การรวมตัวกันของเกษตรกรนับเป็นแนวทางสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรและเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน เพราะการรวมตัวกันจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรอง ทั้งในด้านการผลิตและการตลาดนอกจากนี้ยังนำมาซึ่งความร่วมมือกันของหมู่คณะในการหนุนช่วยซึ่งกันและกัน การพัฒนาระบบการทำงานเป็นกลุ่ม การวางแผนการจัดการ เอื้อประโยชน์ต่อการหาแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนจากภายนอก
ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของชาวนาและเกษตรกรทั่วโลก สามารถทำให้ชาวนาและเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกประเทศจะมีองค์กรสำคัญของชาวนาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนภารกิจของชาวนา
บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการสัมมนาเรื่อง “โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับ” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 โดยขอหยิบยกเนื้อหาสำคัญที่ได้เรียนรู้คือประสบการณ์และบทเรียนความสำเร็จจากการรวมกลุ่มของชาวนาญี่ปุ่น นั่นคือ ในอดีตชาวนาญี่ปุ่นเน้นการทำนาแบบส่วนตัวหรือต่างคนต่างทำเป็นหลัก ทำให้ขาดการบริหารจัดการผลผลิตที่ดี ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตล้นตลาด(แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีนโยบายจำกัดการผลิต) ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ประกอบกับชาวนาส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น คนรุ่นใหม่ไม่เข้าสู่ภาคเกษตร จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาญี่ปุ่นรวมตัวกันผลิตและทำการตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะประสบผลสำเร็จไม่ได้หากไม่มีแผนงานเชิงนโยบายและการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
ในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนงานนโยบายหลักด้านการเกษตรของประเทศ 4 ประการ ซึ่งเรียกว่า นโยบายเกษตร 4 เสาหลัก เสาหลักที่ 1 ขยายความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เสาหลักที่ 2 เพิ่มมูลค่าผลผลิตอย่างเท่าทวีคูณ โดยใช้นวัตกรรมใหม่ เสาหลักที่ 3 สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มเกษตรกร เสาหลักที่ 4 จัดสรรงบประมาณสำหรับท้องถิ่น เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเมืองและชนบท และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการเกษตรในท้องถิ่น
ทั้งนี้เนื้อหาและประเด็น แนวนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำและสะท้อนสู่บทเรียนการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทย เนื่องจากเห็นว่าแนวทางการรวมกลุ่มเกษตรกรถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ความมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร
โดยแนวนโยบายการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรของรัฐบาลญี่ปุ่น มีเป้าหมายที่กำหนดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์ปัญหาภาคเกษตรกรรรมของประเทศ คือ ขนาดพื้นที่การเกษตรมีน้อย จึงส่งเสริมการรวมพื้นที่การเกษตรและใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรให้คุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากเดิมร้อยละ 50 เพิ่มเป็นร้อยละ 80 ขาดแคลนแรงงาน เพิ่มจำนวนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จากเดิม 2 แสนคน เพิ่มเป็น 4 แสนคน การรวมกลุ่มทำเกษตรแบบครบวงจร เพิ่มจำนวนกลุ่มนิติบุคคลด้านการเกษตร จากเดิม 12,500 บริษัท เป็น 50,000 บริษัท ความสามารถด้านการแข่งขัน ลดต้นทุนในการผลิตข้าวจากเดิม 5,440 บาทต่อตัน ลดลงอีกร้อยละ 40 เหลือ 3,264 บาทต่อตัน
ผลสำเร็จหรือผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มของชาวนารายย่อยญี่ปุ่น หากเปรียบเทียบผลประโยชน์ระหว่างการทำเกษตรแบบต่างคนต่างทำ กับการรวมกลุ่มเกษตรกรแล้ว พบว่าชาวนาและเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มจะได้รับประโยชน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนี้
1. การรวมกลุ่มช่วยให้การปลูกข้าว การบริหารจัดการ และจัดจำหน่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพ ผลผลิตเป็นมาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ยกตัวอย่าง เช่น แต่เดิมชาวนาต่างคนต่างทำมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อราย เมื่อมีการรวมกลุ่มกันทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านบาทต่อราย
2. การรวมกลุ่มช่วยให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัด กลุ่มเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อนำเงินไปลงทุนด้านสร้างโรงเรือน และซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ตรงตามข้อกำหนดของรัฐบาล ร้อยละ 30-50 พร้อมทั้งได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร
3. การรวมกลุ่มช่วยให้สมาชิกในกลุ่มได้พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
4. การรวมกลุ่มช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด จากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถที่จะแปรรูปผลผลิตและสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค และหาช่องทางจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง
นอกจากนี้การรวมกลุ่มเกษตรกรยังมีประโยชน์ด้านอื่น ได้แก่ ในการสร้างจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น โดยการนำเอาระบบการจ่ายเงินเดือนมาใช้ มีการจ้างงานตลอดปี เข้าร่วมระบบประกันสังคมได้ สร้างความเชื่อถือในธุรกิจ มีการกำหนดเวลาทำงาน ได้รับการลดหย่อนภาษีจากรัฐ และสามารถขยายขนาดธุรกิจให้เติบโตได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้มีบทเรียนการหนุนเสริมความเข้มแข็งการรวมกลุ่มของเกษตรกรญี่ปุ่นที่สำคัญ คือ แนวทางการส่งเสริมของภาครัฐจะไม่ใช้วิธีการบังคับ ไม่ยัดเยียดความรู้หรือเทคโนโลยี แต่รัฐจะให้เกษตรกรเป็นผู้เลือกเอง หรือรัฐให้งบสนับสนุนกับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเอกชน ไปทำงานแทนรัฐ หรือร่วมมือกันในการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยี โดยรัฐจะดูแลว่าเป็นไปอย่างประสานประโยชน์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีการเอื้อประโยชน์อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี
แม้ว่าสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวนาญี่ปุ่นและชาวนาไทยจะต่างกันจำนวนเกษตรกรและประชากรภาคเกษตรของญี่ปุ่นมีอยู่น้อย และเขาจำเป็นต้องรักษาอาชีพชาวนาและอาชีพเกษตรกรไว้เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ แต่สภาพปัญหาภาคเกษตรที่เหมือนกันนั่นคือ ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ปัญหาชาวนาสูงอายุ และคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นเกษตรกรเช่นเดียวกัน
บทเรียนความสำเร็จการรวมกลุ่มชาวนาญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อยเช่นเดียวกันชาวนาไทย ดังนั้นชาวนา เกษตรกร และภาครัฐ สามารถเรียนรู้และนำบทเรียนความสำเร็จของชาวนาญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นฐานการเกษตรบ้านเราได้หลายประการ โดยเฉพาะแนวนโยบายการหนุนเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย การพัฒนาแนวทางการปลูกข้าวให้มีคุณภาพ การพัฒนาความรู้ เครื่องจักรและเครื่องมือการเกษตรอย่างง่ายที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย การรวมกลุ่มธุรกิจของชาวนาแบบครบวงจร มีการวางแผนการผลิตและการตลาด มีความรู้เชี่ยวชาญในอาชีพของตนเองและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 19 สิงหาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.