แม้บางคนจะมองว่า การผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของคณะรัฐมนตรีชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการส่งสัญญาณ ว่ารัฐบาลชุดนี้ ให้ความสนใจกับปัญหาที่ดิน และการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของสังคมไทย ซึ่งนี่ก็อาจจะจริงบางส่วน เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือว่าเป็นภาษีทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ที่ควรมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าในสังคมไทยมานานแล้ว โดยเฉพาะการเก็บภาษีกับคนที่มีฐานะ และทรัพย์สินที่ดินมากกว่าคนทั่วไป ซี่งถือว่าเป็นมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนที่มีทรัพย์สินมาก จ่ายภาษีคืนให้กับรัฐ เพื่อช่วยเหลือคนที่มีทรัพย์สินน้อย
แต่ถือว่าน่าเสียดาย ที่อัตราภาษีในร่างกฎหมายฉบับบี้ เก็บเริ่มต้นกับคนที่มีบ้านหลังแรกมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าเริ่มต้นที่สูงมาก และแน่นอนว่าไม่ใช่มูลค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปในสังคมไทยถือครองบ้านและที่ดินแน่นอน คนชั้นกลางในสังคมส่วนใหญ่ ถือครองบ้านและที่ดินมูลค่าอยู่ในราว 3-5 ล้านบาท เท่านั้น หากเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง ก็ถือครองบ้านและที่ดินมูลค่าราว 1-3 ล้านบาท และคนชั้นกลางระดับบน ถือครองบ้านและที่ดินมูลค่าราว 6-8 ล้านบาท การที่รัฐกำหนดมูลค่าบ้านและที่ดินสำหรับการยกเว้นภาษีถีง 50 ล้านบาท จึงเป็นการยกเว้นที่มากเกินไปและไม่สมควร หากพิจารณารวมถึงอัตราภาษีที่จัดเก็บในอัตราที่ต่ำ โดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่มีเพดานภาษีเพียงร้อยละ 5 จึงไม่สอดคล้องและไม่ทันต่อสถานการณ์ราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 6-7 ต่อปี มาตรการภาษีที่กำหนดมานี้ จึงยังไม่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ตามเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้
หากมองในภาพกว้าง ภาษีที่ดินตัวนี้ อาจจะมีส่วนช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และอาจมีการนำที่ดินรกร้างมาใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่อีกด้านหนี่ง อาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยแก้ไขสถานการณ์การถือครองที่ดินที่เหลื่อมล้ำในสังคมไทยเลย เพราะว่าที่ผ่านมาประเทศไทย ไม่ได้มีมาตรการควบคุม จำกัด หรือสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการจำกัดการถือครองที่ดินของคนในสังคม คนที่มีเงินมาก จึงสามารถซื้อที่ดินเก็บไว้ในปริมาณมากได้ ดังที่เคยเป็นข่าวว่า มีผู้ที่ถือครองที่ดินประเภทโฉนดจำนวนมากถึง 630,000 ไร่ แม้ข้อมูลจากกรมที่ดินจะไม่ได้ระบุว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ข้อมูลนี้ ประกอบกับข้อมูลการขาดแคลนที่ทำกินของเกษตรกรไทย เกือบครึ่งประเทศ หรือ จำนวนร้อยละ 45 ที่ต้องเช่าที่คนอื่นทำมาหากิน ก็ควรจะทำให้รัฐตระหนักว่า ต้องมีมาตรการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินนี้อย่างเข้มข้น และแยบคาย ไม่เช่นนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน คงจะไม่ถูกยกระดับไปสู่การแก้ไขปัญหาได้
หากพิจารณาสถานการณ์การถือครองที่ดินระดับโลก ที่เลวร้ายขึ้นทุกวัน เนื่องจากมหาเศรษฐีทั้งอาหรับ ยุโรป และเอเชียตะวันออก ต่างข้ามพรมแดนประเทศของตน หรือแม้แต่ข้ามพรมแดนทวีป ไปยังประเทศอื่นซี่งมีที่ดินราคาถูก และมีกฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ เพื่อไปกว้านซื้อที่ดิน หรือเช่าที่ดินในระยะยาว นับแสนไร่ หรือ นับล้านไร่ เพื่อทำการเกษตร และผลิตอาหารส่งกลับมาขายยังประเทศของตน สถานการณ์นี้เติบโตมากขึ้นจนน่ากลัว โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา หรือแม้แต่ในประเทศไทย ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
แม้ข้อมูลการถือครองที่ดิน และการเข้ามาเช่าที่ดินของคนต่างชาติ จะถูกนำเสนอเป็นข่าวเป็นระยะ เช่น นายทุนจีนเข้ามาเช่าที่ดินหลายพันไร่ในภาคเหนือ เพื่อปลูกกล้วยหอมส่งกลับไปขายที่ประเทศจีน หรือนายทุนชาวสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เข้ามาเช่าที่ดินทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก หรือทำสัญญาซื้อขายผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งกลับไปขายยังประเทศของตน จะมีแนวโน้มจำนวนมากขึ้น แต่สังเกตุได้ว่า ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ว่าจะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ทำให้เห็นว่าทิศทางการเข้ามาเช่าที่ดิน รวมไปถึงการกว้านซื้อที่ดินของคนต่างชาติ แต่ให้นอมินีถือครอง น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยในอนาคต หากภาครัฐยังไม่สนใจที่จะเข้ามาดูแลปัญหานี้
การรุกคืบของนายทุนเพื่อถือครองที่ดิน ทั้งนายทุนในประเทศ และจากต่างประเทศ เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวโยงกับความมั่นคง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในชาติ โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารและฐานเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้บริโภค ที่อาจจะกระทบกระเทือน หากการถือครองที่ดินอยู่ในมือของนายทุนรายใหญ่ และคนต่างชาติมากเกินไป
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจจะมีแง่มุมที่ดีว่า เป็นภาษีทรัพย์สินที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศไทย แต่ฝันร้ายของการสูญเสียที่ดินที่มากขึ้น ให้กับนายทุนที่ยังคงกว้านซื้อที่ดินต่อไป และนายทุนต่างชาติที่ใช้นอมินีซื้อที่ดิน อาจจะยังรออยู่ในอนาคต รัฐจึงไม่ควรหลงทาง ยินดีกับสิ่งนี้ให้นานนัก เพราะปัญหาหนักด้านความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินในสังคมไทย ยังไม่ได้ถูกเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเลย
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 17 มิถุนายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.