การจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรผู้ยากไร้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง และการขาดแคลนที่ทำกินของประชาชน เช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตั้งเป้าเดินหน้านำที่ดินรัฐ (ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ส.ป.ก. และที่ราชพัสดุ) มาจัดสรรให้ผู้ยากไร้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 399,624 ไร่ และประชาชนจะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 43,053 ราย
ในอีกด้านหนึ่ง ทุกรัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ด้วยการให้เช่าที่ดินของรัฐในระยะยาว เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น กฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย กฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดคำสั่งมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งได้ออกประกาศฉบับที่ 17/2558 เรื่องการจัดที่ดินเพื่อประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีขนาดพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจใน 10 จังหวัด รวม 1,832,480 ไร่
การได้มาของที่ดินเพื่อนำมาจัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถเวนคืนจากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ธรณีสงฆ์ โดยให้สิทธิกับธุรกิจเอกชนเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ได้ในระยะยาวถึง 99 ปี ซึ่งแม้จะมีพื้นที่เกิน 100 ไร่ ก็ไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินตามกฎหมายการเช่าที่ดินเดิม และเมื่อพัฒนาพื้นที่แล้ว ยังสามารถนำที่ดินไปให้เช่าต่อ หรือนำที่ดินไปจำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ รวมถึงบรรดาสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทธุรกิจเอกชนผู้เช่า หรือผู้เช่าช่วงสร้างขึ้นก็ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้นด้วย
เงื่อนไขการให้เช่าที่ดินรัฐกับบริษัทธุรกิจเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กับเงื่อนไขการให้เช่าที่ดินรัฐกับเกษตรกรยากจนในโครงการที่ผ่านๆ มา อาทิ เช่น โครงการ “รัฐเอื้อราษฎร์” ปี พ.ศ.2548 ในพื้นที่กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ สืบเนื่องจากนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ขณะในกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีชาวบ้านลงทะเบียนขาดแคลนที่ดินทำกินจำนวน 6,400 ราย เฉพาะตำบลดอยหล่ออย่างเดียวมีชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน 2,657 รายในขณะที่พื้นที่กิ่งอำเภอดอยหล่อสามารถนำที่ดินมาจัดสรรให้ราษฎรได้ 22,086 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุและที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเมื่อเทียบจำนวนพื้นที่และจำนวนคนที่ลงทะเบียนเฉพาะที่ตำบลดอยหล่อ รัฐบาลสามารถจัดสรรที่ทำกินให้กับชาวบ้านที่ขาดแคลนได้ครบทุกคนแต่เอาเข้าจริงรัฐบาลจัดสรรพื้นที่เพียง3,000 ไร่ให้แก่ชาวบ้าน 905 ราย แม้นโยบายนี้มีเจตนาที่ดี คือต้องการให้คนจนมีที่ดินทำกิน แต่กลับมีปัญหาอุปสรรคหลายประการทำให้โครงการประสบความล้มเหลว และไม่เอื้อให้ประชาชนมีที่ทำกินได้ในระยะยาว เป็นต้นว่า อำนาจการคัดเลือกคนที่จะได้เช่าที่ดินและการตัดสินใจต่างๆ ตกอยู่ในมือข้าราชการท้องถิ่น โดยมีกรอบการพิจารณากว้างๆ เพียงว่า เป็นผู้ที่มาลงทะเบียนแก้ไขปัญหาความยากจนในประเด็นขาดแคลนที่ดินทำกินเท่านั้น ทำให้ผู้รับสิทธิในการคัดเลือก กลายเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนในองค์การบริหารส่วนตำบลและเครือญาติ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินจริงๆ เป็นแค่ตัวประกอบที่มีรายชื่อแนบท้าย แต่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน
ประการต่อมา เงื่อนไขสัญญาเช่าไม่สอดคล้องกับอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากสัญญาเช่ามีเวลาเพียง 3 ปี เท่านั้น จึงไม่สามารถนำที่ดินมาปลูกลำไย ซึ่งเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้ของชาวบ้านได้ เพราะลำไยใช้เวลาปลูก 3 ปี ถึงจะให้ผลผลิต อีกทั้งรายละเอียดสัญญาเช่าที่ดินจากรัฐ ระบุให้เกษตรกรทำการเกษตร คือทำไร่เท่านั้น ซึ่งมีชาวบ้านที่ทำไร่เพียงร้อยละ 10 แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวนลำไย และในสัญญาเช่าที่ดินของรัฐยังระบุห้ามไม่ให้เกษตรกรขุดบ่อน้ำ ทั้งที่สภาพพื้นที่ที่นำมาจัดสรรบางส่วนเป็นที่แห้งแล้ง
ประการสุดท้าย สิทธิการให้เช่าที่ดินของรัฐกับเกษตรกรอยู่บนความไม่แน่นอนไม่มีความมั่นคง เช่น กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของที่ดิน สามารถเปลี่ยนแปลงค่าเช่าได้ตลอดเวลา และในระหว่างที่มีการเช่าที่ดินอยู่ ทางราชการสามารถเวนคืนที่ดินได้ โดยเกษตรกรที่ทำกินอยู่ จะไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยใดๆ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าหากชาวบ้านไม่ทำประโยชน์ภายใน 1 ปี หรือถ้าผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด กระทรวงการคลังสามารถบอกเลิกสัญญาได้
แนวทางการจัดสรรที่ดินของรัฐให้กับบริษัทธุรกิจเอกชน และเกษตรกรยากจน จึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ
การจัดสรรที่ดินรัฐให้กับเกษตรกรยากจน |
การให้เช่าที่ดินรัฐกับบริษัทธุรกิจเอกชนและต่างชาติ |
|
|
ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรที่ดินที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนคนทุกข์ยากลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินที่ควรจะได้ รวมทั้งให้พิจารณายกเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่และนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกรก่อน และไม่ควรเป็นสิทธิในที่ดินระยะสั้นเหมือนที่ผ่านมา
หากรัฐบาลมีเป้าหมายที่ต้องการจัดสรรที่ทำกินให้กับคนจน เพื่อทำให้เศรษฐกิจระดับฐานรากมีความเข้มแข็งจริง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับความประสงค์ของประชาชน และต้องเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นแล้วโครงการจัดสรรที่ดินเหล่านี้ จะกลายเป็นปมความขัดแย้งใหม่ในสังคม และสร้างความทุกข์ยากให้กับคนจนไร้ที่ดินไม่แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา
https://landreform.wordpress.com/2008/08
:วิชณุพงษ์ คำคูณ, จัดสรรที่ราชพัสดุดอยหล่อ มีอะไรในสัญญาเช่า ?
http://prachatai.com/journal/2005/07/21268
: ศรายุธ ตั้งประเสริฐ สวนป่าโนนดินแดง : การต่อสู้อำนาจรัฐ-อำนาจทุน กับสิทธิชุมชนท้องถิ่น .http://www.oknation.net/blog/landreformnetwork/2008/11/10/entry-1
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.