ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดถึงสถานการณ์และความคืบหน้าของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ และได้ตั้งคำถามต่อกระบวนการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นไปอย่างเร่งรัด ตัดตอน หรือกลับหัวกลับหางในขั้นตอนหรือกระบวนการที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านอำนาจพิเศษภายใต้คำสั่งคสช. มาตรา 44
นั่นคือหลายจังหวัดมีการจัดเตรียมพื้นที่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้ามาประมูลและการลงทุนของภาคเอกชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควบคู่ไปกับขั้นตอนการจัดเวทีชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับภาคเอกชนและภาคประชาชนในท้องถิ่น ขั้นตอนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ
จะเห็นได้ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นประเทศไทยขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ แม้ว่าเราจะมีประสบการณ์และบทเรียนการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่มาแล้ว เราอาจจะมองและจินตนาการภาพของการพัฒนา ความทันสมัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น จากโครงการนี้ได้ แต่เรายังมองไม่ออกว่าหากเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นมาจริง ๆ แล้วนั้น บริบทความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ดีขึ้นหรือแย่ลงขนาดไหน การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าขายของผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร
ผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่าง เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร เพื่อมาเล่าถึงความเข้าใจและการรับรู้ของคนในพื้นที่ต่อโครงการเขตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดของตนเอง
ซึ่งจากข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้นเรื่อง “เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร : ศักยภาพและความรู้ท้องถิ่นต่อการป้องกันผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร” ดำเนินการศึกษาโดยมูลนิธิชีวิตไทกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในประเด็นเรื่องความคาดหวังต่อการพัฒนาจังหวัดมุกดาหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และคนในชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม(พื้นที่เป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ) จากการศึกษาพบว่า
มุมมองภาครัฐ มองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดจากความพร้อมด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร ที่เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจุดแข็งเรื่องสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างไทยกับลาวได้อย่างสะดวก ซึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจในบริเวณชายแดนจังหวัดมุกดาหารสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยจะเห็นได้จากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาจังหวัดมุกดาหารเริ่มมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มาลงทุน เป็นผลให้มีคนจากฝั่งลาวข้ามแดนมาฝั่งไทยเพื่อซื้อสินค้าในปริมาณมากในแต่ละครั้ง ทำให้ยอดขายสินค้าในจังหวัดมุกดาหารเพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับนโยบายการปิดด่านวัฒนธรรมของจังหวัดมุกดาหาร (บริเวณที่คนไทยและคนลาวข้ามแดนระหว่างกันเพื่อไปมาหาสู่และขนส่งสินค้าเพื่อค้าขายอย่างผิดกฎหมาย) เป็นผลให้การขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยไปฝั่งลาวต้องผ่านด่านที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เท่านั้น จึงทำให้จังหวัดมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ส่งออกไปขายอย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น และด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดมุกดาหารที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐของจังหวัด มีความคาดหวังอย่างมากว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้จังหวัดมุกดาหารมีการพัฒนามากขึ้นและมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย
มุมมองภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีความคาดหวังว่า การพัฒนาระบบคมนาคมและระบบศุลกากรที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยให้เศรษฐกิจในจังหวัดสามารถเติบโตขึ้นได้ และคาดหวังอย่างมากว่า เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นแล้ว ทุนท้องถิ่น(ผู้ประกอบการท้องถิ่น) จะสามารถเติบโตได้ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีความกังวลว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีแต่นายทุนรายใหญ่ และนายทุนจากภายนอกพื้นที่ที่เข้ามาลงทุน ไม่ใช่ทุนท้องถิ่น
มุมมองภาคประชาชน สภาพัฒนาการเมืองจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนหลายภาคส่วน มีมุมมองเชิงบวกต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่มีความกังวลต่อผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนโดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดหวังว่ากระบวนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนและคนในพื้นที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมาการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นลักษณะTop-Down ภาคประชาชนและคนในพื้นที่ไม่มีโอกาสในการรับรู้และตัดสินใจแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังคาดหวังให้แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปอย่างสอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัดมุกดาหาร นั่นคือตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นเมืองสามธรรม ได้แก่ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม
มุมมองคนในชุมชน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนึกภาพไม่ออกว่าหากมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ในละแวกบ้านตนเองแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะถึงแม้ว่าจังหวัดมุกดาหารจะมีโรงงาน ได้แก่ โรงงานยางพาราเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้ตั้งบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรม จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยังนึกภาพไม่ออก หรือหากมีเส้นทางรถไฟตัดผ่านชุมชน (รถไฟสายแม่สอด-มุกดาหาร)จะเป็นอย่างไร
ถึงแม้ว่าคนในชุมชนยังนึกภาพไม่ออกว่า หากเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาแล้ว ความเป็นอยู่ บริบทในชุมชนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่พวกเขาก็มีความคาดหวังว่าเมื่อเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นแล้ว ตนเองจะมีงานทำ และลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่น จะสามารถกลับมาทำงานที่บ้าน อีกทั้งการพัฒนาระบบคมนาคมและการขนส่ง จะทำให้พวกเขาเดินทางได้ง่ายขึ้น มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นบางครัวเรือนในชุมชนระบบน้ำประปายังเข้าไปไม่ทั่วถึง ปริมาณน้ำที่ใช้มีจำกัด เพราะเพียงแค่การอาบน้ำของคนในบ้าน ยังเป็นเหตุให้สามารถทะเลาะกันได้
และสุดท้ายทั้งภาคประชาชนและคนในพื้นที่ยังคาดหวังว่า เมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะนำมาซึ่งการพัฒนาพื้นที่และช่วยให้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีความหมายที่พิเศษสมชื่อ ต้องดูที่ผลลัพธ์ว่าผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร เป็นเศรษฐกิจที่ประชาชนรากหญ้าสามารถจับต้องได้จริง หรือผลประโยชน์ตกสู่คนในพื้นที่เป็นพิเศษหรือไม่
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.