หากเรานิยามคำว่า “เกษตรกร” คือคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร อาทิ การเพาะปลูกพืชในสวนและไร่นา การเลี้ยงสัตว์บนบก ในน้ำจืดและทะเล “ชาวเขา” หรือ “ชาวปกาเกอะญอ” ผู้ที่อาศัยอยู่กลางป่ากลางเขา ทำการเกษตรเพื่อยังชีพและค้าขาย ชาวเขาเหล่านี้จึงรวมอยู่ในนิยามว่าเป็นเกษตรกรด้วยเช่นกัน
ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนขอบอกเล่าถึงประสบการณ์ของผู้เขียนเอง เมื่อสมัยเรียนหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยง ที่หมู่บ้านหม่องกั๊วะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก นานถึง 7 เดือน ชาวปกาเกอะญอกลุ่มนี้มีการรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือตนเองทั้งในด้านการเงินและการเพาะปลูก และเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอ
ชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านที่ผู้เขียนได้อาศัยอยู่และหมู่บ้านใกล้เคียง นอกจากทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวและพืชผักเพื่อการเลี้ยงชีพและเลี้ยงครอบครัว ตามวิถีปกติแล้ว แต่มีความแตกต่างจากเกษตรกรชาวพื้นราบทั่วไป นั่นคือ ผืนดินที่พวกเขาอยู่อาศัยและทำกินอยู่นั้น ตั้งอยู่ภายในบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ซึ่งไม่สามารถการออกโฉนดที่ดินสำหรับครอบครองเป็นกรรมกรรมสิทธิ์ของตนเองได้ และเป็นที่แน่นอนว่าเกษตรกรชาวเขาเหล่านี้ เมื่อไม่มีโฉนดที่ดิน ย่อมไม่สามารถเอาที่ดินของตนเองไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้เหมือนอย่างเกษตรกรพื้นที่ราบทั่วไป
กลุ่มชาวปกาเกอะญอที่ผู้เขียนพูดถึงนี้คือ “กลุ่มต้นทะเล” ซึ่งเกิดจากการวมตัวของชาวปกาเกอะญอทั้งหมด 6 หมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทางมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนชาวบ้านที่ยังคงปฏิบัติตามวิถีการผลิตแบบเดิมให้เกิดการรวมตัวและจัดตั้งกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันในการอนุรักษ์ผืนป่าและโครงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกป่าเพิ่มเติม นอกจากนี้กลุ่มต้นทะเลได้มีการตกลงร่วมกันในการจัดตั้งกองทุนการเงินของกลุ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันเอง
“กองทุนเงินของกลุ่มต้นทะเล” เริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ.2548 โดยเก็บจากรายได้ของสมาชิกกลุ่มต้นทะเล ทุก 100 บาท เข้ากองทุนเงิน 10 บาท และรายได้จากการขายผลผลิตส่วนกลาง กล่าวคือผลผลิตจากส่วนที่สมาชิกกลุ่มช่วยกันเพาะปลูก รายได้จากการขายผลผลิตส่วนนี้ทุก 100 บาท ก็จะนำเข้ากองทุน 10 บาท
ทั้งนี้ในการทำความเข้าใจเรื่องรายได้ของสมาชิกกลุ่ม ต้องทำความเข้าใจในเรื่องวิถีการทำไร่ของชาวปกาเกอะญอ กล่าวคือ ชาวปกาเกอะญอ จะมีรายได้หลักจากการทำไร่ข้าวเพียงปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากวิถีการทำไร่ของชาวปกาเกอะญอ จะเริ่มปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน และพืชอื่น ๆ แทรกลงไปในไร่ข้าว ดังนั้นรายได้ของชาวชาวปกาเกอะญอ จึงเป็นรายได้รายปี และวิถีการทำไร่ข้าวของชาวปกาเกอะญอ ยังเป็นการลงแรงช่วยกันทำและไปใช้แรงงานคืน เมื่อผู้ใดมาช่วยลงแรงปลูกและเกี่ยวข้าวในไร่ของเรา เราต้องไปลงแรงคืนช่วยปลูกและเกี่ยวข้าวในไร่ของผู้นั้น
รายได้ของกลุ่มต้นทะเลนอกเหนือจากการขายผลิตผลิตข้าวแล้ว ยังมีรายได้จากโครงการส่งเสริมอาชีพ โดยทางกลุ่มมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นเป็นผลผลิตส่วนกลางของกลุ่ม เพื่อนำออกจำหน่ายและหารายได้เข้ากลุ่ม ได้แก่ บุก ขมิ้นชัน และกล้วย
บุก ทางกลุ่มจะทำการจัดจำหน่ายเมื่อบุกมีน้ำหนัก 5 ขีดขึ้นไป โดยเหตุผลว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ลูกใหญ่และปล่อยให้ผลบุกที่ต่ำกว่า 5 ขีดได้เจริญเติบโตไปก่อน ซึ่งบุกนี้จะนำไปขายที่หมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง(หมู่บ้านชายแดนระหว่างไทยและพม่า) ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท
ขมิ้นชัน กลุ่มต้นทะเลจะปลูกและเก็บขมิ้นชิ้นเมื่อมีอายุครบสองปีเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีกว่า โดยจะทำการปลูกสลับแปลงเป็นรุ่นไป เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกปี ทางกลุ่มจะต้องนำขมิ้นไปฝานและตากแห้งก่อนและขายให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท
กล้วย สำหรับการปลูกกล้วยนี้ ทางกลุ่มเพิ่งริเริ่มทำการเพาะปลูกเพื่อขาย ผู้เขียนจึงไม่มีข้อมูลในเรื่องของราคาและผู้รับซื้อ ทราบเพียงแค่ว่า คนจากภายนอกหมู่บ้านมาขอรับซื้อ
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีรายได้จากการขายผ้าทอมือ และเครื่องจักรสานต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะเป็นผู้ตีราคาสินค้าและจัดจำหน่ายให้ แล้วจึงนำเงินมาให้แก่ทางกลุ่ม โดยรายได้ทั้งหมดนี้ ทุก 100 บาท จะนำเข้ากองทุนเงินของกลุ่ม 10 บาท หรือคิดเป็น 10% จากรายได้ (หากเป็นสินค้าสมาชิกกลุ่มผลิตเอง เช่น ครอบครัวนี้ขายข้าวหรือผ้าทอมือได้เงิน 1,000 บาท เงิน 100 บาทจะถูกเก็บเข้ากองทุนเงินของกลุ่ม และเงินที่เหลือ 900 บาทก็ตกเป็นของสมาชิกครอบครัวนั้น)
โดยเงินที่เก็บเข้ากองทุนเงินของกลุ่มต้นทะเลนั้น ทางกลุ่มจะนำเงินส่วนหนึ่งมาจัดสรรสำหรับพัฒนากลุ่ม เช่น ซื้อสิ่งของที่จำเป็น เช่น รถไถนา สำหรับให้สมาชิกกลุ่มได้ยืมไปใช้งาน และนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่การเพาะปลูก หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม โดยรายได้จากการขายผลผลิตส่วนกลางหากเหลือจากการเก็บเข้ากองทุนและการพัฒนากลุ่มแล้ว จะนำมาหารเฉลี่ยกันเพื่อเป็นค่าแรงให้แก่สมาชิกกลุ่มที่มาช่วยกันลงแรงทำงาน และอีกส่วนหนึ่งทางกลุ่มกันไว้สำหรับให้สมาชิกกลุ่มต้นทะเลยืมใช้หากมีความจำเป็น โดยในการขอยืมเงินในแต่ละครั้งต้องเข้าที่ประชุมกลุ่มเพื่อให้สมาชิกกลุ่มเห็นชอบ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ ร้อยละ 1-2 ต่อปี หรือไม่เก็บดอกเบี้ย หากสมาชิกรายนั้นมีความเดือดร้อนทางการเงินจริง ๆ
จะเห็นได้ว่ากองทุนเงินของกลุ่มต้นทะเลมีลักษณะคล้ายกับแนวคิดไมโครไฟแนนซ์ ที่เป็นระบบการเงินในระดับจุลภาค ซึ่งให้บริการทางการเงินขึ้นพื้นฐานทั่วไปสำหรับคนจน เช่น การฝากเงิน การกู้เงิน และการให้หลักประกันแก่ผู้ยากจน และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งแตกต่างกันตรงที่ชาวบ้านเข้ามาจัดการกันเอง โดยไม่ผ่านขั้นตอนและเงื่อนไขของสถาบันการเงิน
โดยปกติการกู้ยืมเงินตามสถาบันการเงินทั่วไป ชาวบ้านจะต้องนำทรัพย์สินเป็นหลักประกันในการกู้เงิน และมีอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลง แต่สำหรับกองทุนเงินของกลุ่มต้นทะเลเป็นลักษณะของการช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อน โดยไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินมาเป็นหลักค้ำประกัน แต่ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้
นอกจากนี้กองทุนเงินของกลุ่มต้นทะเล ยังเป็นหลักประกันความเสี่ยงให้แก่สมาชิก เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย สมาชิกกลุ่มก็ยังมั่นใจได้ว่ามีเงินในส่วนของกองทุนเงินคอยช่วยเหลืออยู่
กองทุนเงินของกลุ่มต้นทะเล จึงเป็นตัวอย่างของสถาบันการเงินชุมชนรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยที่มีข้อจำกัดทางการเงิน มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขและอุปสรรคที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของเกษตรกรเป็นไปได้ยาก และเมื่อนโยบายรัฐยังไม่สามารถตอบสนองการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรรายย่อยได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือกันเองของเกษตรกรในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 29 เมษายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.