ผมแปลคำว่า "ความเป็นธรรม" หมายถึง "ต้องไม่เอาเปรียบผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบ" สิ่งนี้จึงเป็นหลักธรรมพื้นฐานของธนาคารต้นไม้
มันตอบข้อสงสัยว่าธนาคารต้นไม้ คืออะไร ดำเนินการบนแนวคิด ความเชื่อ หลักการอันใด ถ้าทบทวน ตรวจทานด้วยหลักธรรมพื้นฐาน "การไม่เอาเปรียบผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบ" ได้แล้ว นั่นหมายถึง สัจธรรมอันแท้ของธนาคารต้นไม้ ซึ่งอาจจะยกประเด็นข้อสงสัยข้องใจ มาถกเถียง เช่น
ถาม "ปลูกแล้วตัดได้ไหม?" ตอบ "ปลูกแล้วตัดไม่ได้ คนปลูกโดนเอาเปรียบ" นั่น ไม่ใช่ธนาคารต้นไม้
ถาม "ต้นไม้มีมูลค่า เมื่อตายแล้วเท่านั้นใช่ไหม ?" ตอบ "ไม่ใช่ เพราะเราถูกเอาเปรียบ มันควรมีมูลค่า ขณะที่มีชีวิต" นั่น ไม่ใช่ธนาคารต้นไม้
ธนาคารต้นไม้ใช้หลักธรรมเป็นฐาน และใช้หลักการแห่งประชาธิปไตย เป็นแบบแผนในร่างพ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ จึงสรุปย่อให้เห็นเป็น หลักการของประชาชน สำคัญ ๔ ข้อ ดังนี้
ข้อที่ ๑ ต้นไม้ที่ประชาชนปลูก ต้องเป็นของประชาชนทั้งทรัพย์ และสิทธิ์ : หากตั้งคำถามว่าทำไม ก็เพราะ ปัจจุบันรัฐไทยออกกฎหมายละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์ว่าไม้สัก ไม้ยาง และไม้อีก ๑๕ ชนิด ไม่ว่าขึ้นที่ใด ในราชอาณาจักรถือว่าเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. เสียทั้งสิ้น นั่นหมายถึง ต้นไม้ที่ประชาชนปลูกไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนโดนเอาเปรียบมันขัดหลักธรรมพื้นฐาน
ข้อที่ ๒ ต้นไม้ต้องมีมูลค่าเป็นทรัพย์ขณะที่มีชีวิต : ถ้าถามว่าทำไม ก็เพราะ ในปัจจุบันต้นไม้ ต้องตายเสียก่อน จึงจะมีมูลค่าโดยต้องโดนตัด แปรรูป ผ่า เผา อบเสียก่อน จึงจะมีมูลค่า เป็นการเอาเปรียบชีวิตต้นไม้ เอาเปรียบเจ้าของต้นไม้ เมื่อเทียบกับทรัพย์อย่างอื่น เช่น เหล้าในโกดังเป็นทรัพย์ เครื่องจักรในโรงงานเป็นทรัพย์ รถยนต์วิ่งบนถนนเป็นทรัพย์ เรื่องร้องเพลง ท่าเต้น เสียงดนตรี ชุดความรู้ ยังเป็นทรัพย์ได้ ไฉนต้นไม้ที่มีชีวิตยืนต้นบนแผ่นดินประชาชนจึงเป็นทรัพย์ไม่ได้ล่ะ
ข้อที่ ๓ ต้องมีองค์กรบริหารจัดการ ที่มาจากคนปลูกต้นไม้ เจ้าของต้นไม้ ทำไมหรือ? เพราะองค์กรต่างๆในปัจจุบัน, ยอมยกมอบอำนาจการบริหารจัดการให้ราชการ, นักวิชาการ, นักการเมือง, นักกฎหมาย ซึ่งมันขัดหลักการโดยประชาชน ธนาคารต้นไม้จึงกำหนดรูปแบบโครงสร้างชัดว่า องค์กรบริหารจัดการธนาคารต้นไม้ต้องคัด คนปลูกต้นไม้ หรือเจ้าของต้นไม้มาตามลำดับขั้น เพื่อจัดการกันเอง เพราะไม่ให้คนอื่นมาจัดการ ซี่งหมายถึง เราโดนเอาเปรียบ
ข้อที่ ๔ ต้องมีกองทุนส่งเสริม สนับสนุนในกิจการปลูกดูแลจัดการต้นไม้, โดยกองทุนนี้ต้องเก็บมาจากประชาชน ผู้ปลูกต้นไม้ กิจการค้าไม้ และกิจการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ถามว่าทำไม? ก็เพราะประชาชนต้องการการสนับสนุนทุนในการปลูกดูแลรักษาต้นไม้ ทว่าต้องไม่รบกวน ประชาชนภาคอื่นๆ ไม่งั้นก็เป็นการเอาเปรียบผู้อื่น
ในหลักการสำคัญนี้ โครงสร้างธนาคารต้นไม้จึงประกอบด้วย
