั้น
นอกจากนี้ยังพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ถูกสื่อสารจากส่วนราชการ ยังมีความจำกัดอยู่เพียงข้อมูลโดยคร่าวๆ และความคืบหน้าของการดำเนินการเท่านั้น หากยังไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านบวกและด้านลบอย่างรอบด้านเพียงพอที่จะให้ชาวบ้านนำมาวิเคราะห์หรือหาแนวทางป้องกันผลกระทบต่างๆได้
ในขณะที่เงินเยียวยาผู้สูญเสียที่ดิน ที่รัฐจ่ายเพียงไร่ละ 60,000 บาท ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับความคุ้มค่าและโอกาสที่เกษตรกรจะสามารถนำเงินไปจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อทำมาหากินต่อได้หรือไม่ เนื่องจากราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียง หากไม่มีเอกสารสิทธิ์จะอยู่ที่ราคาไร่ละ 100,000 บาท ที่สำคัญคือการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรห้ารายในเขตที่จะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนี้ ได้สร้างความหวั่นวิตกกับเกษตรกรจำนวนมากในเขตตำบลคำอาฮวน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ทำกินบนพื้นที่ ส.ป.ก. และกังวลเป็นอย่างมากว่าหากมีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในอนาคต พวกเขาอาจจะต้องเจอกับชะตากรรมที่ถูกเวนคืนที่ดิน ด้วยค่าเยียวยาที่ไม่คุ้มค่า เช่นเดียวกับชาวบ้านห้าคนนั้นก็ได้
จึงกล่าวได้ว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ที่ผ่านมายังขาดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมที่ดีพอ เนื่องจากทำให้เกิดปัญหาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรและหมดโอกาสในการทำการเกษตรต่อไป ขณะที่ส่งผลกระทบให้เกษตรกรจำนวนมากรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินของตนเองเมื่อมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่
ไม่แตกต่างจากมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment EIA) ในพื้นที่ที่จะมีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ หวั่นวิตกต่อการปนเปื้อนสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะไหลจากที่สูงบริเวณที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม มายังพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า และอาจรวมถึงการปนเปื้อนของกากมลพิษอุตสาหกรรมในห้วย และสายน้ำ ที่ไหลไปยังพื้นที่บริเวณโดยกว้างด้วย
ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ที่รับรู้ข่าวสาร และมีข้อมูลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมบ้างแล้ว จึงไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่บริเวณ 1,085 ไร่ ดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าพื้นทิ่บริเวณนี้ ไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า ตามที่หน่วยงานรัฐเข้าใจ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชน 6 หมู่บ้านใช้ประโยชน์เลี้ยงสัตว์ หาปลา หาผักป่าขาย รวมทั้งรักษาไว้ให้ลูกหลานมาถึงร้อยกว่าปี อีกทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลย หากจะต้องเอาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจของคนท้องถิ่น 6 หมู่บ้าน มาแลกกับค่าตอบแทนเล็กน้อยเพียงค่าเช่าที่ดินที่รัฐจะได้จากบริษัทเอกชนเท่านั้น ที่สำคัญพวกเขา ในฐานะคนท้องถิ่นไม่ต้องการเป็นเพียงผู้แบกรับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจนี้เท่านั้น แต่พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่ง ในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของพวกเขาด้วยเช่นกัน
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ landactionthai.org, Local Act
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 20 มกราคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.