โลกวันนี้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก และสังคมไทยก็เช่นกัน สังคมไทยที่เคยเป็นสังคมเกษตร ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมองความสำคัญจากจำนวนเงินหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะสถานะภาคเกษตรมีความสำคัญในการเกื้อหนุนชีวิตแรงงานภาคเกษตร กว่า 16.7 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ รวมไปถึงความสำคัญต่อสถานะความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทย
ปัจจุบันชาวนาจะกลายเป็นอาชีพที่นับวันจะสูญหายไปจากสังคม เหลือแต่ชาวนาสูงวัย ลูกหลานชาวนาส่วนใหญ่ต่างเข้ามาทำงานในเมือง หรือเคลื่อนย้ายสู่แรงงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น เพราะเห็นว่าอาชีพทำนาเป็นงานที่หนัก ต้องพึ่งพาธรรมชาติ รายได้น้อยไม่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการที่มั่นคง จึงทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าอนาคตข้างหน้าชาวนาอาจสูญพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อสังคม
เมื่อปี 2553 ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 20.3 ล้านครัวเรือน มีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 3.2 คน คิดเป็นผู้ประกอบอาชีพทำนาคงเหลือประมาณ 4 ล้านครัวเรือน หรือมีประชากรที่เป็นชาวนาประมาณ 13 ล้านคน ในภาพรวมครัวเรือนชาวนาเฉลี่ยทั้งประเทศมีรายได้จากการเกษตรในครัวเรือนร้อยละ 50.62 และเป็นรายได้นอกการเกษตรร้อยละ 49.38 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2555)
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนชาวนาไม่ได้พึ่งพิงรายได้จากกิจกรรมการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมการผลิตนอกการเกษตรอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
ข้อเท็จจริงปัจจุบันพบว่าสมาชิกของครอบครัวชาวนาจำนวนหนึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพทำนาแต่ประกอบอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ ในขณะที่ชาวนาจำนวนไม่น้อยเมื่อผ่านพ้นฤดูกาลทำนาก็จะประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว เช่น ขายลอตเตอรี่ ขับรถแท็กซี่ เป็นต้น ดังนั้นตัวเลขสุทธิของผู้ประกอบอาชีพทำนาจริงน่าจะเหลือประมาณ 8 ล้านคน กล่าวได้ว่าชาวนาไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเช่นในอดีตอีกต่อไป
นอกจากนั้นในบรรดาคนทำนายังแบ่งออกได้สองประเภท ประเภทแรกเป็นชาวนาแท้ คือ ทำนาด้วยตนเอง ประเภทที่สอง คือ ผู้จัดการนา อาจเป็นเจ้าของที่นาหรือเช่านาแต่ให้คนอื่นทำในลักษณะผู้ประกอบการและผู้ลงทุนทำนา
สังคมชาวนาและสังคมชนบทยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ชาวนาและคนในชนบทจำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนแปลงฐานะตนเองเป็นชนชั้นกลาง ชาวนาจำนวนมากรับอิทธิพลทางความคิดบริโภคนิยมจากสังคมเมือง และทำการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดมากกว่าการพึ่งพาตนเอง
นั่นคือผลิตเพื่อขายมากกว่าผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมไปถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ทำให้ความคิดชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของคนในชนบทเปลี่ยนแปลงไปและไม่แตกต่างจากสังคมเมืองมากนัก
ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนคนจนและช่องว่างของความยากจนของครัวเรือนชาวนาลดลงไปมาก เพราะกิจกรรมการผลิตของครัวเรือนที่เคยพึ่งพากับการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตข้าวเป็นส่วนสำคัญได้กระจายไปสู่การพึ่งพิงนอกการเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้รายได้ของครัวเรือนชาวนาจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวนาและเกษตรกร กับอาชีพอื่น ยังมีสัดส่วนสูงถึง 15 เท่า และเมื่อเทียบกับภาคเกษตรอื่น ชาวนามีรายได้ต่ำสุดประมาณ 1.2 แสนบาทต่อครัวเรือน
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ของชาวนาลดลงเกิดจากภาวการณ์ลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวจากภาวะภัยแล้ง และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว และชาวนายังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2557)
จะเห็นได้ว่า โลกวันนี้เป็นโลกของคนมีความรู้ และมีเครือข่าย หากเราตามโลกไม่ทันก็จะเสียเปรียบ และถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เรื่อย ๆ หากชาวนาจะอยู่รอดได้ในสังคมยุคปัจจุบัน ชาวนาจำเป็นต้องมีการปรับตัว ไม่ยึดติดกับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว มีองค์ความรู้ด้านการเกษตร และการปลูกพืชที่หลากหลาย และมีเครือข่ายความร่วมมือ
ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด ชาวนาจึงต้องมีการปรับตัวและเท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง จากชาวนายุคเก่า เป็นชาวนายุคใหม่ มี “การปรับแนวคิดและสร้างจิตสำนึกใหม่” และมี “ความรู้และเครือข่าย” รวมตัวกันเป็นขบวนการชาวนาที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างพลังต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมไปถึงการปฏิรูปกลไกการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการและประชาสังคม คอยเป็นพี่เลี้ยงที่ให้ความช่วยเหลือและหนุนเสริมความเข้มแข็งของชาวนาอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกัน
ในอนาคตคงเลี่ยงไม่ได้ที่จำนวนชาวนาจะลดลงเรื่อย ๆ แต่สถานะของชาวนาจะค่อย ๆ ปรับตัวจากผู้รอรับความช่วยเหลือ ปรับไปเป็นคนชั้นกลาง ที่เป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้ และมีความทัดเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม
ที่มา : นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.