เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้จัดเวทีประชุมสมัชชา “เหลียวหลัง แลหน้า ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน” ในมุมมองของผู้เขียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่พึ่งเข้ามาอยู่ในแวดวงขบวนองค์กรพัฒนาเอกชนได้ไม่นาน รู้สึกเป็นที่น่าชื่นชมที่ยุคนี้ยังมีกลุ่มคนที่ร่วมมือร่วมใจ และประสานงานกันทำงานตามความเชื่อของตนอย่างเข้มแข็ง
ภายในงานมีการร่วมพูดคุยในหลายประเด็น เช่น การแลกเปลี่ยนนำเสนอสถานการณ์ของชุมชนและคนทำงานในแต่ละพื้นที่ การพูดคุยถึงทิศทาง บทบาทการทำงานของ NGOs และ กป.อพช. และประเด็นการพูดคุยที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ “การสานต่อการทำงานเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่”
ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่ง แสดงความเห็นเอาไว้ว่า “ดูเหมือนคนรุ่นใหม่ จะไม่ค่อยสนใจงานพัฒนา หรืองานด้านสังคมเท่าที่ควร” ผู้เข้าร่วมประชุมอีกท่าน ก็ได้ให้ทรรศนะที่น่าสนใจเอาไว้ว่า “เป็นเพราะเกณฑ์ช่วงอายุ(Generation) ซึ่งเป็นตัวกำหนดการแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ๆ เพราะคนต่างช่วงอายุกันมีความต้องการในชีวิตที่แตกต่างกัน”บ้างก็บอกว่า “เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่เคยเจอสงคราม เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี พร้อมกับเสรีภาพ โดยไม่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา หรือรักสบาย ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่สังคมน้อยลง” คำว่า “คนรุ่นใหม่” ในที่นี้คืออะไร คุณโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เคยได้อธิบายเรื่อง Generation เอาไว้ว่า คำนี้มาจากวิชาประชากรศาสตร์ (Population) เป็นแขนงของวิชาสังคมวิทยา (Sociology) และ Generation Y คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2543 เป็นกลุ่มคนที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์-อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีไอที เพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบและเงื่อนไข ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและหน่วยงานอย่างไร มีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร สามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน
เมื่อว่ากันตามเกณฑ์ช่วงอายุที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเองก็เกิดในเกณฑ์ช่วงอายุที่เรียกว่า เจนวาย ฉะนั้น จึงอยากจะขอกล่าวอะไรบางอย่าง แต่สิ่งที่จะกล่าว ผู้เขียนมิได้ เป็นตัวแทนคนทั้ง Generation หรือเป็นตัวแทนของคนเพศใดหรืออาชีพใดทั้งสิ้น ในทรรศนะของผู้เขียน ผู้เขียนมักถูกมองด้วยสายตาของผู้ใหญ่บางคนว่า ไม่สนใจความเป็นไปของสังคม แต่ในช่วงวัยของผู้เขียนเอง ผ่านทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองมาหลายครั้ง ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดเช่นกัน การที่ผู้ใหญ่บางคนจะบอกอย่างเหมารวมว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจสังคม สนใจแต่ตนเอง หรือรักสบาย จึงอาจจะไม่เป็นความจริงเท่าใดนัก
สมัยเรียนผู้เขียนเองได้รับการสอนสั่งจากระบบการศึกษาว่า ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่สถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เมื่อเคยผ่านการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง, เมื่อพบว่า ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2535 รวมทั้งกรณีตากใบ หรือกรณีมัสยิดกรือเซะ ก็ตาม ทำให้ผู้เขียนเองตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจเคยเป็นของปวงชนจริงหรือไม่?
