โจทย์การสื่อสารในประเด็นที่เกี่ยวกับชาวนาและเกษตรกรที่ผ่านมา คือ การสื่อสารด้วยมุมมองของคนนอก ไม่อาจสะท้อนความต้องการของชาวนาและเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เสียงและประเด็นของชาวนาไม่เข้าไปอยู่ในนโยบาย สังคมยังไม่ยอมรับศักยภาพของชาวนาว่าสามารถออกแบบการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ สังคมยังขาดความเข้าใจปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของชาวนาและสังคมเกษตรจากภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้การสื่อสารไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ หรือการบอกเล่าตัวตนของเกษตรกรกับคนอื่นว่าเราคือใครและต้องการอะไร มิติการสื่อสารในความหมายที่กว้าง คือ การสื่อสารเพื่อสร้างปัญญา การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง พลังและอำนาจการสื่อสารสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้
เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวนาและเกษตรกรในเขตภาคกลาง ได้แก่ กลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร จังหวัดชัยนาท และเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเกษตร จังหวัดราชบุรี ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสื่อสารสุขภาวะเกษตรกรเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ณ บ้านสวนจุรีปันสุข อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีตัวแทนชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประมาณ 20 คน
กิจกรรมการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะชาวนา (ปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามต่อความสุขและคุณภาพชีวิตของชาวนา ทั้งด้านกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญว่า เกษตรกรผู้ที่สัมผัสและคลุกคลีอยู่กับปัญหา เกษตรกรย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหา และสะท้อนปัญหาของตนเองออกมาได้ดีที่สุด
ดังนั้นยุทธศาสตร์และแนวทางที่มูลนิธิฯต้องการผลักดันในระยะต่อไป คือ การสนับสนุนศักยภาพเกษตรกรในการจัดการระบบข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้ และสื่อสารประเด็นสถานการณ์สุขภาวะชาวนาด้วยตัวเกษตรกรเอง การสื่อสารด้วยตัวเกษตรกรจะดำเนินการทั้งสองระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน เพื่อขยายผลป้องกันปัญหาและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะภายในกลุ่มเครือข่ายของตนเองได้
ระดับสาธารณะ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารสู่สังคมและสาธารณะวงกว้าง รวมไปถึงการพัฒนาข้อเสนอ และยกระดับข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไปสู่รูปธรรมทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาวะชาวนาในระดับนโยบาย
ขั้นตอนการฝึกอบรมการสื่อสารสุขภาวะของเกษตรกรโดยสรุป คือ วิทยากรจะแบ่งเกษตรกรผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มตามความถนัดและความสนใจ จากรูปแบบการสื่อสาร 2 เรื่องหลัก คือ กลุ่มที่ 1 การสื่อสารด้วยรูปแบบการเขียนสกู๊ป บทความและสารคดีสั้น และกลุ่มที่ 2 การสื่อสารด้วยรูปแบบคลิปวีดีโอ สกู๊ปสั้น และการถ่ายภาพ (ด้วยโทรศัพท์มือถือ) อย่างไรก็ตามการสื่อสารทั้งสองรูปแบบในท้ายที่สุดจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นแต่พื้นที่จะมีการกระจายสัดส่วนเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสองรูปแบบ เพื่อนำมาบูรณาการและวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไป
ช่วงเวลาของการฝึกอบรมครั้งนี้ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วถือว่าน้อยมาก หากเทียบหลักสูตรการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เขาเรียนกันหลายเดือน เกษตรกรที่ไม่มีทักษะและประสบการณ์ด้านการเขียนและการถ่ายภาพเพื่อการสื่อสารมาก่อนเลย อีกทั้งมีหลายรายที่เป็นเกษตรกรรุ่นเก่าอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถเรียนรู้และเข้าใจเทคนิคการเขียนและการถ่ายภาพได้อย่างคล่องแคล่วและนำเสนอผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนเนื้อหาและข้อมูลที่มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ข้อมูลที่เกิดจากประสบการณ์ตรงในชีวิตการเป็นเกษตรกรมาหลายสิบปี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรสามารถเรียนลัดได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เกษตรกรรุ่นเก่าเหล่านี้ได้วางแผนว่าจะไปถ่ายทอดและขยายผลให้กับลูกหลานคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เพิ่มขึ้น
หลังจากเกษตรกรผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้หลักการ เข้าใจเทคนิค มีการฝึกปฏิบัติ และนำเสนอผลงานระดับบุคคลและระดับกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญที่เกษตรกรแต่ละพื้นที่ได้ร่วมกันวางแผน กำหนดประเด็น กำหนดรูปแบบสื่อที่จะผลิตในพื้นที่ของตนเอง ตัวอย่างเช่น เกษตรกรกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร จังหวัดชัยนาท เลือกที่จะผลิตสกู๊ปวีดีโอสั้น ความยาว 3-4 นาที สัมภาษณ์ชาวนาในพื้นที่ จำนวน 3 กรณี โดยเลือกประเด็นปัญหาด้านหนี้สินชาวนาที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเช่าที่ดินเพิ่มเติม
โดยเป้าหมายหลักทางกลุ่มฯต้องการสื่อสารสาเหตุปัญหาด้านหนี้สินชาวนากับความสัมพันธ์จากการมีที่ดินขนาดเล็ก และการเช่าที่ดิน และเพื่อให้การสื่อสารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องพูดถึงข้อเสนอแนะและตัวอย่างรูปธรรมของชาวนาที่มีการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
อนึ่งเกษตรกรแต่ละพื้นที่จะร่วมดำเนินการผลิตและทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการแบ่งบทบาทความรับผิดชอบ เช่น การเขียนบทหรือสคริปต์โดยละเอียด การถ่ายภาพ การตัดต่อ การบันทึกเสียง เป็นต้น และมีการกำหนดระยะเวลาขั้นตอนต่าง ๆ จนไปสู่การเผยแพร่
ในช่วงสุดท้ายของการฝึกอบรม เกษตรกรผู้เข้าร่วมได้สะท้อนความคิดเห็นออกมาว่า “การสื่อสารด้วยตัวเกษตรกรเมื่อก่อนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่คิดว่าเกษตรกรที่ไม่เคยมีประสบการณ์จะทำได้หรือทำออกมาได้ดี เมื่อได้สัมผัสจึงพบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป หากได้เข้าใจหลักการ เทคนิคและแนวทางที่เหมาะสมกับเกษตรกร การฝึกอบรมทำให้เห็นถึงความสำคัญว่า พลังของการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้”
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 28 ตุลาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.