วิกฤตการณ์ปัญหาราคาข้าวตกต่ำฤดูกาลเก็บเกี่ยว 2559 ได้ถูกบันทึกทางสถิติด้านราคาไว้แล้วว่า ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักให้กับพี่น้องชาวนาทั่วประเทศ ปัญหาราคาข้าวตกต่ำไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเหนือความคาดหมายเท่าใดนัก หากว่ากันตามหลักสถิติและแนวโน้มทิศทางการค้าข้าวระดับโลกที่ผ่านมา ข้าวถือเป็นสินค้าที่มีความเปราะบาง มีความผันผวนด้านราคาและการแข่งขันสูง ในขณะที่แนวโน้มปริมาณความต้องการของตลาดไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
ข้าวในฐานะพืชเศรษฐกิจและสินค้าเพื่อการส่งออก เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่รัฐไทยได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นและส่งเสริมให้ชาวนาเร่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และตลอดช่วงหลายสิบปีเราภาคภูมิใจว่าประเทศไทยคือแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ1 ของโลก และมีสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ พันธุ์ข้าวคุณภาพอันดับ 1 ที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เรากินบุญเก่ามานานจนหลงลืมไปแล้วว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เราไม่ได้ส่งออกข้าวอันดับ 1 และคุณภาพข้าวหอมมะลิที่ดี ที่เคยหอม ก็แย่ลง ในขณะเดียวกันเชิงภาพรวมแล้ว เราล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ทั้งด้านผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพและการยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น
ดังนั้นสาเหตุปัญหาราคาข้าวตกต่ำจึงเกิดขึ้นทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศร่วมกัน ปัจจัยภายนอก เกิดขึ้นมาจากกลไกตลาดข้าวส่งออกในต่างประเทศ ปัจจัยภายใน เกิดขึ้นจากปริมาณ สต๊อกข้าวสะสมในคลังของรัฐบาลจำนวนมากที่ยังระบายไม่ออก จึงมีการเก็งกำไรของพ่อค้าและผู้ส่งออก กดราคารับซื้อข้าวเป็นห่วงโซ่ นับจากต้นทางตั้งแต่ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก พ่อค้าคนกลาง โรงสี จนมาสู่ชาวนาผู้ที่อยู่ใต้สุดของห่วงโซ่อุปทานการค้าข้าว
ซึ่งผลการศึกษาจำนวนมากบ่งชี้ว่าชาวนาเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของกลไกตลาดไว้มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์และผลกำไรหลักที่ได้จากการส่งออกข้าวกลับไม่ได้อยู่ในมือของชาวนา???
แม้ว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำจะเกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกร่วมกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ว่าล้มเหลวในการบริหารจัดการข้าว
ในท่ามกลางปัญหา ก็เห็นโอกาสดีๆ ที่เกิดขึ้น คือ กระแสสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ล้วนให้ความสนใจต่อปัญหาของพี่น้องชาวนาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ผู้เขียนก็อดห่วงและอดคาดหวังไม่ได้ว่า ไม่อยากให้เป็นเพียงกระแสเฉพาะหน้า เพราะเมื่อสถานการณ์ปัญหาคลี่คลายลง ชาวนาขายข้าวหมดแล้วหรือราคาข้าวขยับเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ก็เลิกแล้วต่อกัน ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวปีหน้าก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาซ้ำๆ เดิมๆกันอีก ทำอย่างไรจะมีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการข้าวเชิงระบบอย่างจริงจัง ระยะยาวและมีความยั่งยืน
การออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนาเชิงระบบที่มีความยั่งยืน ไม่ควรเกิดขึ้นมาแบบลอยๆ หรือยึดหลักการวิชาการจนเกินไป แต่ต้องเกิดขึ้นมาทั้งการมองข้อเท็จจริงจากระดับพื้นที่ขึ้นสู่ระดับนโยบาย
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัสคลุกคลีกับกลุ่มชาวนาในเขตภาคกลางมานานหลายปี ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าครัวเรือนชาวนาภาคกลาง แม้ว่าจะมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ชาวนาในภาคอื่นๆ แต่ก็มีความเปราะบางสูงมากและส่วนใหญ่ขาดความพร้อมในการปรับตัว เพราะครัวเรือนชาวนาร้อยละ 90 ผูกพันรายได้ และเงินลงทุน (เงินกู้) ส่วนใหญ่ของครัวเรือนไว้กับการทำนาเป็นหลักเพียงชนิดเดียว มีสัดส่วนการพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตรและรับจ้างอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อย หากจะพิจารณาสภาพพื้นฐานครัวเรือนและพื้นฐานปัญหา สามารถจัดแบ่งกลุ่มของชาวนาออกเป็นกลุ่มที่แตกต่างกันตามลักษณะการถือครองที่ดิน 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