สมาชิกที่สมัครใจมารวมกลุ่มกันเป็นธนาคารต้นไม้สาขา ทำหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม ตรวจนับจัดทำข้อมูลต้นไม้ตลอดจนการเฝ้าระวัง สร้างสังคมคนปลูกต้นไม้ จำนวนสมาชิกว่ากันตามความเหมาะสม ไม่จำกัดเขตพื้นที่ ให้มีคณะกรรมการเป็นตัวแทนสมาชิกที่คัดมาจากสมาชิกเห็นสมควร
กรรมการระดับสาขาถูกคัดเป็นกรรมการระดับจังหวัด ระดับจังหวัดถูกคัดเป็นระดับเขตภูมิภาค ๙ เขต และระดับเขตถูกคัดเป็นระดับชาติ ๒ คณะได้แก่ กรรมการบริหาร ๙ คน และกรรมการระดับจังหวัดถูกคัดเป็นกรรมการขับเคลื่อน ๙๙ คน(รวมผู้ทรงคุณวุฒิ) ปัจจุบันมีมูลนิธิธนาคารต้นไม้เป็นองค์กรคู่ขนานทางสังคม
สิทธิประโยชน์ของประชาชน ธนาคารต้นไม้กำหนดสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้ปลูกต้นไม้ โครงการ ฯ รับรองต้นไม้ที่มีชีวิตของประชาชนให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์โดยแยกเป็น ๒ ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก อายุต้นไม้ ๑-๑๐ ปี ให้มีมูลค่าตามราคาทุนที่กำหนด คือต้นละ ๑๐๐ บาท ในปีแรก และเพิ่มขึ้นปีละ๑๐๐ บาท จนถึงปีที่ ๑๐ ต้นละ ๑๐๐๐ บาท หรือมีมูลค่าเป็นอย่างอื่นตามความเหมาะสม ที่คณะกรรมการจะกำหนดขึ้นทั้งนี้ต้องมีความโตได้ขนาดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ช่วงที่สอง ต้นไม้ที่อายุ ๑๐ ปีขึ้นไปหรือพ้นเกณฑ์ช่วงแรกแล้วให้มีมูลค่าตามราคาจริงที่กำหนดจากการคำนวนเนื้อไม้และมูลค่าอื่นๆ และนำไปใช้ลักษณะทรัพย์สินกับรัฐได้ ๕ ประการได้แก่ ๑.๑) ใช้ประกันตน ๑.๒)ใช้เป็น Bank การันตี ๑.๓)ใช้เป็นสวัสดิการกับรัฐ เช่น ค่าเล่าเรียน ฯลฯ ๑.๔)ใช้เป็นหลักประกันหนี้สินกับธนาคารของรัฐ แทนที่ดิน หรือทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ๑.๕)ใช้เป็นเงินฝาก เงินออมเหมือนพันธบัตรรัฐบาล
กองทุนสนับสนุนค่าตอบแทน: กองทุนสนับสนุนค่าตอบแทนในการปลูกดูแลรักษาต้นไม้ อัตรา ๕% ของมูลค่าต้นไม้เป็นเวลา ๑๐ ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจ ในการปลูกดูแลรักษาต้นไม้รวมค่าดูแลต้นละ ๒๗๕ บาท เมื่อมีการจัดการตัดโค่น จัดการผลผลิตไม้ ก็จัดเก็บภาษีมาไว้ในกองทุนเพื่อหมุนเวียนส่งเสริม การปลูกต่อไป ลักษณะเดียวกันกับกองทุนสงเคราะห์ค่าตอบแทนสวนยางพารา
พื้นที่ปลูกต้นไม้ ให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ ๕ ประเภท ได้แก่
๑. ในสวนยางพารา การปลูกต้นไม้ในระยะการปลูกที่เหมาะสม คือ ยางพารา 3x9 จำนวน ๕๙ ต้น ต้นไม้ 4x9 จำนวน ๔๔ ต้น จากข้อสรุปงานวิจัย "รูปแบบและแรงจูงใจในการปลูกต้นไม้ในสวนยางพารา"
๒. ในสวนปาล์ม : ปลูกต้นไม้ในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีตัวอย่างหลายกรณี สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดีในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตปาล์มยังคงปกติ หรืออาจลดลงเพียงเล็กน้อย แต่สมดุลนิเวศในพื้นที่ดีขึ้น และต้นไม้เติบโตได้ดี โดยกำหนดระยะ 9x9; 9x4; หรือ 10x10; 10x4
