นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรของรัฐบาลปัจจุบัน ถือว่ายังไม่มีอะไรใหม่และยังเป็นแนวปฏิบัติที่รัฐบาลยุคก่อนๆได้ดำเนินการมาแล้วแทบทั้งสิ้น เช่นโครงการปลดหนี้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้พักชำระเงินต้น และขยายเวลาผ่อนชำระเงินต้นไม่เกิน 10 ปี โดยเน้นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้จากโครงการส่งเสริมของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ ภัยพิบัติธรรมชาติ หนี้ขาดอายุความ หนี้ที่อยู่ในวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท เป็นต้น
แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยจัดตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด โดยมีองค์ประกอบ ภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศมาขับเคลื่อนร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานรัฐ เป้าหมายคือ ทำหน้าที่ดำเนินงานเพื่อสังคม (Social Enterprise)ไม่แสวงหากำไร และทำหน้าที่หาตลาด กระจายสินค้า ดังนั้นนโยบายแก้ปัญหาหนี้ทั้งหมดที่ว่ามาจึงเป็นเพียงเรื่องเฉพาะหน้าและเป็นโครงการสงเคราะห์ของรัฐมากกว่า เพราะยังไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาหนี้ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานได้
เมื่อมาดูสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดหนี้ของเกษตรกรจากงานศึกษาของ วิทยา เจียรพันธุ์ (2553: 24-25) ซึ่งได้อธิบายถึงปัจจัยมีผลต่อหนี้สินเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เป็นปัญหาระดับโครงสร้างแทบทั้งสิ้น อาทิเช่น ปัญหาพื้นฐานทางการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศมักมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคการเกษตร ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาด้านที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัจจัยทางการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรโดยตรง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเพื่อการเกษตรขนาดเล็ก ปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตร โดยพื้นที่เกษตรทั่วประเทศมีไม่ถึงร้อยละ 25 ปัญหาด้านการตลาดถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ตลอดจนปัญหาความไม่ต่อเนื่องด้านนโยบายหนี้สินและเน้นแก้เฉพาะหน้ามากกว่าการวางแผนระยะยาว ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
เห็นได้จากตัวเลขหนี้สินและรายได้ล่าสุด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาให้ข้อมูลผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปีการผลิต 2558/2559 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 โดยได้สำรวจครัวเรือนเกษตรกร 6.5 ล้านครัวเรือนในประเด็น การถือครองที่ดิน รายได้ หนี้สิน การเข้าร่วมโครงการของรัฐ ทั้งนี้พบว่าเกษตรกร 5.52 ล้านครัวเรือนมีรายได้ 1.8 แสนบาท/ปี เกษตรกร 7.34 แสนครัวเรือน มีรายได้ระหว่าง 180,000 – 499,999 บาท/ปี เกษตรกร 8.77 หมื่นครัวเรือน มีรายได้ 500,000 บาท/ปี และมีเกษตรกรเพียง 1.85 หมื่นครัวเรือนมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท
และเมื่อมาพิจารณาข้อมูลหนี้สินเกษตรกร พบว่าจากจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด 6.5 ล้านครัวเรือนมีเกษตรกรมาให้ข้อมูลหนี้สินจำนวน 5.44 ล้านครัวเรือน พบว่า 3.76 ล้านครัวเรือนมีหนี้สินภาคเกษตร 134,164 บาท/ต่อครัวเรือน เกษตรกร 2.97 ล้านครัวเรือนมีหนี้สินนอกภาคเกษตร 130,164 บาท/ต่อครัวเรือน ทำให้หนี้สินรวมอยู่ที่ 163,164บาท/ต่อครัวเรือน
จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่าเกษตรกรมีหนี้สินและรายได้ค่อนข้างใกล้เคียงกันมากและกว่าร้อยละ 80 มีรายได้ไม่ถึง 300 บาท/วันตัวเลขนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่านโยบายแก้ปัญหาหนี้ยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่
