แนวคิดการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เกิดจากการนิยามความหมายว่าที่ดินเป็นทรัพยากรส่วนรวมที่คนมีมากไปบีบขับคนมีน้อยหรือคนที่ไม่มีเลย ซึ่งปัญหาหลักเรื่องดินในสังคมไทยคือ การกระจุกตัวของที่ดินการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของคนจนและคนชั้นกลางในระดับล่างที่ดินมีการทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ชุมชนทวงคืนที่ดินที่รัฐให้สัมปทานเอกชนเนื่องจากชาวบ้านเดือนร้อนไม่มีที่ดินทำกินเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับนายทุนถือครองที่ดินจำนวนมากไว้เฉยๆ
เมื่อเร็วนี้ได้มีประกาศคำสั่งคสช.ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยทางสปก.ได้ฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ผู้ครอบครองก็ไม่ส่งมอบที่ดินให้สปก.ซึ่งในประกาศฉบับนี้ผู้ถือครองที่ดินต้องไปยื่นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทำกินต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินภายใน 15 วัน นับจากวันที่สปก.ติดประกาศคำสั่งในพื้นที่หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งทางเจ้าหน้าที่สปก.สั่งให้ผู้ครอบครองออกจากพื้นที่เป้าหมายในเวลาที่กำหนดเพื่อเข้าไปทำการสำรวจและรังวัดหรือตรวจสอบการครอบครองและการใช้ประโยชน์
ผู้คนหลายฝ่ายในสังคมเมื่อได้รับรู้ถึงประกาศฉบับนี้ของคสช.รู้สึกพึงพอใจและเห็นด้วยต่อเจตนาที่ดีของสปก.เพราะต้องการนำที่ดินที่มีผู้ครอบครองผิดกฎหมายด้วยการบุกรุกและถือครองแปลงใหญ่ นำไปรังวัดจัดสรรให้เกษตรกรยากจนต่อไป แต่สำหรับสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันได้อาศัยและทำกินในพื้นที่ของสปก.ตั้งแต่ปี2551ปัจจุบันถูกประกาให้เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ต้องดำเนินการกับผู้ถือครองผิดกฎหมายที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป ทำให้สมาชิกมีความกังวลอย่างยิ่งว่าสปก.จะนำคำสั่งนี้มาขับไล่พวกตนออกจากพื้นที่หรือไม่
แม้ตลอดระยะเวลา 9ปีที่ผ่านมาสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาได้พิสูจน์ทั้งต่อตนเองและสังคมให้รับรู้ว่าพวกเขามีความชอบธรรมในการเข้าไปประโยชน์ในพื้นที่ ดังที่ นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ อายุ 37 ปี สมาชิกร่วมขับเคลื่อนมากับชุมชนคลองไทรพัฒนาเล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านที่เข้ามาอาศัยในชุมชนเป็นชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินและสามารถรับแรงกดดันจากสังคมมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เพราะส่วนมากพวกเขาเป็นแรงงานเร่ร่อนที่ทำงานทั่วไปไม่มีสิทธิได้เลือกอะไรในสังคมมากนักจึงทำให้เขาอยู่ในชุมชนได้ ที่สำคัญคือพวกเขาต้องการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจริงๆ แต่ถ้าคนที่เข้ามาแล้วหวังที่จะมาเอาที่ดินไปขายหรือมากอบโกยผลประโยชน์ อันนี้จะอยู่ไม่ได้เพราะในความตั้งใจของเขาๆไม่ได้ต้องการมาเป็นเกษตรกร หรือเขาอาจจะมีที่อยู่แล้ว ซึ่งระเบียบที่วางไว้จะเป็นการคัดกรองคนไปในตัว”
ประกอบช่วงก่อนหน้านี้จากการต่อสู้ของเกษตรกรไร้ที่ดินส่งผลให้สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ถูกลอบยิงเสียชีวิตถึง4 คน ได้แก่ นายสมพร พัฒภูมิ เสียชีวิตเมื่อปี 2553 นางปราณี บุญรักษ์และนางมณฑา ชูแก้ว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 และนายใช่ บุญทองเล็ก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุได้ ป้าสา ภรรยาลุงใช่ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เสียชีวิตได้กล่าวไว้ในรายการเวทีสาธารณะไทยพีบีเอส ว่า“การได้อยู่บนที่ดินผืนนี้เป็นเจตนารมณ์ของสามี เพื่อให้ลูกหลานเราได้ทำกินต่อไปเราไม่ได้ต้องการอะไรมากมายขอเพียงมีที่ดินทำกินเท่านั้น”
