ความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือ และแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ในรอบฤดูการผลิตปี 59/60 ด้วยโครงการจำนำยุ้งฉาง เพื่อให้ชาวนาชะลอการนำข้าวออกมาขาย ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม และข้าวเปลือกเจ้า เป็นวงจรที่เวียนกลับมาอีกครั้ง
ที่รัฐต้องมีโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับชาวนา ครั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่าวิกฤตราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ส่งผลต่อความสะเทือนใจของคนในสังคมจำนวนมาก และเป็นที่มาของการยื่นมือช่วยเหลือของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ตามวิสัยการช่วยเหลือกันในยามยาก ที่สังคมไทยมีมาตลอดซี่งเป็นสิ่งที่ดี
แต่คาดว่ารัฐบาลเองก็รู้ดีว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะยังไม่ได้เข้าไปแตะต้องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างการเกษตรทั้งระบบ การเดินหน้าต่อไปของภาคการเกษตร ปัญหาข้าวและชาวนา จะวนกลับมาที่เดิมในวันนี้อีกหรือไม่ คำตอบก็คือ คงจะวนกลับมาอย่างแน่นอน และนั่นก็คงจะทำให้รัฐบาลในฤดูการเก็บเกี่ยวรอบหน้า ต้องปวดหัว และคิดค้นโครงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ออกมาอีกเช่นเคย
อันที่จริง ก็น่าเห็นใจรัฐบาลอยู่ไม่น้อย ยิ่งในช่วงนี้ที่บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก และรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหลายด้าน ซึ่งอาจจะทำให้มองไม่เห็นทางออกในระยะยาวได้อย่างชัดๆ ว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาราคาข้าวกับชาวนา ไม่ให้วนเป็นงูกินหาง จะต้องทำอย่างไร
ก่อนจะว่าด้วยแนวทางแก้ปัญหา มีเรื่องสำคัญบางเรื่อง ในระหว่างการหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนาที่รัฐบาลไม่ควรทำ ก็คือการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ด้วยแนวทางที่จะทำให้เกิดปัญหากับชาวนาในอนาคตเห็นได้ชัดเจนในช่วงนี้ คือความพยายามที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังซี่งมีภาวะล้นเกินตลาด ด้วยการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัดทั่วประเทศผู้เขียนเห็นว่าคนที่คิดโครงการนี้ ไม่ได้สรุปบทเรียนปัญหาเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการเผา และการใช้สารเคมีรุนแรง ที่เป็นปัญหาปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จนเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขได้ การประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่กิโลกรัมละ 8 บาท แบบที่รัฐและทุนกำลังว่ามา ก็มักจะทำได้เพียงในช่วงปีต้นๆ ที่รัฐและทุนส่งเสริมเท่านั้น พอเกษตรกรหรือชาวนา หันมาปลูกจำนวนมากแล้ว ราคาก็มักถูกปล่อยให้ลอยตัวแล้วแต่กลไกตลาดเหมือนเดิม นี่จึงไม่ใช่แนวทางแก้ไขและช่วยเหลือชาวนาที่ยั่งยืนเลย ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลกำลังคิดจะสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่อาหารให้กับกลุ่มทุนธุรกิจอาหารสัตว์ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เรื่องสำคัญประการถัดมา หากรัฐต้องการจะช่วยเหลือชาวนาและแก้ไขปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืน รัฐบาลเองจำเป็นที่จะตั้งปักธง (เป้าหมาย) ให้ได้เสียก่อนว่า สรุปแล้วรัฐบาลต้องการที่จะเห็นชาวนามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และอะไรคือเครื่องมือ หรือแกนหลักสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลไปถึงเป้าหมายนั้นได้
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศเวียดนาม ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาชาวนาของเขาอย่างชัดเจน และมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่าบ้านเรา ชาวนาญี่ปุ่นมีฐานะที่ร่ำรวยในระดับที่เท่ากับ หรือดีกว่ากลุ่มอาชีพอื่น เพราะพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นแก่น หรือฐานสำคัญของอาชีพชาวนา คือเรื่องที่ดิน ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปฏิรูปที่ดิน จัดสรรที่ดินให้กับชาวนาได้ผ่อนซื้อจากรัฐในราคาที่รัฐกำหนดซี่งเป็นธรรม โดยไม่ใช้ราคาตลาด ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นมีโอกาสในการซื้อที่ดินเป็นของตนเองมาตั้งแต่ยุคอดีต ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการสร้างระบบชลประทานที่ทั่วถึงทำให้เกษตรกรไม่มีปัญหาเรื่องน้ำใช้สำหรับการเกษตร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม คนที่อยู่ในแวดวงเกษตรย่อมรู้ดีว่า เมล็ดพันธุ์นั้นสำคัญมากสำหรับชาวนาและเกษตรกร เพราะเมล็ดพันธุ์คือปัจจัยกำหนดรูปแบบและระบบการผลิต รวมถึงกำหนดความสามารถในการลดต้นทุนและพึ่งตนเองของเกษตรกรด้วย นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการผลิต และการขายผลผลิตของชาวนา เช่น การมีถนนหนทางที่สะดวกเพื่อขนส่งผลผลิตไปขาย หรือการมีสหกรณ์ทั้งผู้ผลิต และสหกรณ์ผู้บริโภคที่เอื้อต่อการแปรรูป เพิ่มมูลค่า และขายผลผลิตของชาวนา
ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามเอง มีเป้าหมาย ที่จะลดต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาให้ต่ำลง และเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ให้สูง เพื่อให้สามารถแข่งขันและส่งออกข้าวได้จำนวนมากขึ้น โดยมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมคือ3 ลด และ 3 เพิ่ม ล่าสุดยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ซี่งนับว่าทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์มาก
เห็นได้ชัดว่า ประเทศเหล่านี้ มีวิสัยทัศน์ ในการที่จะพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ชาวนาของพวกเขาให้ดีขึ้น ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าที่ชาวนาจะต้องเจอว่ามีอะไรบ้าง และเลือกที่จะใช้นโยบายที่มีรูปธรรม เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชาวนามีโอกาสในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเป็นเจ้าของที่ดินโดยที่ไม่ต้องสูญเสียโอกาสไปเช่าที่ดินคนอื่น การมีระบบชลประทานรองรับที่เพียงพอเพื่อที่จะไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะภัยแล้ง การพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อให้ชาวนาต่อยอด มีโอกาสเพิ่มผลผลิตและลดความเสี่ยงต่อการทำลายของโรคแมลง รวมไปถึงการมีระบบสหกรณ์ที่เข้ามาช่วยเรื่องการแปรรูปและขายผลผลิตให้กับผู้บริโภค ถึงแม้ว่านโยบายของสองประเทศนี้ จะไม่ได้มีแต่ด้านดีอย่างเดียว และยังมีปัญหาอุปสรรคในการช่วยเหลือชาวนาของพวกเขาอยู่ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการจะชี้คือ รัฐบาลพวกเขามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อให้ชาวนาอยู่ได้อย่างยั่งยืน และวิสัยทัศน์นี้ต้องการเครื่องมือที่เป็นรูปธรรม ที่รัฐต้องลงทุนในด้านโครงสร้างแบบที่ว่ามา
แต่ประเทศไทย วิสัยทัศน์ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาคืออะไร ชาวนาไทย45-60 % ยังเป็นชาวนาเช่า ซี่งค่าเช่า (ตามสถานการณ์จริง) ขึ้นกับเจ้าของที่ดินเป็นผู้กำหนด มีพื้นที่ทำนาเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่เข้าถึงระบบชลประทาน อีกร้อยละ 70 ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น ในขณะที่เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมีน้อยมาก พันธุ์ข้าวของดีที่มีมาแต่โบราณ ไม่ได้ถูกส่งเสริมและพัฒนานำมาใช้ แต่ชาวนาไทยปลูกข้าว กข. อยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ และไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านเมล็ดพันธุ์ได้ เพราะไม่ได้ถูกถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการขยายและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทย สูงกว่าชาวนาในประเทศเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเวียดนามและเมียนมาร์ ที่รัฐบาลเขาให้ความสำคัญสำหรับระดับปฏิบัติการในการลดต้นทุนการทำนา แต่บ้านเราหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจบางแห่งเสียเองที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (โดยอ้างว่าส่งเสริมเพื่อให้ใช้อย่างปลอดภัย) แล้วอย่างนี้ จะพูดว่ามีเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า หากเรายังมีวิสัยทัศน์เดินตามกระแสทุน (การเกษตร) เปลี่ยนจากพืชเศรษฐกิจหนึ่งไปปลูกพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนี่ง รัฐบาลกลางมีนโยบายลดต้นทุนอย่างหนี่ง แต่หน่วยงานระดับปฏิบัติส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยาเคมีกันคึกคักอีกอย่างหนี่ง บ้านเราคงแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนาไม่ได้
สิ่งที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนไม่เพียงเฉพาะชาวนาเท่านั้น ที่เมื่อเจอวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วต้องสรุปบทเรียนให้ได้ว่ายังจะเดินแนวทางเกษตรเคมีพึ่งพานายทุนต่อไปหรือไม่ และรัฐบาลเอง ที่มีทั้งนโยบายและกลไกแก้ไขปัญหาอยู่ในมือ แต่กลับวนเวียนไปมา อยู่กับโครงการบรรเทาปัญหาและแก้วิกฤตให้ชาวนาปีต่อปี จะสรุปบทเรียนได้หรือยังว่า หากไม่กล้าพอที่จะมีวิสัยทัศน์แบบใหม่ที่แตกต่าง และฝ่ากระแสทุนออกไป ก็เป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน จนถึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนาให้ได้อย่างยั่งยืน
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ มูลนิธิชีวิตไท
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.