วิถีชีวิตของสังคมโลกยุคสมัยใหม่ อาชีพและรายได้ นำมาซึ่งปัจจัยตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีตามค่านิยมของสังคม ที่ทุกคนล้วนต้องการ และมีเป้าหมายไปให้ถึง "ความทัดเทียมและความเสมอหน้า"
การประกอบอาชีพเพื่อให้มีเงินและรายได้ ซึ่งล้วนเป็นไปอย่างเร่งรีบ ปากกัดตีนถีบ เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดี (ซึ่งอาจเป็นคนละเรื่องกับคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดี) จึงมีความสำคัญพอ ๆ กันกับเรื่องปากท้องและความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
รูปแบบชีวิตที่ดี หรือรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ คือ รูปแบบชีวิตและการบริโภคที่ใกล้เคียงกันระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท ภาพและมุมมองแนวคิดแบบนี้เมื่อก่อนอาจจะเห็นชัดว่ามีเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง และเราเคยเข้าใจว่าพื้นที่ชุมชนชนบท ครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแตกต่างออกไป แต่ปัจจุบันหากเราลงลึกเข้าไปดูกันจริงๆ ในรายละเอียด โดยเฉพาะแนวคิด ทัศนคติและรูปแบบชีวิตระหว่างสังคมเมือง กับสังคมชนบทหรือชุมชนเกษตรกรรมอาจไม่สามารถแยกชัดหรือเห็นภาพเช่นนั้นแล้ว
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรชาวนาและเกษตรกรในเขตภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดราชบุรี จัดสัมมนาเสนอผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ศักยภาพชาวนาในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง" วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" จังหวัดชัยนาท ในงานสัมมนาดังกล่าว อ.สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยทำงานกับชาวนาและเกษตรกรรายย่อยในเขตภาคกลางมายาวนานหลายสิบปี พบว่า
"หนึ่ง ชาวนาลงทุนมากกว่าลงแรง ซื้อแทบทุกเรื่อง และลงแรงน้อยลง ใช้เทคโนโลยีจากปัจจัยภายนอกเกือบทั้งหมด สอง เคยทำเกษตรผสมผสานเปลี่ยนมาเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ต้องแบกรับความเสี่ยงถ้าราคาผลผลิตพืชเชิงเดี่ยวตกต่ำ ทำให้เกิดการสะสมหนี้ และสาม พึ่งพาการตลาด และปัจจัยภายนอก ปัจจัย 4 สิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ในอดีตชาวนาเคยพึ่งพาได้ ตอนนี้ไม่มีเลย ราคาข้าวชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก และชาวนาพึ่งพาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ปุ๋ย ยา ตลาด ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียที่นา และที่ดินทำกิน"
สิ่งที่อ.สุรินทร์ ได้กล่าวไว้ข้างต้น ถือเป็นมุมมองหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพตัวแทนชีวิตของชาวนาภาคกลางในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างชัดเจน โดยมีมานานหลายสิบปีแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่พึ่งเกิดขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวนาภาคกลางมีความเสี่ยงและความเปราะบาง ที่เห็นชัดเจนมากที่สุดคือ มิติด้านสุขภาพ หนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของชาวนา ซึ่งจากผลการศึกษาครัวเรือนชาวนาและเกษตรกร 420 ราย ในเขตภาคกลาง โดยมูลนิธิชีวิตไท ล่าสุดพบว่า มีครัวเรือนชาวนาร้อยละ 50-60 ประสบปัญหาด้านการเจ็บป่วยในครัวเรือน อันดับโรคของสมาชิกครัวเรือนชาวนาที่มีมากที่สุด คือ ความดันเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือด เส้นเลือดสมอง มะเร็ง และครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่ประสบปัญหาความเครียดที่เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และรองลงมาคือความเครียดจากปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ข้อมูลผลการตรวจเลือดชาวนาและเกษตรกรเพื่อตรวจหาสารเคมีซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสถานีอนามัยในเขตพื้นที่ศึกษาพบว่า จากชาวนาที่มาตรวจเลือด 100 ราย มีชาวนาถึงร้อยละ 70-80 รายที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ มีระดับสารเคมีตกค้างในเลือดระดับกลาง จนถึงระดับไม่ปลอดภัย โดยมีข้อสังเกตที่น่าตกใจว่า ชาวนาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดคือ ชาวนาทั่วไปที่เป็นผู้ซื้อและผู้บริโภคอาหารจากตลาด มากกว่าชาวนาที่เป็นแรงงานรับจ้างฉีดพ่นสารเคมีในแปลงเกษตร
ดังนั้นแนวทางที่ควรให้ความสำคัญเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของชาวนาในระยะสั้น คือ การรณรงค์ให้ชาวนาตระหนักต่อปัญหาและเห็นความสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องซื้ออาหารจากตลาด ก็ควรเลือกซื้ออาหารจากชุมชนและแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าปลอดภัยจากสารเคมี และในระยะยาวควรมีแนวทางส่งเสริมให้ชาวนาหันมาผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อบริโภคในครัวเรือนให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาอาหารจากตลาดให้น้อยลง และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามยังมีบทเรียนส่วนหนึ่งที่ทำให้การรณรงค์ส่งเสริมด้านสุขภาพและการลดโรคภัยไข้เจ็บของชาวนาและเกษตรกรทำได้ยากและไม่ประสบผลเท่าที่ควร นั่นคือ เรื่องของทัศนคติมุมมองต่อการเจ็บป่วย เพราะเป็นกลุ่มคนทีอยู่ในภาวะความเปราะบาง รายได้ต่ำ ภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง และมีหนี้สินสูง มีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดต่อการปรับตัวอยู่มาก โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการทำมาหากินและปากท้องมาก่อน การเจ็บป่วยหรือวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ถือว่ายังไม่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องของอนาคต
จะเห็นได้ว่าสาเหตุปัญหาความเจ็บป่วยและสุขภาพของชาวนาเกี่ยวพันหลายส่วนทั้งเรื่องอาชีพ รูปแบบการผลิต ทัศนะและชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้นแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีของชาวนา ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจสังคม ควรจะต้องเชื่อมโยงทั้งหลักปฏิบัติที่ดีเพื่อให้ชาวนาเกิดความตระหนักต่อสถานการณ์ปัญหา เน้นหลักการ "สร้าง นำ ซ่อม" หรือ "การป้องกันโรคย่อมดีกว่ารักษาโรค" ซึ่งเป็นหลักสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน การสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมในครอบครัว กลุ่ม ชุมชน สังคมที่เอื้อต่อการป้องกันดูแลตัวเอง และลดโรคภัยไข้เจ็บ และควรต้องเชื่อมโยงให้ชาวนาเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงทั้งต่อการลดค่าใช้จ่าย เป็นแหล่งที่มาของเงิน เศรษฐกิจที่ดีขึ้น อารมณ์ที่ดีขึ้นและความสุขที่เพิ่มขึ้น
อารีวรรณ คูสันเทียะ landactionthai.org, Local Act
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 23 ธันวาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.