ชุมชนตลองไทรฯ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต) เรียกร้องผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางนโยบายนำที่ดินมาจัดสรรให้คนจนมาต่อเนื่องจนมีคำสั่งเป็นแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานกับเครือข่ายองค์กรชุมชน อาทิเช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71 / 52 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จและมีมติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา (คปท.) วันที่ 11 มีนาคม 2553 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายังส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่ากระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จรวมถึงมติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)ให้ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นพื้นที่ นำรองโฉนดชุมชน
ชุมชนคลองไทรฯมีสมาชิกอาศัยทำกินในชุมชนจำนวน 70 ครอบครัว ได้มีการจัดสรรที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัดเมื่อปี 2556 มีการจัดสรรที่ดิน แบ่งเป็น 6 ประเภท 1.ที่ดินทำการเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจ 2.ปลูกพืชอาหารตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ 3.ที่อยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน 4.พื้นที่ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ตามแนวลำห้วย 5.พื้นที่ทำปศุสัตว์ และ 6.พื้นที่สาธารณะประโยชน์เช่น ถนน สระน้ำทางการเกษตร ศาลาหมู่บ้าน
นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเราไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดของ สปก. เราใช้พื้นที่แค่ 650 ไร่ จากพื้นที่สปก.ทั้งหมด 1,007 ไร่(สปก.ลงพื้นที่รังวัดล่าสุดปี 2557)ซึ่งสปก.สามารถนำพื้นที่ในส่วนที่เหลือไปจัดสรรให้กับคนที่ไม่มีที่ดินได้
นางสาวศศิธร กล่อมจิตร อายุ 37 ปี สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ เล่าให้ฟังด้วยแววที่มีความหวังว่า “เดิมทีสมาชิกเกษตรกรในชุมชนเคยเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและแรงงานรับจ้างภาคเกษตรมาก่อนและพวกเขามองว่าอาชีพเหล่านี้ ไม่มีความมั่นคง เขาอยากมาทำเกษตรกรตอนนี้ชุมชนเริ่มได้รับผลผลิตแล้วจากกล้วย ไผ่ ตะไคร้ วิถีชีวิตในชุมชนตอนนี้คือมีรายได้ มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่เราไม่ห่วงเลยถ้าเรามีที่ดินสามารถทำกินได้ แล้วชีวิตเราก็มั่นคงด้วย”
สำหรับสมาชิกชุมนคลองไทรฯและเครือข่ายยังคงเดินหน้าเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.)และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move)ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา และหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและเรียกร้องให้ การเรียกคืนพื้นที่ของสปก.ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 36/2559ต้องไม่กระทบต่อเกษตรกรคนจนผู้ยากไร้ที่อยู่อาศัยก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ซึ่งสอดคล้องกับการนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.)ของรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งมีนโยบายจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรที่ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เป็นกรรมสิทธิ์รวม และสนับสนุนการพัฒนาที่ดินทำกินและสาธารณูปโภค และถ้าที่ดินมีผู้ที่ครองทำกินอยู่แล้วก็จะพิจารณาให้ผู้ที่ครองทำกินเป็นอันดับแรก
ความประสงค์ของสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาในขณะนี้ จึงไม่ได้ขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใดธีรเนตร ไชยสุวรรณ ได้ส่งเสียงแทนสมาชิกทุกคนว่าพวกตนมีความต้องการให้สปก.ส่งมอบพื้นที่ เพราะเราไม่ห่วงถ้าเรามีที่ดิน ชีวิตเราก็มั่นคงด้วย เมื่อเรามีรายได้ ก็มีการจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่น เช่น ซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือชาวบ้านที่ไม่เคยมีที่ดินเลยเหมือนผมหรือสมาชิกคนอื่นๆและไม่เคยรู้ว่าจะได้ที่ดินทำกิน อยู่ๆสามารถปักหลักมีที่ดินทำกินได้ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนในสังคมได้
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 5 สิงหาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.