รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ ที่ใช้นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และใช้โอกาสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (Special Border Economic Zones)
โดยในระยะที่หนึ่ง รัฐบาลได้วางเป้าหมายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 5 จังหวัด คือ 1) จังวัดตาก 3 อำเภอ 2) จังวัดสระแก้ว 2 อำเภอ 3) จังหวัดตราด 1 อำเภอ 4) จังหวัดมุกดาหาร 3 อำเภอ และ 5) จังหวัดสงขลา 1 อำเภอ
แน่นอนว่าเมื่อถูกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รัฐจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้นักลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนทำการผลิตสินค้าและบริการในพื้นที่ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์บริการโลจิสติกส์ และอื่นๆ
ซึ่งหมายความว่า พื้นที่เหล่านี้จะถูกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจแบบเข้มข้น หรือเขตอุตสาหกรรมแบบเข้มข้น ภายใต้เงื่อนไขและสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย เท่าที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment of Thailand: BOI) จะจัดสรรมาเพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนภาคเอกชนสนใจ และตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ที่รัฐกำหนดไว้เหล่านี้
แต่ไม่ใช่ว่านโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ จะประสบความสำเร็จเสมอไป ปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างประเทศมีให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่น้อยไปกว่าความสำเร็จ และโมเดลของการพัฒนาที่ถูกกล่าวถึงเช่นกัน
ประเทศที่มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่จำนวนมาก อาทิ จีน เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ อินเดีย โมร็อคโค โปแลนด์ และอื่นๆ จึงมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ที่สามารถเป็นบทเรียนที่น่าสนใจให้กับประเทศไทยได้
จีน เป็นประเทศแรกที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางถึงความสำเร็จและเป็นโมเดลของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็มีงานศึกษาหลายชิ้นที่กล่าวถึงผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้ด้วยเช่นกัน เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้น ได้ทำให้เกิดความเป็นเมืองขนาดใหญ่ในพื้นที่โดยรอบ และขยายเติบโตมากกว่า 25% ในปัจจุบัน ผู้คนได้หลั่งไหลอพยพเข้ามาหางานทำ และอยู่อาศัยกันอย่างแออัด มีโรงงานอุตสาหกรรรมจำนวนมาก ก่อให้มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และภาวะน้ำเน่าเสียที่ภาครัฐไม่สามารถรับมือได้
แน่นอนว่าความเป็นชนบทแบบดั้งเดิมได้สูญหายไป แม่น้ำและสายน้ำย่อยกว่า 300 สาย ที่แต่ละสายกินพื้นที่ครอบคลุมไปกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ได้ทำให้อาณาบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่เหล่านี้ ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ และประชาชนที่นั่นต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะเจ็บป่วย และสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่กว่า 17 ปี กว่าที่รัฐบาลจีนจะสามารถดำเนินนโยบายพิเศษเพื่อจัดการกับปัญหามลภาวะจากเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นนี้ได้
อินเดีย เป็นอีกหนึ่งประเทศใหญ่ ที่ใช้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงดูดนักลงทุนต่าง่ชาติ ในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดียมีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่หลายแห่ง
ในปี 2545 รัฐบาลอินเดียมีนโยบายเปลี่ยนพื้นที่ชนบทในอุตตรประเทศให้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซี่งรวมถึงเมืองโพลพาลี พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้แป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า สวนอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งผลของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจนี้ ได้ทำให้คนในพื้นที่ชนบท339 ครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องการพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและอื่นๆ จำนวนกว่า 2,500 ไร่
กระบวนการยึดคืนที่ดินของรัฐเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความไม่ยินยอมของประชาชน ตั้งแต่ปี 2544 ถึง จนปี 2548 ซึ่งที่ดินที่ถูกรัฐยึดคืนส่วนใหญ่เป็นที่ดินในเขตปฏิรูป และรัฐจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวเกษตรกรน้อยมาก จนไม่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นทำการเกษตรในที่ดินผืนใหม่ ถึงแม้เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเสนองานในโรงงานอุตสาหกรรมให้กับคนชนบทที่นั่น แต่ก็มีงานเพียงสำหรับคนหนุ่มสาวเท่านั้น และเป็นงานชั่วคราว ที่ไม่ได้มั่นคงแต่อย่างใด ชาวชนบทที่นี่ จึงต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ประสบกับปัญหาน้ำปนเปื้อนสารพิษ แหล่งน้ำในพื้นที่ไม่สามารถดื่มกินได้อีกต่อไป
รายงานการศึกษาพบด้วยว่า มีเกษตรกรจำนวน 42 ราย ซี่งสูญเสียที่ดินทำกินได้เสียชีวิตเกี่ยวเนื่องมาจากสาเหตุของความเครียด และ 5 คน ในจำนวนนี้ ฆ่าตัวตาย
ยังมีบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวในต่างประเทศอีกมาก ที่รัฐบาลไทยควรจะต้องศึกษาและเรียนรู้ เพื่อที่จะทบทวนและวางแผนให้ดีก่อนที่จะหยิบยื่นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้กับประชาชนในชนบท โดยที่พวกเขาอาจไม่เคยมีส่วนรับรู้หรือยินยอมถึงแม้รัฐบาลจะมีเป้าหมายเริ่มต้นที่ดีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
แต่การละเลยของรัฐบาลต่อบทเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนอันเนื่องมาจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ อาจทำให้เป้าหมายที่รัฐวางไว้ เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ ทางนโยบาย ที่ไม่มีน้ำหนักและไม่สามารถเชื่อถือได้ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศนั่นเอง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 12 สิงหาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.