ความพยายามของภาครัฐในการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบสองของชาวนา เป็นที่ทราบกันดีว่าประสบความล้มเหลว เพราะชาวนาไม่ได้สนใจเข้าร่วมโครงการ แต่ยังคงเดินหน้าปลูกข้าวนาปรังรอบสอง แม้รู้ว่าอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และปริมาณข้าวล้นตลาดต่อไปก็ตาม
ความเป็นจริงก็คือ แม้ภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ในการคิดค้นแผนเพื่อจัดการเชิงระบบ ด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าว และลดปริมาณข้าวในตลาดที่ล้นเกินจำนวนมากอยู่ในปัจจุบัน แม้แผนจะออกแบบมาอย่างดี แต่ปัจจัยด้านสถานการณ์ของชาวนาไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะชาวนาภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา ที่ได้เปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวจากนัยด้านวัฒนธรรม มาเป็นการปลูกข้าวเพื่อเป็นสินค้ามานานนับครึ่งศตวรรษ สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้เอื้อเพียงพอที่จะรองรับกับแผนการลดพื้นที่การปลูกข้าว ที่รัฐออกแบบมาได้ ไม่นับรวมถึงวิธีการทำงานส่งเสริม หรือการให้ความรู้กับชาวนาของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ล่าช้า ไม่ทันการณ์ และไม่ได้เอาปัญหาของชาวนาแต่ละกลุ่ม ที่มีปัญหาแตกต่างกัน เป็นตัวตั้ง ที่อาจส่งผลต่อนโยบายที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
การทำความเข้าใจกับสถานการณ์ของชาวนาไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างกันในหลายกลุ่ม จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยน และการทำให้นโยบายมีผลในทางปฏิบัติ มองในภาพรวมแบบกว้าง ชาวนาภาคกลางในปัจจุบัน แยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
กลุ่มแรก กลุ่มชาวนาเช่า ชาวนาภาคกลางส่วนใหญ่ เป็นชาวนาที่ไม่มีที่นาของตนเอง มีวิถีแบบชาวนาเช่า และเสียค่าเช่าแต่ละรอบการผลิตสูง เป็นต้นทุนการผลิตอันดับต้นๆ ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด นอกเหนือจากต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตร ชาวนารายย่อยกลุ่มนี้ คือชาวนาที่ปรับตัวได้ยาก หากคิดจะลดพื้นที่ทำนา ก็อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน เช่น หากชาวนาไม่ทำนาในฤดูการผลิตนี้ ในรอบการผลิตต่อไปเจ้าของนา อาจจะไม่ให้ที่นามาทำนาอีก แต่เอาไปให้ชาวนารายอื่นเช่าแทน เพราะเจ้าของนาต้องการความแน่นอนของรายได้ ชาวนารายย่อยทั่วไปในภาคกลางอยู่ในสภาพต้องยอมจำนนกับเจ้าของนา เพราะหากปีไหนไม่มีที่นาทำนา ก็หมายถึงการไม่มีรายได้ไปตลอดฤดูการผลิต การออกแบบการลดพื้นที่ทำนาปรังของภาครัฐ ควรจะต้องคิดถึงสภาพความเป็นจริงของชาวนาเช่า กลุ่มใหญ่ในภาคกลางกลุ่มนี้ด้วยเพราะหากไม่มีแต้มต่อ อันหมายถึงความช่วยเหลือในเรื่องที่ดินทำกิน พวกเขาก็คงไม่อยู่ในสภาพที่จะปรับตัวเพื่อลดพื้นที่ทำนาได้
กลุ่มที่สอง กลุ่มชาวนาที่มีความเปราะบางในฐานะทางเศรษฐกิจ ชาวนาภาคกลางจำนวนมากอยู่ในสภาพที่ต้องแบกภาระหนี้สินในระบบ และภาระดอกเบี้ยโหดจากหนี้นอกระบบ มีจำนวนไม่น้อยที่มีสภาพชีวิตยืนอยู่บนเส้นด้าย ที่นาผืนสุดท้ายของครอบครัว อยู่ในสถานภาพรอการขายทอดตลาด จากกรมบังคับคดี ชาวนาภาคกลางกลุ่มนี้ วันๆ จึงเทียวไปเทียวมา ระหว่างสำนักงานบังคับคดีของจังหวัด ศาล สถาบันเงินกู้ที่ชาวนาขาดการผ่อนชำระ และเจ้าหนี้นอกระบบที่เป็นทางเลือกสุดท้าย ชาวนารายย่อยกลุ่มนี้ เปราะบางเกินไปที่จะปรับตัวเพื่อเข้าร่วมโครงการลดพื้นที่ทำนาของภาครัฐ หากภาครัฐต้องการให้ชาวนาเข้าร่วมในโครงการลดพื้นที่ทำนา รัฐก็ต้องคิดถึงแผนรองรับและแต้มต่อ ซึ่งอาจหมายถึงแผนการทำงานร่วมกับสำนักงานบังคับคดีให้ชะลอการขายทอดตลาด หรือสถาบันเงินกู้ของภาครัฐให้มีการยกเว้นดอกเบี้ย เพื่อให้ชาวนาภาคกลางกลุ่มนี้มีโอกาสไปต่อด้วยเช่นกัน