ขณะที่เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ค้นหารูปแบบการแก้ปัญหาหนี้ โดยล่าสุด (25-26 พฤษภาคม 2559) มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสมาชิกสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ใน 4 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาเกษตรกร หมู่ 7 กลุ่มเกษตรกรรวมใจ หมู่ 7 กลุ่มคลองเข้พัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ได้ร่วมกันระดมปัญหาและแนวทางการจัดการหนี้สินของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม
โดยฐานของสมาชิกส่วนใหญ่ในแต่ละกลุ่มประกอบอาชีพ ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ในขณะที่สมาชิกในบางพื้นที่ประสบปัญหามีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ทำกินเพิ่ม ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและสภาพแวดล้อมรุนแรงขึ้น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงขึ้น (ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเทอมลูก) สุขภาพเกษตรกรแย่ลงจากการใช้สารเคมียาปราบศัตรูพืช สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นหนี้มากกว่า 1 แหล่ง และสถานะหนี้สินกำลังถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด
ปัจจุบันเกษตรกรทั้ง 4 กลุ่มมีแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากพวกเราโดยตรง แบ่งเป็น การจัดการกับหนี้สินก้อนเดิมและไม่ให้มีหนี้เพิ่ม การปรับรูปแบบการผลิต การจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิต
การจัดการกับหนี้เดิม ด้วยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การโอนหนี้เข้าสู่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เจรจากับเจ้าหนี้ให้ชะลอการขายทรัพย์โดยใช้กลไกกลุ่มและเครือข่ายสค.ปท. มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ช่วยเหลือสมาชิก
การปรับรูปแบบการผลิต ด้วยการปรับรูปแบบการผลิตให้หลากหลายไม่ปลูกข้าวอย่างเดียว ปลูกผัก ข้าวโพด มะนาว เพิ่มเติม หาความรู้พัฒนาทักษะโดยใช้กลไกกลุ่ม จัดอบรมให้สมาชิกทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ชีวภาพ มีการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ บางรายมีการปรับเปลี่ยนอาชีพ จากเลี้ยงหมูขาดทุนมาทำบ้านเช่า ทำสวน และพัฒนาอาชีพเสริม เรียนนวดแผนไทย แปรรูปผลผลิต มะม่วงกวน ทำเครื่องดื่มน้ำฟักข้าวผสมเสาวรส ทั้งนี้เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และพึ่งตนเองให้มากที่สุด
การจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิต ด้วยการหาตลาดเอง ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ รวมตัวผู้ผลิตเดียวกัน เช่น ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เพื่อรวมผลผลิตสร้างพลังการต่อรองให้ราคาสูงขึ้น
และด้วยปัญหา “หนี้” และแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในระดับตนเอง ระดับกลุ่มส่งผลให้สมาชิกของแต่ละกลุ่ม ยิ้มรับกับสภาพปัญหาหนี้ที่รุมเร้าเข้ามา ตั้งสติค่อยๆเจรจาแก้หนี้แต่ละก้อน จนบางคนผ่อนชำระหนี้ได้สำเร็จแล้ว จากการระดมปัญหาและแนวทางแก้หนี้ในครั้งนี้ ยังทำให้ได้เห็นสิ่งที่เกษตรกรแต่ละกลุ่มต้องการทำร่วมกันในอนาคต เช่น การพัฒนาผลผลิตให้ครบวงจรแบบการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เปิดช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขึ้น สร้างสถาบันการเงินของกลุ่ม
ดังนั้นการทำให้ภาคเกษตรไทยมีอนาคตเป็นแหล่งพึ่งพาทำมาหากินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องมีนโยบายกฎหมายเข้าไปแก้โครงสร้างภาคเกษตรครบวงจรตั้งแต่ การวางแผนการผลิตในระดับประเทศ ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต การแปรรูปและช่องทางตลาด สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นระบบสหกรณ์ให้สมาชิกเข้าไปมีส่วนร่วม
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 10 มิถุนายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.