"เราต้องทำอย่างไรก็ตาม ให้เกษตรกรรักษาที่ดินทำกินไว้ให้ได้ ถ้าเขารักษาไม่ได้เขาจะเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน และจะกลายเป็นทาสแรงงานในสังคมเมือง ซึ่งเราไม่ประสงค์เลย จะให้คนของเราเป็นทาสใคร"
เป็นพระราชดำรัสที่ผมเคยฟังเพียงครั้งเดียว แต่จำได้ขึ้นใจ และรู้สึกสัมผัสได้ถึงความร้าวทุกข์ระทมในพระทัยกับความสูญเสียที่ดินของเกษตรกร อันเป็นอาชีพที่พระองค์ทรงโปรดตรัสถึงเสมอๆ ให้รักษาอาชีพนี้ไว้คู่คนไทย ธนาคารต้นไม้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้เป็นปฐม
การสูญเสียที่ดินของคนชนบท เป็นความจริง แต่ยังไม่สูญเสียอาชีพการเกษตร เพราะยังมีความจำเป็นต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพซึ่งเป็นความจริงยิ่งกว่า เมื่อประชาชนสูญเสียที่ดินทรัพย์สินส่วนตัว ก็เดินทางเข้าไปเอาทรัพย์ส่วนรวมโดยเข้าไปบุกรุกป่า เพื่อจับจองทำกิน น่าคิดว่าพัฒนาการของทุกประเทศเดินมาทางนี้ ผลลัพธ์สุดท้าย คือที่ดินทำกินตกไปอยู่ในมือเกษตรกรรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยล่มสลาย กลายเป็นทาสแรงงานในสังคมเมือง คุณภาพชีวิตต่ำ ทำงานหนัก ผมจึงเข้าใจในพระองค์อย่างดี และสิ่งที่ควรจะทำ คือการปลูกต้นไม้ในที่ดิน ผสมผสานกับการปลูกพืช แล้วผลักดันให้รัฐออกกฎหมายรับรองต้นไม้ที่มีชีวิตของประชาชน ให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันกับสถาบันการเงินแทนที่ดิน เมื่อถึงคราวโชคร้ายถูกยึดทรัพย์ ก็ให้ยึดทรัพย์สินที่เป็นต้นไม้แลกกับการหลุดหนี้ แต่ที่ดินทำกินก็ยังคงอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ได้ เกษตรกรไทย และคนส่วนใหญ่จะไม่สูญเสียที่ดินอีกเลย
ซึ่งการปลูกต้นไม้ลักษณะนี้ เป็นการเดินตามแนวพระราชดำริ ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง กล่าวคือ พระองค์ได้ตรัสไว้ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๓ ณ โรงแรมริมคำ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า "...การปลูกป่า ถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ ๓ อย่าง แต่มีประโยชน์ ๔ อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์ที่ ๔ คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ..."
