การขออนุญาตสำรวจและขอประทานบัตรผลิตแร่ชนิดต่างๆของธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศไทย โดยเฉพาะเหมืองแร่โปแตซกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความกังวลใจให้กับเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง เนื่องจากการขาดความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งบริษัทเอกชนในการชี้แจงข้อมูล เปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องและเปิดให้ชุมชนท้องถิ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลและตัดสินใจในการจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน อย่างที่ควรจะเป็น
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอวานรนิวาส อีกพื้นที่หนึ่งที่ภาครัฐได้มีการให้ใบอนุญาตอาชญาบัตรเหมืองแร่โปแตซ กับบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตซ: คอร์เปอเรชั่น โดยที่ภาคชุมชนท้องถิ่นยังไม่มีส่วนร่วมรับรู้แต่อย่างใด ภาคประชาชนกว่า 40คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เพื่อติดตามและร้องขอเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษสำรวจซึ่งจะระบุรายละเอียดการเจาะสำรวจว่าจะมีกี่หลุม ตรงไหนบ้าง ด้วยวิธีการอย่างไร และเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนท้องถิ่นในฐานะเจ้าของทรัพยากรและเป็นกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบควรต้องรับรู้
บริษัทไซน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช พื้นที่116,875 ไร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี2558 ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร คือ ตำบลศรีวิชัย ตำบลคอนสวรรค์ ตำบลนาคำ ตำบลวานรนิวาส ตำบลขั่วก่ายและตำบลโพธิ์ชัย และที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มเข้ามาดำเนินการสำรวจ เช่นการปักธงเพื่อจับพิกัดจีพีเอสที่ดินของชาวบ้านหลายคน ซึ่งการสำรวจโดยไม่มีการชี้แจงของภาคเอกชน ได้สร้างความสับสนและหวั่นวิตกกับคนในชุมชนว่าบริษัทเข้ามาทำอะไร จะเจาะสำรวจในที่ดินของตนหรือไม่และหากเจาะจะเกิดผลกระทบในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม กระทบแหล่งอาหารตามธรรมชาติ หรือทำให้สูญเสียที่ดินหรือไม่จนกระทั่งกลายเป็นความตึงเครียดระหว่างชาวบ้าน ภาครัฐและบริษัทเอกชนอย่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2559เป็นต้นมา
นายศตานนท์ ชื่นตา แกนนำชาวบ้านที่มายื่นหนังสือเพื่อขอให้ภาครัฐชี้แจงข้อมูล กล่าวว่า “แม้การมาพบส่วนราชการครั้งนี้จะมาโดยมิได้นัดหมายกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดล่วงหน้า แต่ก็ทำให้ได้พบกับอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เพราะที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านเคยยื่นหนังสือเพื่อขอข้อมูลสัญญาสำรวจและผลิตโปแตชของบริษัทเอกชนและเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรสำรวจฯ กับส่วนราชการไปแล้วแต่ส่วนราชการก็เงียบหายไปไม่มีอะไรคืบหน้า”
นายศตานนท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมาชาวบ้านเกิดความสับสนและกังวลใจอย่างมากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านของเรา กับคนวานร เราจึงอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ ข้อมูลขั้นตอนการสำรวจแร่ แผนที่จุดที่ต้องการสำรวจตามเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ และต้องการให้มีการเปิดเผยสัญญาสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชระหว่างรัฐบาลและบริษัทให้ชาวบ้านได้รับทราบ
และชาววานรนิวาสเคยได้ยื่นหนังสือร้องขอให้มีเปิดเผยสัญญาและสิทธิ ในการสำรวจแร่โปแตชวานรนิวาสไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ แม้เวลาล่วงเลยมาแล้วหลายเดือนวันนี้จึงได้รวมตัวกันเพื่อมายื่นหนังสือ ขอให้เปิดเผยสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจแร่อีกครั้งหาก ว่าการร้องขอตามช่องทางปกติในครั้งนี้ยังไม่เป็นผล เรามีความจำเป็นจะต้องขอใช้สิทธิตามพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 เพื่อให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงให้กับเราว่าเขาจะมาทำอะไรกับบ้านเราบ้าง”