กลุ่มที่สาม ชาวนาสูงวัยและไม่มีความรู้ ชาวนากลุ่มนี้เป็นชาวนากลุ่มใหญ่ในภาคกลางมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55-65 ปี และมีชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทำนาอยู่ แม้จะอายุอยู่ในระหว่าง 70-80 ปี แล้วก็ตาม ชาวนากลุ่มนี้ มีข้อจำกัดด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ทำนาในลักษณะที่ทำตามเพื่อนบ้านและผู้นำในชุมชนและมีลักษณะทำนาเพราะเป็นอาชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ไม่ว่าจะขาดทุนจากการทำนาก็ตาม การเปลี่ยนวิธีและลักษณะการทำนา ที่เป็นการค้าขาย และลงทุนมากขึ้น ใช้เครื่องจักรกล และจ้างแรงงานเพื่อให้ทันกับเวลาเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ทำให้ชาวนากลุ่มนี้ ที่ผ่านมาปรับตัวไม่ได้ ลงทุนการผลิตด้วยการกู้ยืม ขาดทุน และกู้เพิ่ม แต่ก็ยังคงทำนาต่อไป เพราะไม่มีความรู้และรู้สึกว่าอายุมากเกินไปที่จะปรับไปทำอาชีพอื่น หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หากภาครัฐต้องการให้ชาวนากลุ่มใหญ่นี้ เข้าร่วมโครงการลดพื้นที่การทำนาเพื่อลดปริมาณข้าว ภาครัฐก็ต้องมีแผนการทำงานกับชาวนากลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะหมายถึงแผนส่งเสริมการให้ความรู้ การทำงานร่วมกับกลุ่มชาวนา หรือองค์กรชาวนาในระดับตำบล หรือระดับหมู่บ้านที่เข้าถึงชาวนากลุ่มนี้ได้จริง
กลุ่มที่สี่ กลุ่มชาวนาคนรุ่นใหม่และรุ่นกลาง ชาวนากลุ่มนี้ในภาคกลาง แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นกลุ่มที่กำลังมีจำนวนมากขึ้น ชาวนากลุ่มนี้มักจะปรับตัวได้ เพราะมีการรับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอ มักมีการปรับตัวเพื่อปลูกข้าวที่มีมูลค่าสูงขึ้น ปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ที่คำนึงถึงความต้องการของตลาดมากขึ้น หรือปลูกข้าวเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ มีการแปรรูปขายเองมากขึ้น รวมไปถึงการขายข้าวผ่านกลุ่มเพื่อน และสื่อออนไลน์ ชาวนากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่พร้อมจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ และสามารถนำไปขยายผลต่อในหมู่บ้านได้ การวางแผนการทำงานกับชาวนากลุ่มนี้ จะเป็นประโยชน์ในการขยายผลการสื่อสาร และมีผลกับการปรับตัวของชาวนาในระยะยาวด้วย
กลุ่มที่ห้า กลุ่มเช่านาแปลงใหญ่ ชาวนากลุ่มนี้ มีความน่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มชาวนาแนวใหม่ ที่รวมตัวกันใช้วิธีเคลื่อนย้ายไปเช่าที่นาผืนใหญ่และทำนาร่วมกัน มีเครื่องจักรกล รถไถนา รถเกี่ยวข้าวเป็นของตนเอง แม้จะมีกำไรจากการปลูกข้าวต่อไร่ไม่มากนัก แต่อาศัยทำนาแปลงใหญ่ในพื้นที่นาจำนวนมาก จึงมีกำไรและอยู่ได้ แตกต่างจากกลุ่มชาวนาแปลงเล็ก
สถานการณ์ของชาวนาไทยในปัจจุบัน จึงมีทั้งในด้านที่เป็นศักยภาพ ที่รัฐควรศึกษาเพื่อยกระดับรายได้ชาวนา ให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเทียบเท่ากับอาชีพอื่น และด้านที่ยังเป็นข้อจำกัด เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ไม่สามารถปรับตัว ซึ่งภาครัฐต้องให้แต้มต่อ ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมกับโครงการของภาครัฐได้จริง
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว นโยบายรัฐหลายอย่างที่คิดไว้ได้ดี ก็อาจมีอันที่จะต้องเป็นหมัน อยู่ร่ำไป..
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ landactionthai.org, Local Act
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.