Robert Guest บรรณาธิการ the Economist เคยกล่าวไว้ว่า เยาวชนในยุคสมัยนี้ คือ Generation Uphill ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ และต่อสู้ดิ้นรน เช่นกัน เพียงแค่เป็นไปต่างรูปแบบจากคนรุ่นก่อนด้วยบริบทแวดล้อมในปัจจุบัน ในแง่เศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา โอกาสทางการงาน การถูกปิดกั้นจากคนที่อาวุโสกว่า ปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้น ค่าที่อยู่อาศัยก็แพงขึ้น คนหนุ่มสาวจึงที่หวังจะทำงานเพื่อได้เงินมาก ๆ และมีโอกาสทางสังคม
ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุ (aging society)ของประเทศไทย การแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น คนอายุยืนมากขึ้น ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจทั้งระดับมมหภาคและจุลภาค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) รายได้ประชากร เศรษฐกิจระดับครัวเรือน การออม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ในสังคม เป็นแรงงาน (workforce) ที่มีจำนวนน้อยในสังคมและต้อง เลี้ยงดู เกิ้อหนุนด้านภาษี (subsidize) คนในสังคมจำนวนมาก
นอกจากนั้น วัยผู้ใหญ่ยังเป็นวัยที่สะสมความมั่งคั่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจหรืออำนาจเอาไว้ และยังมีการรวมศูนย์อำนาจ และระบบอุปภัมภ์ ที่มักจะให้ลูกหลานหรือคนรู้จักสืบต่อทั้งการเงิน การงาน หรือการเมือง แล้วความสามารถและการทำงานหนักจะมีความหมายอะไร?
มิหน้ำซ้ำยังมีการถือครองความจริง (grand narrative) ของวัยผู้ใหญ่ ซึ่งได้ยึดถือความจริง คุณค่า มาตรฐานศีลธรรม อุดมการณ์ ให้คนรุ่นใหม่ได้เดินตาม ตั้งแต่เรื่องทรงผม ไปจนถึงวิธีการใช้ชีวิต ว่าควรเป็นแบบใด ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม 12 ประการ หรือการสานต่องานด้านสังคมเองก็ตาม ที่มีแนวความคิด มีคุณค่าอะไรบางอย่างไว้ให้คนรุ่นใหม่เดินตามอยู่แล้ว
ในกรณีนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เคยกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็น comfort zone อันทรงคุณค่าของพวกเรา (ขบวนการภาคประชาสังคมของไทย) เราจึงมีเวที มีภาษา มีลีลา ที่แม้จะเปี่ยมด้วยคุณค่า (ที่เราเชื่อ) แต่ก็แทบจะไม่ได้นำคุณค่านั้นไปแลกเปลี่ยนในรูปแบบที่เราไม่ถนัด เราแทบไม่เคยทำงานร่วมป็อบคัลเจอร์หรือวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างจริงจัง เราคุ้นเคยกับการตั้งคำถามต่อป็อบคัลเจอร์อยู่ห่างๆ (เช่น ทำไมต้องไล่จับโปเกม่อน?) มากกว่าการร่วมคิด/ร่วมเสนอถึงสิ่งที่เปี่ยมคุณค่ามากกว่านั้น (เช่น เราจะใช้เทคโนโลยี augmented reality ที่ใช้ในโปเกม่อนโก เพื่องานจิตอาสาได้อย่างไร?)
ทั้งที่ความจริง ความดี ของสังคมสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับโลกที่เคยแบน โลกที่เคยเป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกที่เคยเชื่อว่าคนไม่สามารถบินได้ ความจริงของสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง ความจริงมีการโต้แย้ง เห็นต่าง และนำไปสู่ความจริงอื่น ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้เขียนจึงเกิดข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่ รักสบายจริงหรือไม่? ไม่สนใจความเป็นไปของสังคมจริงหรือไม่? หรือแท้จริงสนใจ แต่เราเพียงแค่เหนื่อยหน่าย หรือรู้สึกไม่มั่นใจในระบบ ไม่มั่นใจว่าเสียงของเราจะมีความสำคัญอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความมั่นใจว่า การสานต่องานด้านสังคมเองก็ตาม หรือสิ่งต่าง ๆ ในสังคม มันจะไม่สูญสิ้นไป แม้ว่ารูปแบบบางอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ยังมีผู้คนที่สนใจความเป็นไปของสังคมอยู่เสมอ ขอเพียงเชื่อมั่นในสติปัญญา ในข้อสงสัย ในการถกเถียง และในตัวคนรุ่นใหม่
(ภาพจาก : www.thaivolunteer.org)
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 9 กันยายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.