จากสถานการณ์ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่องน้ำยางกิโลกรัมละ 124 บาท ในปี 2554 ลดลง มาในปีนี้ 2559 นี้ราคายางอยู่ที่ประมาณ50 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ขณะเดียวกันกลับมีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นกล่าวคือ จากปี 2554 ที่มีพื้นที่ยางที่กรีดได้ 12,026,000 ไร่ เพิ่มเป็น 18,846,000 ไร่ สาเหตุสำคัญมาจากกลไกตลาดโลกมีความผันผวนโดยเฉพาะความต้องการยางประเทศใหญ่อย่างจีนที่เปลี่ยนไป ทำให้ราคายางต่ำลง
จากสถิติเศรษฐกิจครัวเรือนพบว่าในปี 2558 ตัวเลขหนี้ของชาวใต้มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนมากเป็นหนี้สินอันเกิดจากการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต ค่าครองชีพและหนี้สินจากการกู้เงินเพื่อการดาวน์รถ ผ่อนชำระต่าง ๆ ฯลฯ ภาคใต้มีรายได้ต่อเดือนต่อครัวเรือนเป็นอันดับ 3 และมีรายจ่ายค่าอาหารมากเป็นอันดับ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
เป็นที่แน่นอนว่ากระเป๋าของคนใต้มีเงินน้อยลง ราคายางที่ต่ำลงทำให้คนมีการใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมในการกระจายเงิน และการจ้างงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่ค่อยๆ แพงขึ้นตลอดมา ผู้คนที่มีรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกินน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหามากที่สุด เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่งผลให้ครัวเรือนได้มีความมั่นคงทางอาหารจากฐานการซื้อน้อยลงราคายางตกต่ำมาพร้อมกับพื้นที่อาหารหรือพื้นที่ปลูกข้าวที่ลดน้อยและหายไปเรื่อยๆ
เมื่อดูจากพื้นที่ พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ปลูกข้าวกลับลดลงจาก 1,227,544 ไร่ ลงมาที่ 1,223,934 ไร่ ในช่วงระยะ 3 ปี แสดงถึงพื้นที่อาหารที่น้อยลง เพราะพื้นที่ข้าวถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ยางและปาล์มและบ้างก็เป็นพื้นที่นาร้างและพบว่าภาคใต้ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอเพื่อเลี้ยงประชากรในภูมิภาค ที่ผ่านมาต้องนำเข้าข้าวจากภาคอื่น มีเพียงจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราชเท่านั้นที่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อคนในจังหวัด
จากรายงานเฉพาะในปีพ.ศ. 2557 พบว่าปริมาณผลผลิตข้าวในภาคใต้มีทั้งสิ้น 310,005 ตันข้าวสาร (ประมาณ 1.7% ของผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศ) ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อเนื้อที่เพาะปลูก(กิโลกรัม) ในภาคใต้ได้น้อยที่สุดเพียงแค่ 412 กิโลกรัมต่อไร่ปริมาณการบริโภคข้าวรวมทั้งหมดของประชากรในภาคใต้อยู่ที่ 802,192 ตัน/ปี (การบริโภคเฉลี่ยคนละ 90.90 กิโลกรัมต่อปี) ทำให้ตลอดทั้งพื้นที่ภาคใต้ต้องมีการนำเข้าข้าวจากภาคอื่นๆรวมทั้งสิ้น 492,187 ตันโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิพบว่าได้รับความนิยมเป็นมากเพราะมีรายงานการนำเข้าสูงที่สุดถึง 454,641 ตัน/ปีแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคข้าวของคนปักษ์ใต้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เป็นที่ทราบกันดีว่าในอดีตคนในภาคใต้นิยมบริโภคข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณสมบัตินุ่มและหอมส่วนมากจะได้ซื้อมากที่สุดสูงถึงร้อยละ 76.24 ในขณะที่ปลูกข้าวแล้วเก็บไว้ใช้บริโภคเองมีเพียงร้อยละ 13.18 ที่น่าตกใจคือเกษตรกรภาคใต้ร้อยละ 49.53 ต้องซื้อข้าวเพื่อบริโภค
สถานการณ์ที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านอาหาร การหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ซึ่งตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนเพราะผูกอยู่กับกลไกตลาดโลก จากการแทรกแซรงราคาของรัฐ พืชเศรษฐกิจมีราคาสูงขึ้น เกิดการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ มีการรุกที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามการดำเนินในแนวทางพืชเศรษฐกิจมากกว่า 10 ปี จนชาวใต้ยึดเป็นความอยู่รอดหลักของตน ไปพร้อมๆ กับการสร้างเศรษฐกิจขาอื่นๆ อาทิ การท่องเที่ยว ประมง สวนผลไม้ ฯลฯ โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดีอย่างเดียวจะทำให้อยู่รอดมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงทางอาหาร และค่อยๆละเลยวิถีวัฒนธรรมการผลิตเดิมที่เน้นพึ่งตนเองและผลิตอย่างผสมผสาน อาทิ การปลูกข้าวไร่ การปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์พื้นบ้าน การปลูกข้าว หรือการปลูกพืชผักรวมอยู่ในสวนยางพารา โดยไม่หวังเพียงมีเงินไปซื้อกิน แต่สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับแปลงของตนเอง
กลุ่มชุมชนในหลายจังหวัดได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่อาหาร เช่น การรื้อฟืนนาร้างมาปลูกข้าว การรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อกิจกรรมปลูกและเก็บเกี่ยวข้าว การใช้พื้นที่สวนยางพาราขณะต้นไม่โตมากปลูกข้าวฯลฯ ช่วงราคายางตกเกษตรกรต้องโค่นต้นยางขายไม้และนำเอาพื้นที่กลับมาปลูกอาหารเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรที่ตั้งรับทันจะไม่เอาตัวเองไปตามกระแสแต่จะปรับตัวให้ตัวเองอยู่รอดและไม่ตกอยู่กับภาวะหนี้สิน ชุมชนชาวสวนยางหลายแห่งได้ปรับตัวอย่างปรับตัวอย่างเท่าทันโดยพัฒนาการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นหมอน เบาะนอน หมอนข้าง ถุงมือ ไปพร้อมๆ กับการทำการตลาดเอง โดยเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆให้เข้ามารวมสนับสนุน ดังเช่น กลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพยายามดำรงอยู่ในท่ามกลางเศรษฐกิจขาลง โดยใช้กลุ่มชุมชนที่เข้มแข็งเป็นฐานที่มั่นและเศรษฐกิจหลายช่องทาง
อย่างไรก็ตามครัวเรือนและชุมชนที่ปรับตัวได้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยนโยบายรัฐ ดังนั้นก่อนที่รัฐจะมีนโยบายใดๆ การออกแบบงานพัฒนาของหน่วยงานด้านนโยบายควรจะมุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตและความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนเสริมศักยภาพการปรับตัวของชุมชนทั้งด้านวัฒนธรรมและทรัพยากรให้เข้มแข็งรัฐไม่ควรเกาะเกี่ยวกับกลไกตลาดอย่างเดียวต้องส่งเสริมการพึ่งตนเองได้ของชุมชนไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากร วิถีวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารควบคู่กันไปด้วย
เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 16 ธันวาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.