เกษตรกร เป็นแรงงานที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของประเทศ และถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศในฐานะผู้ผลิตอาหารเลี้ยงดูสังคม อาชีพเกษตรกรในมิติด้านแรงงงานถือว่าเป็นอาชีพอิสระที่มีสถานภาพค่อนข้างหลากหลายและซับซ้อน ระหว่างผู้ประกอบการและผู้รับจ้างนั่นคือเป็นผู้ลงทุนเอง ลงแรงงานตัวเอง ทำการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง ทำการผลิตเพื่อขาย เป็นนายจ้างตัวเอง และบางส่วนมีการจ้างลูกจ้างเพิ่มเติม นอกจากนี้ในขณะเดียวกันเกษตรกรบางรายก็อยู่ในฐานะแรงงานรับจ้าง(ขายแรงงาน) หรือเป็นลูกไล่บริษัทในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นต้น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าสถานภาพของเกษตรกรจะอยู่ในรูปแบบไหน เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ขาดความมั่นคงทั้งต่อชีวิต รายได้และสวัสดิการ ต้องเผชิญความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม และอันตรายจากสารเคมีเป็นพิษและตกค้าง เนื่องจากอาชีพเกษตรกรยังอยู่นอกระบบสวัสดิการของรัฐ ไม่ถูกครอบคลุม และเข้าไม่ถึงสิทธิความคุ้มครองทางกฎหมาย และไม่มีหลักประกันสังคมจากการทำงาน
จากข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 พบว่า ในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.3 ล้านคน มีจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด 21.4 ล้านคน (ร้อยละ 55.9) โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานในภาคเกษตรประมาณ 12 ล้านคน (ร้อยละ 56) รองลงมาทำงานในภาคการค้าและบริการประมาณ 7 ล้านคน (ร้อยละ 21.4) และภาคการผลิตประมาณ 2.4 ล้านคน (ร้อยละ 11.1)
นอกจากนี้ผลการสำรวจ พบว่า สภาพปัญหาหลักในการทำงานของแรงงานนอกระบบ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 51.5 คือ ปัญหาค่าตอบแทน โดยแรงงานนอกระบบรวมทุกสาขา ได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 6,583 บาทต่อเดือน โดยที่แรงงานนอกระบบภาคเกษตรมีค่าจ้างต่ำที่สุดเฉลี่ยเพียง 5,010 บาทต่อเดือน
และเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนระหว่างแรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบที่มีสถานภาพเป็นลูกจ้าง พบว่า แรงงานในระบบมีค่าจ้างเฉลี่ย 14,427 บาทต่อเดือน นั่นคือ มีค่าจ้างแตกต่างกันถึง 2.2 เท่า
ในส่วนของปัญหาจากการทำงาน อันดับสอง ร้อยละ 18.2 ปัญหาจากการทำงานหนัก อันดับสาม ร้อยละ 18.1 ปัญหางานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด ร้อยละ 39.4 คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้ปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 25.1 มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ 16.4 มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.3 ได้รับสารเคมีเป็นพิษ ร้อยละ 19.1 ปัญหาจากเครื่องจักร เครื่องมือที่เป็นอันตราย ร้อยละ 5.9 ได้รับอันตรายต่อระบบหู / ระบบตา
ในส่วนของการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแรงงานนอกระบบในช่วงปี 2553-2558 พบว่าในช่วงปี 2553 และ 2556 แรงงานนอกระบบมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.3 เป็นร้อยละ 64.3 ในขณะที่ปี 2557 และ 2558 แรงงานนอกระบบมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 57.6 เป็นร้อยละ 55.9 ในขณะที่แรงงานนอกระบบภาคเกษตรมีสัดส่วนลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากแนวนโยบายของรัฐที่ต้องการผลักดันแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบทางการมากขึ้น บางครั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่า การนิยามเรื่องเข้าสู่ระบบ ไม่ควรนำตัวชี้วัดแบบง่ายๆ เช่น เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาเป็นตัวกำหนด เนื่องจากระบบประกันสังคมของแรงงานนอกระบบในปัจจุบัน ยังมีความแตกต่างด้านการคุ้มครองและมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก
แรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพเกษตรกร ถือได้ว่าเป็นเสาหลักเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามพบว่าสถานภาพแรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่มีชีวิตที่ไม่มั่นคง หากมองในแง่มุมสิทธิด้านแรงงาน ยังเป็นกลุ่มอาชีพที่ขาดหลักประกันทางรายได้ หลักประกันทางสังคม ที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคนทุกกลุ่มในสังคม
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเราจะสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมรูปแบบใดที่เหมาะสมต่อกลุ่มอาชีพเกษตรกรที่มีความหลากหลาย เพื่อทำให้เกษตรกร และแรงงานภาคเกษตร มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรี
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.