ในปัจจุบัน ประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่มีหลายแง่มุมที่ยังต้องมีการพัฒนา ทั้งเรื่องโครงสร้างทางสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การกระจายรายได้ และการเข้าถึงที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ย่อมต้องมีการศึกษาข้อมูล และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดและนำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถใช้ได้จริง ในหลายครั้ง การอ่าน การศึกษาข้อมูล เราสามารถค้นคว้างานวิจัย จากนักวิชาการแขนงต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้น มีที่มาจากความสนใจของตัวนักวิชาการเองหรือแม้กระทั่งทฤษฎีต่าง ๆ ในตำรา ซึ่งสามารถนำผลการศึกษามาอ้างอิงได้มากมาย
แต่ยังมีงานวิจัยในอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือเกษตรกร เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของเกษตรกรเอง นั่นคืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมีมูลนิธิชีวิตไท และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและคอยสนับสนุนด้านกระบวนการอย่างใกล้ชิด ซึ่งในขณะนี้มีกลุ่มชาวบ้านที่กำลังเริ่มต้นพัฒนาโจทย์โครงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรผ่านกระบวนการกลุ่มของตนเอง ซึ่งมีบริบทพื้นที่และสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มการเกษตรครบวงจร จากตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท กลุ่มคลองเข้พัฒนา ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มพัฒนาเกษตรกร ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มเกษตรรวมใจ ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มเกษตรกร แต่ละพื้นที่ ย่อมมีความแตกต่างและมีแนวทางเป็นของตนเอง ทั้งความแตกต่างในเรื่องมูลเหตุและที่มาของปัญหาหนี้สิน ปัจจัยพื้นฐานด้านการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร ความแตกต่างเชิงกายภาพ ภูมิศาสตร์ เรื่องชนิดของดิน ซึ่งส่งผลให้แต่ละพื้นที่มีพืชเศรษฐกิจ และผลิตผลที่ต่างกัน
อย่างไรก็ตามมีปัจจัยร่วมที่ทุกกลุ่มเกษตรกรต่างมีเหมือนกัน นั่นคือ มีการรวมกลุ่ม การจับมือเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข้งให้กลุ่ม และพื้นที่ของตนเอง โดยมีเป้าหมายหลักของกลุ่มคือการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่หมักหมมและสั่งสมมาอย่างยาวนาน
ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเนื่องมาจากเกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เกิดขึ้นจากนโยบายและการส่งเสริมที่ผิดพลาดของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพใหม่ ๆ ที่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งในแนวทางนี้ท้ายที่สุดเกษตรกรก็เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงและแบกภาระปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น
งานวิจัยของเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ที่กำลังเริ่มต้นในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น ย่อมแตกต่างไปจากงานวิจัยที่มาจากนักวิชาการในแขนงต่าง ๆ นั่นคือ องค์ความรู้ต่าง ๆ มาจากประสบการณ์จริง ทั้งในด้านปัญหาหนี้สิน ปัญหาการประกอบอาชีพ ปัญหาที่เกิดขึ้นของการทำการเกษตร ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และองค์ประกอบในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนถอดออกมาจากตัวเกษตรกรเอง เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากคนใน ดังนั้นแง่มุมต่าง ๆ ย่อมแตกต่างจากงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากมุมมองของคนนอก
นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากภายในกลุ่มเกษตรกรเอง ยังสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกร และนำไปสู่การจับมือกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างกลุ่มเกษตรกร และขยายผลให้กว้างขวางไปกว่าระดับภายในของแต่ละกลุ่ม
จากความร่วมมือในการทำงานวิจัยของเกษตรกรในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าสังคม จะยังมีปัญหาโครงสร้าง หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำใด ๆ ไม่ว่าปัญหาของเกษตรกรจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในยุคสมัยใด ภาคประชาชนที่ยังคงไม่ยอมแพ้ รวมกลุ่ม จับมือทำงานร่วมกัน ย่อมมีความเข้มแข็ง มีความหวัง และจะข้ามผ่านมันไปได้ในที่สุด
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 14 ตุลาคม 2559