การจากไปของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ทำให้แวดวงผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรกรรมยั่งยืน ปราชญ์ชาวบ้าน การศึกษาและการเรียนรู้ของเกษตรกร รวมไปถึงผู้ที่สนใจในธรรมและการเกษตร ล้วนออกมาร่วมรำลึกถึงคุณงามความดี ที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ ได้เคยสร้างไว้ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ซี่งคงจะถูกจดจำต่อไปอีกนานถึงความเป็นครูในยุคแรกของท่านที่สอนให้เกษตรกรรู้จักการพึ่งตนเองอย่างมีความหมาย
ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เกิดในปี 2479 ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กรุงเทพฯ แล้วจึงกลับไปบุกเบิกทำการเกษตรที่บ้านเกิดตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิวัติเขียว จากสังคมภาคเกษตรเดิมที่เกษตรกรทำการผลิตเพื่อพึ่งตนเองด้านอาหาร เหลือจึงเผื่อแผ่และขายให้เพื่อนบ้านเพื่อพึ่งพาอาศัยกัน เป็นสังคมเกษตรยุคใหม่ เกษตรเพื่อธุรกิจ ที่เกษตรกรทำการผลิตเพื่อขายให้มีกำไร ต้องลงทุนกู้เงินจากสถาบันการเงิน เมื่อขายผลผลิตแล้วจึงนำเงินไปชำระหนี้คืน
บทเรียนสำคัญ 20 ปี ของผู้ใหญ่วิบูลย์ นับแต่ปี 2504-2524 คือการค้นพบว่าเกษตรกรไม่ได้เข้าใจตนเอง และไม่รู้ถึงศักยภาพของตนเอง ว่าสามารถหาเงินจากการทำเกษตรเพื่อธุรกิจได้จริงหรือไม่ มีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ผู้ใหญ่วิบูลย์ซี่งเป็นเกษตรกรแนวหน้าในยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ได้หลงทางคิดว่าจะมีกำไรจากการทำเกษตรยุคใหม่ ที่สะดวกสบายกว่า ใช้เทคโนโลยีและแรงงานรับจ้างทำการเกษตรเป็นหลัก ผลสุดท้ายก็คือ 20 ปี ของการบุกเบิกทำเกษตรเพื่อธุรกิจของผู้ใหญ่วิบูลย์ จบลงด้วยการสูญเสียที่ดินเกือบ 300 ไร่ ที่มีอยู่ เหลือไว้เพียงที่ดิน 10 ไร่ เท่านั้น สำหรับการทบทวนบทเรียน และเริ่มต้นใหม่
อันที่จริงแล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่วิบูลย์ ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในชนบทจำนวนมาก แทบจะเรียกว่าได้กว่าแปดสิบเปอร์เซนต์ของเกษตรกรในชนบทไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ล้วนหลงทางไปกับวิถีเกษตรยุคใหม่ ที่สะดวกสบาย ใช้เทคโนโลยี แต่มีต้นทุนสูง และพึ่งพาตนเองไม่ได้
หากแต่ว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เกิดการทบทวนบทเรียนตนเอง พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า หากเดินต่อไปบนสายพานชีวิตที่เป็นอยู่ คงจะต้องวนเวียนอยู่กับปัญหาหนี้สิน และต้นทุนการผลิตสูงต่อไปไม่จบสิ้น หากจะแก้ไขปัญหาของตนเองให้ได้เด็ดขาดนั้น คงจะต้องตัดสินใจเดินออกจากสายพานนี้ นั่นจึงเป็นการเริ่มต้นของการทบทวนบทเรียนชีวิตและวิถีทำการเกษตรใหม่ เป็นที่มาของแนวคิดวนเกษตร การเกษตรเพื่อชีวิตและการผลิตที่เรียนรู้จากธรรมชาติ เพื่อการพึ่งพาตนเอง
ผู้ใหญ่วิบูลย์ให้เหตุผลไว้ว่า เพราะเกษตรกรรมคือการดำรงชีวิต เป็นชีวิตที่สัมพันธ์สืบเนื่องกับการใช้ผืนดิน นี่เป็นความหมายขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อเกษตรกรรมคือชีวิต หากเกษตรกรคิดว่าจะเอาชีวิตไปขายตั้งแต่เริ่มต้น แล้วเกษตรกรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร มันคงจะไม่ใช่แนวทางของเกษตรกรที่ควรจะเป็น และไม่มีหนทางที่จะมีกำไรได้