๓. ในสวนผลไม้ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างสมดุลนิเวศ พืชสวนเชิงเดี่ยวให้เกิดความหลากหลายคล้ายกับป่า ทั้งสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มะพร้าว ฯลฯ โดยการเสริมไม้ยืนต้นในสัดส่วนประมาณ ๔๐ ต้น/ ไร่ ระหว่างแนวต้นผลไม้ และตามริมขอบเขตที่ดิน
๔. ปลูกต้นไม้ในไร่นา ซึ่งเป็นการปลูก ผสมกับพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มัน รวมถึงนาข้าว โดยการปลูกตามคันนา แนวเขตที่ดิน หัวไร่ ปลายนา โดยที่การปลูก เป็นแถวชิดกัน ระยะ 2x3x ความยาวรอบพื้นที่ และเว้นพื้นที่ให้แสงส่องถึงพืชไร่ นาข้าว
๕. ปลูกในที่สาธารณะ / หรือแบบสวนป่า ซึ่งเป็นการจัดแบ่งพื้นที่การเกษตรออกจากพื้นที่แนวปลูก หรือที่ดินของสาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ป่าชุมชน ฯลฯ แล้วปลูกไม้ยืนต้นอย่างหลากหลาย 3x3 ;3x4 สลับให้เกิดความหลากหลาย และเหมาะสม อัตรา ๑๓๐-๑๗๕ ต้น/ ไร่
ภายใน ๑๐ปี หากประชาชนปลูกต้นไม้รายละ ๔๐๐ ต้น สาขาละ ๕๐ ราย จำนวน ๒๕% ของชุมชน คือ ๒๐,๐๐๐ สาขา เท่ากับสมาชิก ๑ ล้านราย มีต้นไม้ ๔๐๐ ล้านต้น ซึ่งมีมูลค่า ๔ แสนล้านบาท หากคิดเฉลี่ย ๔๐ ต้น/ไร่ จะได้ ๑๐ ล้านไร่ ทั้งจะเกิดการปฏิรูปประเทศ ๙ ด้านขนานใหญ่ ได้แก่
ก.ด้านสังคม
๑. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ภายใน ๑๐ ปี โดยการสร้างความเท่าเทียมในทรัพย์จากมูลค่าต้นไม้ที่มีชีวิต(ประชาชนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทันทีจากการรับรองมูลค่าต้นไม้;เมื่อทรัพย์สินเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันก็ไม่เหลื่อมล้ำอีกต่อไป)
๒. สร้างสังคมและชุมชนเข้มแข็งด้วยการจัดการธนาคารต้นไม้ร่วมกัน.ไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่สร้างภาระให้คนอื่นภายใต้หลักการของประชาชน/โดยประชาชน/เพื่อประชาชน
๓. สร้างระบบสวัสดิการสังคมอย่างยั่งยืนจากการสะสมต้นไม้ และใช้มูลค่าต้นไม้ลงทุนสร้างระบบสวัสดิการด้วยตัวเอง มีหลักประกันรายได้และสุขภาวะด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีมีต้นไม้
๔. รักษาที่ดินทำกินไว้อย่างมั่นคงยั่งยืน เพราะต้นไม้สามารถทำเป็นทรัพย์สินและหลักทรัพย์ในการค้ำประกันหนี้สินแทนที่ดิน
ข.ด้านเศรษฐกิจ
๕. แก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืนโดยการใช้ทรัพย์จากมูลค่าต้นไม้ไปค้ำประกันหนี้สิน ทำให้ทรัพย์สินสมดุลกับหนี้สินสามารถตัดต้นไม้ขายชำระหนี้ได้ตลอดเวลา
๖. สร้างอาชีพ ทรัพย์สินและรายได้ต่อเนื่องจากมูลค่าต้นไม้และผลผลิตจากไม้
๗. สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปัจจัยการผลิต และปัจจัยสี่อย่างยั่งยืน ด้วยปริมาณต้นไม้ ผลผลิตไม้และความหลากหลายทั้งสามารถทำพลังงานชีวมวลจากต้นไม้อย่างเพียงพอ
ค.ด้านสิ่งแวดล้อม
๘. ลดสภาวะโลกร้อนด้วยปริมาณต้นไม้ที่กระจายอย่างกว้างขวาง สามารถดูดซับคาร์บอนให้อยู่ในภาวะพอดีสมดุลได้
๙. ป้องกันภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝนแล้ง จากสมดุลธรรมชาติในพื้นที่เกษตร 200 ล้านไร่ สามารถเก็บกักน้ำไว้ในดินเพียงพอต่อการใช้และรักษาสมดุลนิเวศ
พงศา ชูแนม นักวิชาการอิสระ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.