ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจของสังคมชนบทหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของชาวนาในชนบท
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นผลมาจากทั้งนโยบายของภาครัฐเอง กลไกการค้าเสรีและการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน รวมถึงการเติบโตของธุรกิจการเกษตรที่นำมาซี่งระบบการผลิตใหม่ๆ เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ เทคโนโลยีและการจัดความสัมพันธ์กับเกษตรกรในรูปแบบใหม่ที่ผูกมัดกันมากขึ้น โครงสร้างการผลิตที่ถูกยึดกุมโดยกลุ่มคนที่มีเงินและมีโอกาสมากกว่า เช่น ที่ดิน และแหล่งน้ำชลประทาน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมาก ซี่งปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลกระทบให้ชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนจากการทำนา ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตข้าวน้อยลง รวมไปถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยรวมแล้วคือ ผลิตภาพการผลิตต่ำลง ไม่สามารถปรับตัวได้ และไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นที่ไม่มีความรู้แต่ต้องไหลไปตามกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางการผลิตและการตลาดในยุคใหม่ที่เชี่ยวกรากนี้ อันมีภาคธุรกิจการเกษตรและภาครัฐเป็นผู้ที่มีบทบาทนำ
ชาวนาที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และต้องไหลไปตามกระแสของการผลิตและการตลาดที่ว่านี้ มักจะแก้ปัญหาการขาดทุนการผลิต และแก้ไขปัญหาหนี้สินที่พอกพูน ด้วยความพยายามที่จะปลูกข้าวให้ได้จำนวนมากขึ้น ขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการเช่าที่นาทำมากขึ้น หรือเพิ่มรอบการผลิตทำนาในหนี่งปี ให้มากขึ้น จากสองครั้งเป็นสามครั้ง หรือใส่ปุ๋ยเคมี และฉีดพ่นยาฆ่าแมลงให้ถี่มากขึ้น เพื่อรักษาผลผลิตและเพิ่มจำนวนผลผลิตข้าวในแต่ละรอบการผลิต โดยหวังว่าจะสามารถนำเงินรายได้ไปชำระหนี้ และชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในครอบครัวได้
แต่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาปัจจุบัน ที่มีภาระหนี้สินติดตัว และอีกจำนวนมากที่ต้องขายที่ขายทางเพื่อชดใช้หนี้สิน บ่งบอกอย่างชัดเจนแล้วว่า หากยังเดินตามกระแสของการผลิตและการตลาดเช่นนี้ต่อไป แม้จะมีนโยบายและโครงการของหน่วยงานภาครัฐมาช่วยอีกเป็นร้อยโครงการ ก็อาจจะไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนของการแบกรับสภาพหนี้ ความเสื่อมโทรมของสุขภาพ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในไร่นานี้ไปได้
อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เรายังได้มองเห็นชาวนาอีกกลุ่มหนี่ง แม้จะจำนวนไม่มากนัก ที่พยายามปรับตัวและหาทางออกจากกระแสการผลิตและการตลาดที่ทับถมอยู่ในปัจจุบัน ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ดังกรณีชาวนาจากกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร จังหวัดชัยนาท ที่พยายามปรับตัวจากที่เคยเผชิญปัญหาหนี้สิน และมีที่ทำกินน้อยเพียงครอบครัวละ 3-5 ไร่ ที่ผ่านมา ชาวนาในกลุ่มนี้แก้ไขปัญหาด้วยการขยายพื้นที่ทำนาและเช่าที่นาคนอื่นทำเพิ่ม ซี่งทำให้ประสบปัญหาต้นทุนทำนาเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ ชาวนาในกลุ่มจึงปรับตัวครั้งใหม่ด้วยการลดพื้นที่การทำนาเพื่อลดต้นทุนการผลิต และพยายามจะอยู่รอดให้ได้จากการทำการผลิตที่หลากหลายบนพื้นที่นาที่มีอยู่เพียง 3-5 ไร่ ต่อครอบครัว ในขณะที่บางส่วนของสมาชิกกลุ่มเลือกที่จะปรับตัวด้วยการหันไปผลิตข้าวคุณภาพสูงขึ้น เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้องหอมปทุม เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคผ่านเครือข่ายคนที่รู้จักและเครือญาติ แม้จะยังไม่มีการวางระบบการขายร่วมกันของกลุ่มในปริมาณที่มากพอเพื่อเชื่อมต่อกับผู้บริโภค แต่ราคาข้าวคุณภาพ และการหันมาสีข้าวจากโรงสีขนาดเล็กเพื่อขายเอง ก็ทำให้ชาวนากกลุ่มนี้มีรายได้จากการขายข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ในขณะที่ชาวนาสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนนางลือ จังหวัดชัยนาท จากที่เคยประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำต่อเนื่องติดกันหลายปี ชาวนาที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้ เลือกที่จะปรับตัวด้วยการหันมาผลิตพันธุ์ข้าวปลูกส่งขายให้ผู้ค้าพันธุ์ข้าวแทน จากที่เคยมีคนในละแวกหมู่บ้านเคยทำพันธุ์ข้าวขายให้กับศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ทำให้ได้รับความรู้ถึงขั้นตอนในการผลิตพันธุ์ข้าวที่ค่อนข้างประณีตและต้องดูแลรักษามากกว่าการผลิตข้าวโดยทั่วไป ซี่งปกติแล้วหน่วยงานรัฐจะให้ราคาที่ดี และให้ชาวนาบางส่วนของกลุ่มนี้ทำพันธุ์ข้าวขายให้กับศูนย์วิจัยฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายและขยายในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดอื่นๆ ต่อมาชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันทำพันธุ์ข้าวปลูก เพื่อขายให้ชาวบ้านด้วยกันเองที่มีศักยภาพในการับซื้อพันธุ์ข้าว เพื่อไปขายต่อให้จังหวัดอื่นไนภาคกลาง บางชุมชนในพื้นที่ตำบลนางลือนี้ มีชาวนาที่ขยับฐานะขึ้นมาเป็นผู้ซื้อพันธุ์ข้าวปลูกจากลูกกลุ่ม (กลุ่มละ 50-70 คน) ถึงมากกว่า 10 ราย ซี่งทำให้ชาวนาสมาชิกกลุ่มศูนย์ข้าวนี้ มีรายได้จากการขายพันธุ์ข้าวสูงกว่าชาวนาทั่วไป โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ขายจะสูงกว่าข้าวเปลือกทั่วไปตันละ 1,500-2,000 บาท ในช่วงที่ราคาข้าวไม่ดี และอาจจะสูงกว่าถึง 3,000 บาท ต่อตัน ในช่วงที่ราคาข้าวดี โดยพันธุ์ข้าวที่ชาวนากลุ่มนี้ปลูกและส่งขายทั่วทุกจังหวัดในภาคกลาง มีหลากหลายนับสิบสายพันธุ์ แต่ยังจำกัดอยู่เฉพาะพันธุ์ข้าวแข็ง ตามการส่งเสริมของศูนย์วิจัยข้าวเท่านั้น มีเพียงพันธุ์ข้าวหอมปทุมเพียงพันธุ์เดียวที่ชาวนานำมาบริโภคได้เอง
นอกเหนือจากการปรับตัวในเรื่องการใช้พื้นที่ทำนาให้น้อยลง การปรับตัวไปสู่การผลิตข้าวคุณภาพสูงขึ้น การปรับตัวไปสู่การผลิตพันธุ์ข้าวปลูก และการสีข้าวขายตรงให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังมีการปรับตัวของชาวนาในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก ทั้งการปลูกพืชสวนผสมผสาน และแปลงผักในไร่นา จำพวก ผักชีฝรั่ง ตะไคร้ ข่า มะเขือ พริก ซี่งเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของคนไทย และสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยต่อวันให้กับชาวนา การสร้างรายได้ประจำที่นอกเหนือจากการทำนา เช่น การรับจ้าง การรับงานมาทำที่บ้าน เป็นต้น
การปรับตัวของชาวนารายย่อยในทางเลือกที่หลากหลายเหล่านี้ ทำให้ชาวนาที่เคยล้มในอดีต สามารถยืนอยู่บนฐานการผลิตที่มั่นคงและพี่งตนเองได้ โดยไม่ต้องเอารายได้ไปผูกติดกับกระแสการผลิตและการตลาดที่ถูกกุมบังเหียนโดยผู้ค้ารายใหญ่ และผู้ส่งออกซี่งเชื่อมต่อกับระบบการค้าเสรี อันหมายถึงไม่สามารถควบคุมและคาดการณ์ได้ หน่วยงานภาครัฐจึงควรมองให้เห็นถึงการปรับตัวของชาวนาที่หลากหลายและเป็นอิสระเหล่านี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นทางเลือกและทางรอดของชาวนารายย่อยต่อไป ไม่ใช่การผลักดันให้พวกเขากลับไปหาเพียงแหล่งเงินกู้และเดินเข้าสู่วิถีการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ตีบตันอยู่ต่อไป
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ landactionthai.org, Local Act
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 2 ธันวาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.