บริบทการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคส่งผลผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ โดยภาครัฐได้ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้านภายใต้นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มุ่งหวังความสำเร็จในประการสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้าดำเนินการ เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ เพิ่มการจ้างงานในภูมิภาค
ทำให้จังหวัดมุกดาหารซึ่งมีต้นทุนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นพื้นที่เขตรอยต่อ/จังหวัดชายแดน มีสะพานที่เชื่อมโยงการเดินทางจากจังหวัดมุกดาหารไปถึงยังเมืองสวรรณเขต ประเทศลาวซึ่งมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ตัวอย่างธุรกิจที่จะดำเนินการ ได้แก่ แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ บริการฟื้นฟูสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ คลังสินค้า และศูนย์กลางสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 คสช.ออกคำสั่ง ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง "การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งมีผลให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร แห่งที่ 2 และสถานีพัฒนาอาหารสัตว์มุกดาหาร แห่งที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 1,085 ไร่ เป็นพื้นที่ถูกประกาศ และกำหนดเป็นพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม
ความชัดเจนเชิงพื้นที่ในการกำหนดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระยะที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เร่งรัดขั้นตอนตามกฎหมายปกติ คำสั่ง คสช.ได้เพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนเช่า ในขณะที่ความไม่ชัดเจนยังอยู่ที่ชุมชนโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งยังทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ส่วนมากเป็นที่ดิน สปก. ทำให้ชุมชนกังวลต่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของตนเองที่อาจถูกเพิกถอนโดยคำสั่งพิเศษ
ความชัดเจนต่อการดำเนินการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหลังจากมีความชัดเจนเรื่องขอบเขตพื้นที่แล้ว ต่อมาได้มีการออกแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในและภายนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหารเพื่อสนับสนุนการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ
การออกแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในขณะนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เบ็ดเสร็จด้านการลงทุน และจัดทำร่างผังเมืองรวมและผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระบวนการดังกล่าวมีเพียงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกำหนด แต่ขาดการเข้าร่วมจากชุมชนในทุกมิติ
นอกจากนี้ รัฐบาลได้สร้างแรงจูงใจนักลงทุนทั้งการลดเงื่อนไขอุปสรรคในการลงทุนโดยการแก้ไขกฎหมายและให้สิทธิประโยชน์มากมายในการลงทุน ล่าสุดตาม คสช. ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับ ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายผังเมืองที่กำหนดตามภูมิประเทศ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล
ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ตรวจสอบ และเรียกร้องมาตรการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลการตัดสินใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จนมักได้ยินคำพร่ำบนจากชาวบ้านหลายคนว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษ มันพิเศษอย่างไร" แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานราชการมักจะชี้แจงว่าได้มีการประชาสัมพันธ์แล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้สภาวะทางการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังเป็นเพียงการสร้างพิธีกรรมการมีส่วนร่วม
เมื่อถามว่าชุมชนรอบเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า เขตฯ เกี่ยวข้องกับชุมชนยังไง คำตอบเป็นไปในแนวทางเดียวกันที่ว่า คนในชุมชนอยากทราบเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนเอง เพราะฟังดูว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเหมาะกับพื้นที่ของตนเองได้อย่างไร เพราะมุกดาหารเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หากทำลงทุนทำธุรกิจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะกระทบต่อคนรุ่นลูกหลานที่จะต้องอยู่อาศัยในชุมชนต่อไป คำถามของชาวบ้านบ่งบอกถึงความห่วงใยเรื่อง "ขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อม" และ "ความยุติธรรมในสังคม" หรือ หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงข้อเสนอของจอห์น รอลส์ นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ที่อธิบายว่า เราสามารถสร้างหลักความยุติธรรมจาก "สถานะแรกเริ่ม" หรือสถานะที่ผู้มาร่วมตกลงสร้างหลักความยุติธรรมมีสถานะความเท่าเทียมกัน ภายใต้ข้อเสนอเช่นนี้ รอลส์ เชื่อว่าการร่วมกันตกลงสร้างหลักความยุติธรรมจากสถานะแรกเริ่มที่ทุกคนเท่าเทียมกันเช่นนี้ จะไม่มีใครคิดสร้างหลักความยุติธรรมที่จะเป็นประโยชน์เฉพาะแก่ตัวเขาเอง แต่จะคิดสร้างหลักความยุติธรรมที่เกิดประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากหลักความยุติธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันว่าทุกคนที่ร่วมตกลง โดยทุกฝ่ายย่อมได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมจากหลักความยุติธรรมเดียวกันนี้
ท้ายนี้ ไม่ว่าหลักการพัฒนาหรือข้อเสนอจากสำนักคิดใดจะมีพลังในการผลักดันในเกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมกันในการออกแบบการพัฒนาก็น่าจะเป็นคุณูปการต่อการนำไปใช้ให้เกิดผลแทบทั้งสิ้น ความชัดเจนของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐเร่งดำเนินการเพื่อให้เอกชนมาลงทุนเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงขณะนี้นับเป็นจินตนาการการพัฒนาที่ขึ้นรูปก่อร่าง การพัฒนาที่มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หวังแต่เพียงว่าในระยะต่อไปชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการจินตนาการ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นข้างรั้วบ้านของพวกเขาบ้างไม่มากก็น้อย
ปิยาพร อรุณพงษ์
นักวิชาการอิสระ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
พิมพ์ในนิิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 9 ธันวาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.