ชาวนารายย่อย ทำนาที่ดินของตนเองเป็นหลัก มีที่ดินขนาดเล็กไม่เกิน 20 ไร่ สัดส่วนร้อยละ 40 ของชาวนาภาคกลางทั้งหมด ชาวนากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะความยากจนและมีรายได้สุทธิต่อไร่ต่ำกว่าชาวนากลุ่มอื่น แต่จุดเด่นคือยังดำรงวิถีการผลิตที่ใช้แรงงานของตัวเองมากกว่าการจ้างแรงงานหรือพึ่งพาเครื่องจักรรับจ้าง ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของชาวนากลุ่มนี้ประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ การใช้ปุ๋ยเคมีและสารควบคุมและกำจัดศัตรูพืชไม่มากนัก ชาวนาบางรายพยายามลดต้นทุนการผลิตและควบคุมการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ไม่สูงมากนัก ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่
ชาวนาเช่า หรือ ชาวนาไร้ที่ดิน คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของชาวนาภาคกลางทั้งหมด ปัญหาใหญ่ของชาวนากลุ่มนี้คือต้องแบกรับค่าเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนการผลิตหลัก ร้อยละ 25 ของต้นทุนทั้งหมดเอาไว้ การที่ชาวนากลุ่มนี้จะสามารถอยู่รอดได้ คือต้องเช่าที่ดินเพิ่มหรือทำนาให้แปลงใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 30-50 ไร่ขึ้นไป เพื่อให้มีรายได้สุทธิเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ต้นทุนการผลิตของชาวนากลุ่มนี้จะตกเฉลี่ยประมาณ 5,500 บาทต่อไร่ ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 900 กิโลกรัมต่อไร่ เงื่อนไขข้อจำกัดของชาวนากลุ่มนี้ประการสำคัญคือ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เพราะติดเงื่อนไขเจ้าของที่ดินไม่ยินยอม และรูปแบบค่าเช่าจะคิดตามปริมาณผลผลิตข้าว เฉลี่ย 20 ถังต่อไร่ต่อรอบ และจ่ายเป็นเงินสดจากราคาตลาดของข้าวที่ขายได้ในรอบการผลิตนั้น
ชาวนามีที่ดินของตนเองและเช่าเพิ่ม สัดส่วนร้อยละ 50 ของชาวนาภาคกลางทั้งหมด ชาวนากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีศักยภาพการปรับตัวและหัวก้าวหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น เพราะสนใจศึกษาเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ สามารถวางแผนการผลิตและช่องทางการตลาดได้ด้วยตนเอง แต่ปัญหาอุปสรรคของชาวนากลุ่มนี้คือ ทำการผลิตพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป จะมีต้นทุนสูงจากการที่ต้องจ้างแรงงานในเกือบทุกขั้นตอนการผลิต แบกรับต้นทุนค่าจ้างเครื่องจักรในการเตรียมดิน และการปลูกเกือบทั้งหมด ต้นทุนการผลิตของชาวนากลุ่มนี้จะอยู่ประมาณ 6,500 บาทต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ยสูงประมาณ 1 ตันต่อไร่ หากประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยแล้ง ก็จะต้องแบกรับภาระหนี้สินก้อนโตและความเสี่ยงสูงตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่าสภาพพื้นฐานปัญหาของชาวนากลุ่มต่างๆ มีความแตกต่างกัน ชาวนาที่เปราะบางที่สุดคือชาวนาไร้ที่ดินที่ต้องเช่าที่ดินทั้งหมด รองลงมาคือ ชาวนารายเล็กที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประสบปัญหาหนี้สินพอกพูน ทำให้โอกาสในการปรับตัวเป็นไปได้ยาก แต่ชาวนาทุกกลุ่มล้วนมีช่องทางการปรับตัวเพื่อทางรอดของตนเอง มีความพยายามลดต้นทุน เก็บพันธุ์ข้าวปลูกเอง แต่ความสำเร็จยังไม่ค่อยเด่นชัด เพราะไม่กล้าเดินไปสุดทาง ทำบางส่วน ไม่เต็มที่ เนื่องจากขาดปัจจัยที่ช่วยกระตุ้น แรงหนุน หรือหน่วยสนับสนุนที่ใกล้ชิดในระดับพื้นที่ จึงเกิดความลังเลและไม่แน่ใจในการปรับเปลี่ยน
ดังนั้นการออกแบบความช่วยเหลือและสนับสนุนชาวนาเป็นเรื่องสำคัญ และควรเป็นไปอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับขนาดพื้นที่และสถานะครัวเรือนชาวนา ไม่ควรมองทุกเรื่องแบบสูตรสำเร็จ แต่ควรทำแบบครบวงจร ทั้งการผลิต การลดค่าใช้จ่าย และควรกำหนดเงื่อนไขบนพื้นฐานความต้องการของชาวนาและการมีส่วนร่วม และสิ่งสำคัญความช่วยเหลือนั้นไม่ควรนำเรื่องเงินกู้หรือเงินทุนเป็นตัวนำ แต่ควรนำด้วยเรื่ององค์ความรู้ พี่เลี้ยงและหน่วยสนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาข้อกังขาต่อทิศทางเป้าหมาย ดังเช่น โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในขณะนี้ ว่าโดยภาพรวมความสำเร็จ สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมให้ชาวนาพึ่งพาตนเองได้มากน้อยเพียงใด
อารีวรรณ คูสันเทียะ landactionthai.org/ Local Act
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.