เมื่อวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ งานนี้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและบอกกล่าวกับสังคมว่าทำอะไรไปบ้าง โดยเจ้าภาพหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วม เนื่องจากสนใจในวาระหลักของการจัดงานในปีนี้เรื่อง “การเชื่อมโยงองค์ความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน” หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ก็คือ “งานวิจัยเพื่อตอบโจทย์พื้นที่ โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วม” นั่นเอง
หากพูดถึงงานวิจัย คนธรรมดาทั่วไปอาจจะนึกภาพไม่ค่อยออก แต่งานวิจัยถือเป็นต้นทุนอันทรงคุณค่าที่จะผลักดันให้เราทำอะไรในทิศทางใด โดยมีงานวิจัยที่ถูกต้องรองรับ ไม่ใช่การลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ แต่งานวิจัยจะไร้คุณค่ามากหากทำเสร็จแล้วนำผลงานไปซุกไว้บนหิ้ง ไม่ถูกออกมาทำให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะงานวิจัยในประเด็นทางสังคม เพราะเมื่อเก็บไว้นานเกินไป ก็จะหมดอายุลง หากคิดจะนำมาใช้ก็อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบันเสียแล้ว
มีข้อมูลเชิงตัวเลขที่ผู้เขียนเก็บตกได้จากการเข้าร่วมเวทีมหกรรมงานวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญที่ต้องมีการปรับแนวทางและกระบวนการวิจัยเพื่อตอบโจทย์พื้นที่หรือควรมีงานวิจัยที่ทำร่วมกับพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น นั่นคือ ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่รัฐให้การสนับสนุนประมาณ 340,000 ผลงาน แต่มีการนำผลงานวิจัยเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น นั่นคือมีผลงานวิจัยอีกว่าร้อยละ 60 หรือกว่า 200,000 ผลงาน ที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์หรือถูกเก็บไว้บนหิ้ง
เมื่อพูดถึงโจทย์ระดับพื้นที่ ในที่นี้ผู้เขียนมีความสนใจเฉพาะเจาะจงไปที่ปัญหาของชาวนาและเกษตรกร กลุ่มคนที่ต้องเผชิญความเสี่ยงและยากจนที่สุดของสังคม สถานการณ์ปัญหาที่หนักสุดในขณะนี้คงหนี้ไม่พ้น ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เรื่องคลาสสิคที่เกิดขึ้นเป็นประจำและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวนาและเกษตรกร
สถานการณ์ล่าสุดพบว่าราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% (ปลูกมากในเขตภาคกลาง) ราคา ณ สิงหาคม 2559 เหลือเพียง 7,500-8,000 บาทต่อตัน เปรียบเทียบกับปี 2558 ราคา 8,400 บาทต่อตัน และปี 2557 ราคา 8,508 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% (ปลูกมากในเขตภาคอีสานและภาคเหนือ)ราคา ณ สิงหาคม 2559 เหลือเพียง 10,500-13,700 บาทต่อตัน เปรียบเทียบปี 2558 ราคา 14,300 บาทต่อตัน และปี 2557 ราคา 16,342 บาทต่อตัน (ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 31 ส.ค.2559)
ทั้งนี้ ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบันได้รับแรงกดดันทั้งจากปัญหาในประเทศมาจากปัญหาภายในประเทศ และปัญหาการส่งออก กล่าวคือ ปริมาณสต็อกที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์ ปริมาณการผลิตที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และภาวะแห้งแล้งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวบางส่วน
ล่าสุดในระยะ 2 เดือนต่อไป จะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ผลผลิตจะทะลักออกสู่ตลาด คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เล็งออกมาตรการแก้ปัญหา 17 มาตรการ ในวงเงินมูลค่ากว่าแสนล้าน โดยจะเน้นในมาตรการดูดซับผลผลิตให้ออกจากระบบเพื่อไม่ให้กระทบราคาข้าว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการเจรจากับสมาคมโรงสีข้าว เพื่อขอให้โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่ทำนาแปลงใหญ่ปีการผลิต 2559/60 ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 200-300 บาท แต่ทางโรงสีบอกว่าเป็นไปได้ยาก ยกเว้นว่ารัฐจะชดเชยส่วนต่างเหล่านั้น และให้ความเห็นว่า “รัฐไม่ควรโฟกัสที่ราคาข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ควรดูเรื่องต้นทุนการผลิตของเกษตรกรด้วย”
จะเห็นได้ว่าในทุกครั้งที่เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ รัฐมักจะนำเอามาตรการที่เกี่ยวกับการแทรกแซงกลไกตลาดระยะสั้นเหล่านี้มาใช้เสมอ ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จะแก้ได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการแก้โจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องวางยุทธศาสตร์ข้าว ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมทั้งระบบ โดยไม่ใช้มาตรการบังคับ แต่ควรเป็นไปอย่างสมัครใจ ทั้งนี้สามารถนำกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม เพื่อตอบโจทย์เกษตรกร และทำร่วมกับเกษตรกรในระดับพื้นที่และเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยมาสู่ข้อเสนอการแก้ปัญหาระดับประเทศ
กล่าวคือ อาจต้องมีการพัฒนาโจทย์งานวิจัยแบบมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ร่วมกับชาวนาและเกษตรกร รวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันตอบโจทย์ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเชิงระบบ เช่น การกำหนดปริมาณการผลิตข้าวที่เหมาะสมในแต่ละปีแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งปริมาณสต็อกปลายปีที่ผ่านมา การกำหนดปริมาณการผลิต เกี่ยวโยงไปถึงปริมาณพื้นที่ที่จะปลูกข้าวและสภาพตลาด
โดยหลักการคือ เพื่อความมั่นคงเชิงเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกร เกษตรกรควรต้องลดการพึ่งพิงการปลูกข้าวขายเพียงอย่างเดียว สนับสนุนทางเลือกการผลิตและการตลาดที่หลากหลาย มีการบริหารจัดการการผลิตจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การลดต้นทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต โดยการรวมกลุ่ม หรือการหารายได้ทางอื่น ๆ เพื่อชดเชยกับการจำกัดหรือควบคุมพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งนี้เพื่อให้ชาวนาและเกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของการค้าเสรี
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 16 กันยายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.