งานศึกษาของมูลนิธิชีวิตไทในประเด็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร: ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และความรู้ของคนท้องถิ่นในฐานะมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม" เพิ่งจะเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อค้นหาคำตอบที่ว่า มาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้กระบวนการจัดหาที่ดินและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่จะตอบโจทย์วิจัยหลักนี้ โครงการวิจัยได้มีคำถามย่อยอีกสามประเด็นคือ หนี่ง กระบวนการได้มาซึ่งที่ดินสำหรับพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารเป็นมาอย่างไร สอง ได้มีการจัดเตรียมมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร และสามคือ คนท้องถิ่นรวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารและมีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไรบ้าง
งานวิจัยมีระยะเวลาทำการศึกษาเพียงหกเดือน คือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2559 โดยมีทีมวิจัยทั้งจากมูลนิธิชีวิตไท และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครและนักศึกษาเข้าร่วมศึกษาข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษาชิ้นนี้คือ กระบวนการได้มาซี่งที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารเริ่มต้นจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขาของคณะกรรมการนโนบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ ได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ เพื่อทำการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซี่งบริษัทที่ปรึกษาฯได้เสนอพื้นที่ 11 ตำบล จาก 3 อำเภอของจังหวัดมุกดาหาร คือ อำเภอเมือง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอดอนตาล ครอบคลุมพื้นที่ 361,524 ไร่ หรือ 578,5 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จากนั้นพื้นที่ที่ถูกศึกษา จึงถูกเสนอผ่านไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับการอนุมัติเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารโดยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557และประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 จะเห็นได้ว่าการคัดเลือกพื้นที่ 3 อำเภอนี้ ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา ซี่งไม่ใช่คนของส่วนราชการจังหวัดมุกดาหาร ซี่งมีความรู้ด้านความเหมาะสมของพื้นที่ดีกว่า ทำให้ต่อมาเกิดประเด็นคำถามและการเสนอขอเปลี่ยนพื้นที่จากส่วนราชการจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากเกรงว่า พื้นที่ที่บริษัทที่ปรึกษาฯ เสนอนั้นอยู่ติดกับแม่น้ำโขง ซี่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของคนจังหวัดมุกดาหาร และอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนแหล่งน้ำดิบได้ หากมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณดังกล่าว
ในขณะที่คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหารเป็นผู้คัดเลือก พื้นที่จำนวน 1,085 ไร่ ในพื้นที่ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมือง เป็นพื้นที่เตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ที่ถูกคัดเลือกเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือ ส.ป.ก. และถูกขอใช้จากกรมวิชาการเกษตร เพื่อสร้างเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ ส่วนราชการอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ ว่างเปล่าและไม่มีประชาชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์อยู่ จึงไม่มีประชาชนผู้เดือดร้อนจากกรณีนี้ ข้อเสนอการใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกเสนอไปยังคณะกรรมการระดับชาติและได้รับการอนุมัติในวันที่ 16 มีนาคม 2558 จากนั้น คสช.จึงได้มีคำสั่งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เพื่อเปลี่ยนสถานะที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้สามารถออกเอกสารสิทธิ์ และนำไปให้ภาคเอกชนเช่าประมูลเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ น่าสังเกตุว่ากระบวนการเปลี่ยนสถานะที่ดินเป็นไปอย่างรัดสั้นใช้เวลาเพียง 2 เดือน ในขณะที่กระบวนการปกติอาจใช้เวลาถึง 2 ปี
กระบวนการได้มาซี่งที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และพื้นที่เตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรม เป็นไปอย่างรัดสั้นและค่อนข้างเร่งด่วน และบางส่วนดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาเอกชน ทำให้กระบวนการได้มาซี่งที่ดินขาดมิติมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขาดการระดมความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม
จากงานศึกษาในมิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่เตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร จำนวน 1,085 ไร่ พบว่าไม่เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรจาก 6 หมู่บ้าน รอบข้าง ได้แก่ บ้านพรานอ้น บ้านคำเขือง บ้านนาถ่อน บ้านม่วงหัก บ้านกุดโง้ง และบ้านนาคำน้อย ใช้ประโยชน์เป็นที่สาธารณะของชุมชนมาแต่ดั้งเดิมเกือบ 200 ปี ที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ปาสงวนดงบังอี่และเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ในภายหลัง โดยชาวบ้านทั้งหกหมู่บ้าน จะนำวัวควายมาเลี้ยง จับสัตว์น้ำ กุ้งและปลา เป็นอาหาร และเก็บหน่อไม้ เห็ด และผักป่า เพื่อกินและขายเป็นรายได้เสริม รวมทั้งมีชาวบ้านยากจนบางส่วนใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำนา บริเวณนี้เดิมมีพื้นที่ถึงราว 1,600 ไร่ บรรพบุรุษของชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านนี้ ได้ร่วมกันรักษาพื้นที่ดังกล่าวไว้ จากการบุกรุกของคนภายนอกเพื่อให้ลูกหลานในชุมชนได้ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน ที่ดินแปลงนี้จีงไม่ใช่เพียงแหล่งอาหาร แหล่งรายได้เสริมที่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจของคนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ดินที่แสดงถึงความเป็นตัวตน ประวัติศาสตร์ และการสืบทอดภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นอีสานจากบรรพบุรุษอีกด้วย
กระบวนการได้มาซี่งที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารที่เป็นไปอย่างเร่งด่วนและขาดการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดการละเลยต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะของคนท้องถิ่น ในอนาคตเมื่อที่ดินแปลงนี้ถูกประมูลเช่าใช้ประโยชน์จากภาคธุรกิจเอกชน สิทธิชุมชนจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นจะถูกละเมิด เพราะคนท้องถิ่นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้เพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ได้อีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การได้มาซึ่งที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ไม่ได้อยู่บนหลักการของการเคารพต่อสิทธิชุมชนและการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนท้องถิ่นนั่นเอง (มีต่อฉบับหน้า)
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ landactionthai.org, Local Act
พิมพฺในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 1ุ3 มกราคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.