ในยุคสมัยที่ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่การพัฒนาเศรษฐกิจ เหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุมชนชนบทหลายแห่ง ที่เคยมีวิถีเรียบง่ายและเป็นสุข จึงอาจต้องเผชิญกับสิ่งแปลกปลอมใหม่ๆ ที่เข้ามาพร้อมกับการพัฒนาไม่ว่าพวกเขาจะยินดีหรือไม่ก็ตาม ถึงกระนั้นก็อาจมีบางชุมชน ที่มีบทเรียนเพียงพอแล้วสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของพวกเขา และเลือกที่จะบอกกับรัฐอย่างชัดเจนว่า ชุมชนของพวกเขาขอเลือกที่จะมีการพัฒนาแบบหยุดการพัฒนา เพราะการพัฒนาได้เดินมาถึงจุดที่ชุมชนของพวกเขารับต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว
ชุมชนอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่บริเวณไข่แดงล้อมรอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานกลั่นน้ำมันและท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ซึ่งมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกในช่วงนั้นปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้านดั้งเดิม มีพื้นที่หากินในทะล เหลืออยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่หากินที่เคยมีอยู่เดิม บริเวณอ่าวและชายฝั่งเต็มไปด้วยท่าเรือของบริษัทเอกชนที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อขนถ่ายสินค้าจากทะเลขึ้นสู่ฝั่ง ซี่งอยู่ในบริเวณเดียวกับพื้นที่หากินของชาวประมงอ่าวอุดมนั่นเอง
ชุมชนประมงอ่าวอุดมแห่งนี้ ในยุคที่การพัฒนา หรือ“นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ” ยังเข้าไปไม่ถึง เคยมีรายได้จากการหาปลาตามฤดูกาล ทั้ง ปลาทู ปลากะตัก ปลากระบอก ปลาสำลี ปลาอินทรี ปลาสาก ปลาหมึกกล้วย กุ้งแช่บ๊วย หอยนางรม และ ปูม้า ตกครอบครัวละประมาณ 25,000-30,000 บาท ต่อเดือน มีรายได้รวมทั้งชุมชนกว่าหนึ่งพันหลังคาเรือนถึงปี 21-22 ล้านบาท แต่เมื่อการพัฒนาเดินทางมาถึง มีการตัดถนนจากชุมชนอ่าวอุดมไปยังถนนสุขุมวิท ซึ่งมีระยะทางเพียง 16 กิโลเมตร บริษัทน้ำมันไปเข้ามาทยอยซื้อที่ดินบริเวณรอบชุมชนในราคาไร่ละ 30,000 –40,000 บาท และตั้งท่าเรือแห่งแรกสำเร็จในปี2504 รวมทั้งขยายกิจการเรื่อยมา ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเฟสแรกที่ทำสำเร็จในปี2534 ก็มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเฟสที่ 2 ตามมาในปี 2544
ในยุคสมัยที่คนชนบทไม่เข้าใจว่าการพัฒนาคืออะไร เมื่อมีถนนตัดผ่านเข้ามาบริเวณใกล้ชุมชน และมีข่าวว่าจะมีนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากมาตั้งในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง บางคนอาจจะคิดว่านี่คือโอกาสของลูกหลานที่จะได้ทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรม และมีแหล่งจ้างงานจำนวนมากที่อยู่บริเวณใกล้เคียงชุมชน ทำให้ลูกหลานไม่ต้องอพยพไปทำงานไกล แต่ได้ทำงานในพื้นที่ใกล้บ้าน
แต่ชุมชนอ่าวอุดมในปี พ.ศ.ปัจจุบัน กลับไมได้เป็นอย่างที่บางคนคิดเอาไว้ในช่วงนั้น ปัจจุบัน มีแรงงานอพยพจาก กัมพูชา และชาติอื่น ราว 40,000 คน เป็นประชากรแฝงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนอ่าวอุดม มีการสร้างสะพานท่าเรือเพื่อรับและส่งสินค้าของบริษัทน้ำมันและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 9 สะพาน บางสะพานมีความยาวถึง3 กิโลเมตรจากชายหาด ซี่งสะพานท่าเรือเหล่านี้ได้กีดขวางการเดินเรือของชาวประมงเลียบแนวชายฝั่ง เป็นผลให้พื้นที่ทำประมงในอ่าวอุดมลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 ทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าอ่าวและปลาเศรษฐกิจหายไปจากอ่าวอุดม เช่น หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาเห็ดโคน ปลาเก๋า ปลาอั้งเกย ปลากระพงแดง ปลากระพงปาน และปลากะตัก เป็นต้น
นอกจากนั้นชาวบ้านบางส่วนต้องเช่าที่ที่ตนเองขายไปเพื่ออยู่อาศัย เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทเอกชนที่ทำกิจการท่าเรือ โรงงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กับภาคชุมชน ทั้งยังมีปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายโดยรอบพื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งมีการตรวจพบสารตกค้างในร่างกายของคนในชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ
มาถึงวันนี้ ชาวบ้านที่อ่าวอุดมได้เรียนรู้แล้วว่า การพัฒนาหมายถึงอะไร นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่มาตั้งล้อมชุมชน ไม่ได้หมายถึงอนาคตที่สดใส และการมีงานทำของลูกหลานแบบที่เคยเข้าใจอีกต่อไป คนในชุมขนอ่าวอุดมวันนี้ ได้สรุปบทเรียน และรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อนตะวันออก เพื่อเรียกร้องให้โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทท่าเรือ และโรงงานน้ำมัน รับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การทำมาหากินและสุขภาพของคนในชุมชน มีการพัฒนาธรรมนูญชุมชน หรือกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนในพื้นที่อ่าวอุดม รวมทั้งมีกลไกการทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนบางแห่ง เพื่อติดตามกำกับการดำเนินงานของบริษัทและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนด้วย
แม้ว่าภาคชุมชนจะสรุปบทเรียนแล้วว่านิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเขตพิเศษ หรือเขตธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กลับสร้างความเดือดร้อน และปัญหาให้กับชุมชนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งรัฐมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชนมากขึ้นเท่าใด ชุมชนก็ต้องคอยแก้ไขปัญหาที่ตามมากับการพัฒนาเหล่านั้นอย่างไม่จบสิ้น คำกล่าวที่ว่า “การพัฒนาที่ไม่ต้องพัฒนา” จึงอาจจะเป็นคำกล่าวที่จริงใจที่สุดแล้ว ที่ชุมชนอยากจะบอกกับรัฐบาลในตอนนี้ก็เป็นได้
(ขอบคุณข้อมูล: เครือข่ายรักษ์อ่าวอุดม และ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก)
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 2 กันยายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.