เมื่อไทยได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (ASEAN Economic Community-AEC) อย่างเต็มตัว จะเห็นได้ว่ารัฐบาล คสช. เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง ด่านศุลกากร และอื่น ๆ เพื่อรองรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีทั้งหมด10 จังหวัด ซึ่งทั้งหมดเป็นจังหวัดชายแดนเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ระยะแรก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา ระยะที่สอง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครพนม และ จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งใช้กลไกของมาตรา 44 ในการจัดการปัญหาและเงื่อนไขอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะการละเว้นกลไกทางกฎหมาย กลไกการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และกลไกการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
เป้าหมายของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนบริเวณชายแดนไทย เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นเมืองหน้าด่าน ใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดฐานการผลิตของอาเซียน ภายใต้การเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน ปัจจัยการผลิตอย่างเสรี และเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่สำคัญ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมอาเซียน
ภายหลังรัฐบาล คสช. มีการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเห็นได้ว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการโดยเฉพาะการจัดเตรียมที่ดินและการจัดประมูล เพื่อให้ภาคเอกชนมาลงทุน จังหวัดสระแก้ว จัดเตรียมที่ดินไว้แล้ว จังหวัดตราด จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย จัดเตรียมที่ดินและเริ่มเปิดประมูลให้เอกชนเสนอโครงการลงทุน จังหวัดตาก อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมที่ดิน จังหวัดสงขลาอยู่ระหว่างตรวจสอบโฉนด จังหวัดนครพนม จังหวัดเชียงราย และจังหวัดกาญจนบุรี อยู่ระหว่างพิจารณาถอนสภาพที่ดิน และจังหวัดนราธิวาส อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นได้ไปในการจัดซื้อที่ดินเอกชน (ข้อมูลจาก nesdb.go.th)
ส่วนความคืบหน้าด้านแรงงาน จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดตราด เปิดบริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในลักษณะไป-กลับได้แล้ว ส่วนการจัดระบบแรงงานต่างด้าวไป-กลับในจังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย รอลงนามกับทางเมียนมา และสปป.ลาว จึงจะมีผลในทางปฏิบัติ (ข้อมูลจาก nesdb.go.th)
อย่างไรก็ตามการดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่ดูเหมือนว่ากำลังเดินหน้าไปได้ดีนั้น แต่หากมองถึงขั้นตอนการดำเนินการและผลกระทบต่อคนในพื้นที่แล้ว กลับไม่สวยงามเหมือนในรายงานความก้าวหน้าของโครงการดังนี้
ด้านการจัดการหรือการจัดเตรียมที่ดิน ประการแรก ขั้นตอนการได้มาซึ่งที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 ในการเพิกถอนสภาพที่ดินต่าง ๆ เช่น เขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินสาธารณะประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เขตป่าไม้ถาวรตามมติครม. ที่ดินสปก. ฯลฯ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการสำหรับให้เอกชนเช่าที่ดิน ซึ่งในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดตาก ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเพิกถอนสภาพที่ดินเป็นอย่างมาก บางรายเป็นที่ดินทำกินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ บางรายเพิ่งสามารถไถ่ที่ดินคืนจากเจ้าหนี้ได้ แต่ก็กลับถูกเวนคืนที่ดิน
ประการที่สอง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุม อาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ยกเลิกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดของการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 3/2559 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน
ประการที่สาม เงื่อนไขการเช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เปิดโอกาสให้เอกชนรายเดียวที่ชนะประมูล สามารถบริหารจัดการได้อย่างเด็ดขาด ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหรรมที่ตนเองสามารถประมูลได้ ไม่ว่าจะลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมเอง หรือจัดสรรพื้นที่ให้เอกชนหลายรายอื่นมาเช่าต่อจากตนเองได้
ประการที่สี่ การมอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลานานถึง 8 ปี การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี และให้หักค่าขนส่งค่าไฟฟ้าและค่าประปา 2 เท่า ในการคำนวณภาษีเป็นเวลา10 ปี เป็นต้น พร้อมทั้งยังจะมีสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่เรื่องภาษีอากร ที่จะกำหนดเพิ่มเติมภายหลัง (ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ประการที่ห้า ส่วนที่มีความสำคัญที่สุดคือ ไม่มีการจัดทำวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ก่อนเริ่มดำเนินการโครงการ ซึ่งโดยปกติในดำเนินการโครงการต่าง ๆ จะต้องผ่านการทำ EIA เสียก่อน แต่สำหรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ได้กำหนดให้จัดทำ EIA ไปพร้อม ๆ กับการดำเนินโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นการตัดตอนการดำเนินการที่รอบคอบเป็นอย่างมาก
ด้านแรงงาน จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และได้พูดคุยกับภาครัฐ จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของเขตเศรษฐกิจพิเศษในด้านแรงงาน เพื่อรองรับแรงงานต่างด้าวที่จะข้ามมาทำงานในไทย ให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะเป็นโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพราะเหตุผลเรื่องค่าแรงที่ต่ำกว่าแรงงานไทย และเป็นการสนับสนุนด้านต้นทุนในการผลิต ในการจ้างงานแก่เอกชนที่มาลงทุนในพื้นที่อีกด้วย ขณะเดียวกันจากการได้พูดคุยกับคนในพื้นที่ ได้สะท้อนว่า การเกิดเขตเศรษฐกิจนั้นก็ดี จะทำให้ลูกหลานที่ไปทำงานแรงงานในเมือง จะได้กลับมาทำงานในบ้านเกิดตนเอง ซึ่งผู้เขียนรับฟังแล้ว ก็เห็นด้วยที่แรงงานหนุ่มสาวจะได้สามารถกลับมาทำงานที่บ้านตนเองได้ แต่เขาเหล่านั้นจะรู้ไหมว่า จริง ๆ แล้ววัตถุประสงค์หลักด้านแรงงานไม่ได้มีไว้เพื่อคนในพื้นที่
ด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ จากการได้ลงพื้นที่พูดคุยทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในจังหวัดมุกดาหาร จะพบว่าระบบการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีลักษณะ Top-down โดยทางจังหวัดได้รับคำสั่งจากรัฐส่วนกลางมาให้ดำเนินการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัด จึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดตนเอง
เมื่อประเมินสถานการณ์และข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอย่างรอบด้าน ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยและคำถามสำคัญต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลว่า จริง ๆ แล้ว โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในประเทศไทยนั้น เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่พิเศษสำหรับใคร?พิเศษสำหรับรัฐในการจัดการ พิเศษสำหรับนายทุน หรือพิเศษสำหรับชุมชนและคนในพื้นที่.
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.