แนวพระราชดำรัสว่า ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ถ้าแปลความให้ตรง คือการให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทำกิน หรือพื้นที่เกษตรอย่างหลากหลายแบบวนเกษตร และแปรให้เข้าใจว่าปลูกโดยประชาชนของประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่ปลูกโดยรัฐ จริงไหม? โดยปลูกแล้วสามารถอยู่ร่วมกันได้ เกิดอาชีพรายได้ สร้างสมดุลนิเวศ เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าได้ในพื้นที่เกษตรราว ๒๐๐ ล้านไร่ เกิน ๔๐% ของพื้นที่ประเทศ และเป็นป่าที่ปลูกโดยประชาชนอย่างกว้างขวาง ที่เกิดจากการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่ การบังคับควบคุม
คนปลูกต้นไม้ปลูกป่าโดยพื้นฐานแล้วเป็นประชากรกลุ่มเล็กๆ หัวก้าวหน้า รักเสรีภาพ มีความรัก ศรัทธาต่อธรรมชาติ และมีความดีงามโดดเด่นกว่าคนประเภทอื่นๆ คนกลุ่มนี้ซึ่งพร้อมที่จะปลูกต้นไม้ด้วยตัวเองในที่ดินตัวเอง การชักชวนคนเหล่านี้ จึงไม่ใช่การควบคุม บังคับ การอนุญาต หรือทำให้ แต่ต้องเป็นการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจ ต้องทำความเข้าใจ พระองค์ทรงใช้คำว่า "ปลูกต้นไม้ในใจคน" ซึ่งได้ตรัสสอนพนักงานป่าไม้ให้ปรับแนวคิดจากการควบคุม บังคับ อนุญาต มาเป็นการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนโดยตรัสว่า "พนักงานป่าไม้ ถ้าจะให้ประชาชนปลูกป่าไม้ ต้องปลูกต้นไม้ในใจเขาเสียก่อน แล้วเขาจะปลูกต้นไม้ในแผ่นดิน และดูแลรักษาด้วยตัวเอง" ลึกซึ้ง และคมคายมาก ธนาคารต้นไม้จึงน้อมนำคำว่า "ปลูกต้นไม้ในใจคน" มาเป็นกิจกรรมสำคัญของชาวธนาคารต้นไม้ นำมาใช้แทนคำว่า ประชุมชี้แจง และได้ใช้คำนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นกำเนิด ธนาคารต้นไม้ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๔๙
พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน สโลแกนและสัญลักษณ์ของธนาคารต้นไม้เป็นการบ่งบอก ที่มา และความหมายของธนาคารต้นไม้ กล่าวคือ ต้นไม้ ๙ ต้นรอบลูกโลก มีเลข ๑ ไทยเป็นจุดเริ่มต้น หมายถึงธนาคารต้นไม้เริ่มขึ้นในรัชกาลที่๙ พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือความเชื่อในหลักความพอเพียง และเชื่อในตรรกะว่าเมื่อรู้สึกพอ คือ มีพอ มันหมายถึงความมั่งคั่ง จากการมีต้นไม้เป็นทรัพย์ ทำให้เกิดความพอเพียง พึ่งตนได้อย่างดีและหมายถึงความมั่งคั่งที่ยั่งยืน
การเดินตามรอยเท้าพ่อ ด้วยการปฏิบัติบูชา เป็นอุดมคติและปณิธานของชาวธนาคารต้นไม้ มาตั้งแต่ต้นแม้จะผลักดันธนาคารต้นไม้ให้เป็นกฎหมายยังไม่สำเร็จ แต่ยังคงต่อสู้ด้วยความเพียร เพื่อสร้างธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ให้มีต้นไม้เต็มแผ่นดินเกื้อกูลความผาสุกให้สังคมไทย
ผมไม่อยากให้คนไทยเชื่อ และศรัทธาในตัวเลขลวงๆ ว่า ๔๐% ของประเทศ ต้องเป็นพื้นที่ป่า และเป็นป่าที่ผูกขาดการควบคุม บังคับ อนุญาต และทำให้โดยรัฐเท่านั้น เพราะมันเป็นภาวะ บีบคั้นให้ตีบตัน ทั้งรูปแบบ วิธีการ เป้าหมาย และความศรัทธา
การปลูกต้นไม้ต้องเกิดจากความสมัครใจ มีความเชื่อ ศรัทธาในคุณค่าของต้นไม้ มีความมุ่งมั่น และความเพียรอย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการควบคุม บังคับ ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย เพราะการปลูกต้นไม้เป็นหลักตามธรรมชาติ อันอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของมนุษย์ ที่เรียกว่า ระเบียบและกฎหมาย มนุษย์ส่วนใหญ่จึงควร ศรัทธา และน้อมนำทำตามโดยไม่ต้องควบคุม บังคับ ชวนเชื่ออย่างที่เห็นเชิงประจักษ์ในเหตุการณ์ปัจจุบัน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 6 มกราคม 2560
พงศา ชูแนม นักวิชาการอิสระ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.