ระบบเกษตรกรรมที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้ใช้เวลาเรียนรู้ใหม่อีก 20 ปี ต่อมา คือ ระบบวนเกษตรที่เกี้อกูลต่อชีวิตและธรรมชาติ เริ่มต้นจากการปลูกพืชที่ตนเองบริโภค และเหลือขายเพื่อให้มีเงินมาซื้อสิ่งของที่ผลิตเองไม่ได้ ค่อยๆ ปลูกต้นไม้แซมเข้าไปในพื้นที่ที่ปล่อยให้รก ทั้งไม้ใช้สอย ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชคลุมดิน สมุนไพร และพืชอีกหลากหลายกว่าห้าร้อยชนิด ในพื้นที่เพียง 10 ไร่ ที่มีอยู่ ทั้งนี้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ไม่ได้ปฏิเสธการขายผลผลิตการเกษตร เพียงแต่เริ่มต้นด้วยเป้าหมายเพื่อเติมเต็มชีวิตของตนเองก่อน จากนั้นจึงขายเท่าที่จำเป็น และไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องมีกำไรมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ขายเพื่อให้เกิดการเกี้อกูลช่วยเหลือเผื่อแผ่กันระหว่างเพื่อนบ้าน และเพื่อนมนุษย์ เท่านั้นเอง
มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเกษตรเพื่อธุรกิจ ซี่งเป็นระบบที่เกษตรกรต้องลงทุนด้วยเงินทั้งหมด ตั้งแต่ จ้างคราดไถ ซื้อพันธุ์ ซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนเร่ง จ้างเก็บเกี่ยว จ้างขนส่งไปขาย รวมทั้งมีต้นทุนที่เป็นค่าอาหาร การกินอยู่ของคนในครอบครัว สุขภาพและความเจ็บป่วย ดอกเบี้ยเงินกู้ และความเครียดสะสมของเกษตรกร ซี่งเวลาขายผลผลิตจริง เกษตรกรไม่สามารถคิดต้นทุนทั้งหมดเหล่านี้เข้าไปในราคาตลาดที่ขายได้ เพราะสิ่งที่เกษตรกรลงทุนไป มันไม่ใช่เพียงต้นทุนทางธุรกิจ แต่มันคือต้นทุนชีวิตของเกษตรกร ที่ไม่ได้ถูกรวมเข้าไว้ด้วย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกษตรกรในชนบทไทย จำนวนน้อยเหลือเกินที่มีกำไรจากเกษตรเพื่อธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่กว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์จบลงด้วยการสูญเสียทั้งต้นทุนทางธุรกิจ หรือแบกภาระหนี้สินตลอดชีวิต และสูญเสียต้นทุนชีวิต คือ ขาดความมั่นใจในวิถีอาชีพเกษตรกร ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ต้องแยกย้ายเพื่อไปหางานนอกภาคเกษตรทำจุนเจือครอบครัว และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าทศวรรษ นับแต่ชนบทไทยเดินหน้าเข้าสู่ระบบเกษตรเพื่อธุรกิจ โดยขาดมิติการพึ่งตนเอง
คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ คือ การบอกสอนบทเรียนอันล้ำค่าให้กับเกษตรกร ถึงแนวคิดการพึ่งตนเอง การย้อนกลับมาดูตนเอง และเข้าใจตนเอง ว่าเกษตรกรคือใคร เกษตรกรควรจะเดินในแนวทางไหน ถึงจะไม่ล้มลุกคลุกคลาน ผิดพลาดและหมดตัว
การศึกษาเรียนรู้ และการทบทวนตนเอง เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความรู้ใหม่ คือสิ่งที่เกษตรกรไทยยังขาดแคลน และเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม คาดหวังและให้ความสำคัญมาโดยตลอดนั่นเอง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 24 มิถุนายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.