การเรียกร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลสัญญาสำรวจและผลิตแร่โปแตชของกลุ่มชาวบ้านวานรนิวาส ได้รับการชี้แจ้งจากนายอำนวย สุวรรณรักษ์อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร ซึ่งออกมารับหนังสือด้วยตนเองว่า "อำนาจในการอนุมัติโครงการและให้ข้อมูลสัญญาฯอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้นตนเองทำได้เพียงการทำหนังสือแนบส่งให้ส่วนกลางเป็นการด่วน นอกจากนี้ ยังกล่าวกับกลุ่มชาวบ้านว่า 'อย่าได้กังวลใจ'
เนื่องจากยังอยู่เพียงขั้นตอนของการสำรวจ เพื่อประเมินศักยภาพและความคุ้มทุนยังไม่ได้อนุมัติให้ดำเนินการขุดเจาะ ซึ่งยังต้องมีการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน" ซี่งแน่นอนว่าคำปลอบใจของอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร ไม่สามารถทำให้กลุ่มเกษตรกรคลายความกังวลต่อผลกระทบจากเหมืองโปแตซ ที่จะเกิดขึ้นกับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร อากาศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้
ชาวบ้านบางส่วนให้ข้อมูลกับอุตสาหกรรมจังหวัดว่าบริษัทไซน่าหมิงต๋าฯ ได้มีการนำธงสำรวจของบริษัทฯไปปักไว้บนที่ดินของชาวบ้านโดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งนายอำนวย อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครไม่ได้รับรู้ข้อมูลนี้มาก่อน แต่ให้คำแนะนำกับชาวบ้านว่า ในกรณีแบบนี้ชาวบ้านสามารถแจ้งความเอาผิดกับบริษัทเอกชนได้ถือเป็นการละเมิดสิทธิในที่ดินของชาวบ้านโดยชาวบ้านชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า ได้มีการแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้แล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆจากทางตำรวจ และทางบริษัทเอกชนเองก็กล่าวกับชาวบ้านว่าถึงแม้จะมีการนำธงของบริษัทออกแต่บริษัทก็ได้บันทึกข้อมูลจีพีเอสและทำพิกัดดาวเทียมไว้แล้ว
ชาวบ้านอีกรายที่มาร่วมพูดคุยกับอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร นางม่วย บุญศิริ วัย 61 ปี ชาวบ้านหินกอง ตำบลวานรนิวาส กล่าวว่า ตนต้องการรักษาสิทธิของตนเองและสิทธิของคนอำเภอวานรนิวาสและมาเพื่อรักษาที่ดินที่เป็น”มูลมัง”ของพ่อแม่ ซึ่งหากเกิดเหมืองโปแตชไม่เพียงที่ดินของตนจะได้รับผลกระทบแต่แหล่งหากินหาอยู่ เห็ด ผักและหน่อไม้ ตลอดจนแหล่งน้ำธรรมชาติก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน "แม่เคยมีประสบการณ์ตอนเขามาสร้างอ่างเก็บน้ำหินกอง ต้องสูญเสียที่ดินไปกว่า 72 ไร่ เพราะน้ำท่วมแม่สิบ่ยอมให้ที่ดินที่เหลือต้องเสียหายอีก บ่ว่าสิหลายหรือน้อยกะบ่ยอม"
ในระหว่างการพูดคุยระหว่างอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครกับกลุ่มชาวบ้าน ถึงกับมีชาวบ้านรายหนึ่งตะโกนออกมาว่า “มันอุกใจ (อัดอั้นตันใจ/ทุกข์ใจ ) นายเข้าใจบ่ เฮาบ่อยากได้เหมืองนายซ้อยเฮาแหน่” สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจอย่างมากของชาวบ้านในพื้นที่ที่จะมีการสร้างเหมือง และต้องการให้หน่วยงานรัฐเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือ จากผลกระทบที่จะเกิดจากบริษัทเอกชน
สิทธิพื้นฐานที่ชุมชนท้องถิ่นและคนวานรนิวาสเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลและสัญญาการผลิตเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่ ไม่ได้เกินเลยสิ่งที่ควรจะเป็น และชุมชนท้องถิ่นควรจะได้รับรู้ข้อมูล ถูกปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่พวกเขาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ
หรือว่า มีเหตุผลอันใดอีก ที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเปิดเผยสัญญาสำรวจและผลิตแร่โปแตซ ให้คนวานรนิวาสสามารถรับรู้ได้ !!
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 7 ตุลาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.