เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่องโดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดภัยแล้งเกิดขึ้นทั้งจากภาวะทางธรรมชาติเอง เช่นความผิดของร่องมรสุมและการหมุนเวียนของสภาพอากาศ และการกระทำของมนุษย์ เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เป็นต้น
จากบทเรียนในอดีตของการรับมือและการจัดการกับปัญหาภัยธรรมชาติทั้งจากภัยแล้ง หรือภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา เกษตรกร คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักและรุนแรงมากที่สุด
ในปี 2559เป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนักหน่วงส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะภัยแล้งที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงออสเตรเลียตอนเหนือ ต้องเผชิญกับภัยแล้งจากวิกฤต “เอลนีโญ”
ที่มีผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ ฝนไม่ตก ไม่มีมรสุม และเกิดภาวะแห้งแล้ง
หนุนซ้ำด้วยประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำเนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำที่เก็บสะสมในเขื่อนแต่ละภูมิภาคนั้น มีปริมาณน้ำที่เก็บสะสมลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จากปริมาณน้ำปกติที่เขื่อนควรจะเก็บสะสมได้ กับปริมาณน้ำที่เก็บสะสมได้จริงนั้นช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากเขื่อนมีปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ 80% สามารถแจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรทำนาปรังได้ ปริมาณ 60% แม้ว่าจะน้อยแต่ก็สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่ทุกวันนี้เขื่อนเกือบแทบทุกแห่งมีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ได้ไม่ถึง 20% (ที่มา : เวทีแถลงข่าวสกว. วิกฤติภัยแล้ง:ทางออกของการจัดการน้ำและอนาคตเกษตรไทย)
สถานการณ์วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเกิดความตระหนักและมีข้อเสนอต่อแนวทางในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวทางภาครัฐเองได้มีการขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย งดการทำนาปรัง ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง งดสูบน้ำและปิดกั้นลำน้ำ ไม่ปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำต่างๆ รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วไปให้ใช้น้ำอย่างประห
นอกจากนี้สำหรับภาคประชาชนเองก็ได้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติป่าไม้เพิ่มขึ้น จากภาพป่าต้นน้ำหลายแหล่งที่กลายเป็นภูเขาหัวโล้น ผนวกปัญหาภัยแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้ภาคประชาชนเกิดการรณรงค์ขอความร่วมมือกันรักษาผืนป่าและปลูกป่าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของพี่น้องเกษตรกรเอง “ความสำคัญเรื่องน้ำ” ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้สอยในครัวเรือนเท่านั้น แต่สำหรับเกษตรกร “น้ำ” เป็นเสมือนปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพ หากเกษตรกรขาดแคลนน้ำเท่ากับว่าขาดแคลนเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพ หากเกษตรกรได้เริ่มลงทุนทำการผลิต (เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์) แต่ไม่มีน้ำที่เพียงพอไว้ใช้ในการผลิตอาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรผลผลิตที่ได้จากการลงทุน ในช่วงนั้นอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
หรือผลผลิตเสียหายทั้งหมด
ซึ่งก็เท่ากับว่าการลงทุนประกอบอาชีพในฤดูการผลิตนั้น เกษตรกรก็ต้องขาดทุนทั้งจากการลงแรงและลงเงินหรือแม้แต่กรณีที่น้ำแล้งจนขาดแคลนน้ำไว้สำหรับการผลิตเกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพได้เลย ซึ่งเท่ากับว่าในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกนั้น เกษตรกรจะต้องขาดรายได้จากการเกษตรจนทำให้เกษตรกรหลายคนผันตัวไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกภาคเกษตร
เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับเกษตรกรไม่เพียงแต่จะทำให้เกษตรกรขาดแคลนรายได้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่เกษตรกรบางรายอาจเป็นการขาดทุน ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องต่อสถานะการเงินของครัวเรือน และยิ่งซ้ำเติมปัญหาภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่มีอยู่เดิมให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
หากเกษตรกรขาดแคลนรายได้หรือขาดทุนจากการประกอบอาชีพก็เท่ากับว่าเกษตรกรขาดความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงขณะนั้น อาจเป็นผลทำให้มูลค่าหนี้เพิ่มพูนขึ้นหรืออาจทำให้เกษตรกรต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น เพื่อมาใช้จ่ายและลงทุนประกอบอาชีพในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่ส่งผลต่อการเพาะปลูกและส่งผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกร ไม่ได้เป็นเรื่องของเกษตรกรเพียงเท่านั้น แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงถึงผู้บริโภคและเราทุกคน เพราะหากเกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งหมายถึงปริมาณอาหารจะมีปริมาณลดลงด้วยเราอาจไม่เพียงประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร แต่เราจะต้องเผชิญกับปัญหาราคาอาหารที่จะถีบตัวสูงขึ้นตามมาในอนาคต
อย่างไรก็ตามปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2559 ที่ก่อให้เกิด “ภัยแล้ง” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤต “เอลนีโญ” และคาดการณ์ว่าวิกฤตเอลนีโญกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงครึ่งแรกของปี2559 นี้ แต่ช่วงครึ่งปีหลังประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ “ลานีญา” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญาเสมือนเป็นคู่ตรงข้ามของปรากฏการณ์เอลนีโญนั่นหมายความว่าประเทศไทยมีแนวโน้มสูงที่จะต้องเผชิญกับฝนตกหนักรุนแรง และอาจเกิดภัยน้ำท่วมตามมา
ในช่วงครึ่งปีหลังหากเกิดภาวะฝนตกหนักจากปรากฏการณ์ลานีญาจนเกิดภัยน้ำท่วมจริง ในปีนี้เกษตรกรอาจเผชิญกับความสูญเสียจากภัยธรรมชาติทั้งสองรูปแบบ เมื่อต้นปีต้องสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรให้กับ “ภัยแล้ง” ปลายปีอาจจะต้องสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรให้กับภัย “น้ำท่วม” อีกระลอกหนึ่ง
และหากเกิดภัยน้ำท่วมจริง ไม่แน่ใจว่าคราวนี้เกษตรกรจะต้องเป็น “ผู้เสียสละ”ในการยอมปล่อยให้น้ำเข้ามาท่วมนาจนผลผลิตเสียหายและไม่สามารถเพาะปลูกได้ เพื่อปกป้องผืนดินส่วนอื่นเอาไว้เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาหรือไม่... ต้องรอติดตามกันต่อไป
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.