บทความคอลัมน์ขวัญของแผ่นดินสัปดาห์นี้ ขอไว้อาลัยให้กับ คุณสนั่น ชูสกุล นักพัฒนาอาวุโสแห่งลุ่มน้ำมูน อีสานตอนใต้ ที่เป็นทั้งรุ่นพี่ และครูของผู้เขียน รวมทั้งนักพัฒนารุ่นกลาง และรุ่นใหม่อีกหลายคน
สังคมไทย เป็นสังคมที่เห็นการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจมีคุณค่า มากกว่าความผาสุก และความปกติสุขของคนเล็กคนน้อยในสังคม หลายสิบปีที่ผ่านมา จึงมีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากเกิดขึ้นทั่วประเทศ สร้างผลกระทบทำให้เกษตรกรและคนยากจน ต้องกลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน ถูกอพยพโยกย้าย ไร้แหล่งทำมาหากิน และสูญเสียอาชีพที่เคยพึ่งพา
บทเรียนอันเจ็บปวดของคนภาคอีสาน คือโครงการโขง-ชี-มูล ที่เมื่อ 20 ปี ก่อน ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำให้กับพื้นที่ภาคอีสาน 4.98 ล้านไร่ ด้วยการสร้างเขื่อนถึง 14 เขื่อน ตลอดเส้นทางลุ่มน้ำชี มูน แต่น่าเสียดายที่ยี่สิบกว่าปีผ่านมา นอกจากโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้ จะแก้ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในภาคอีสานไม่ได้แล้ว ยังทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากในภาคอีสานต้องกลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน และสูญเสียอาชีพ โดยไม่มีการเยียวยาชดเชยที่เหมาะสม ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล ทั้งหมดจำนวนเท่าใด แต่เฉพาะเขื่อนราษีไศลที่เดียว มีเกษตรกรที่ต้องสูญเสียที่ดินถึง 7,700 ครอบครัว ไม่นับอีกนับหมื่นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอาชีพ และถิ่นทำมาหากิน
น่าแปลกใจที่รัฐบาลไทย ไม่เคยสรุปบทเรียนความล้มเหลวของการสร้างเขื่อนในอดีตที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ทั้งที่มีงานศึกษาทางวิชาการหลายชิ้นที่น่าสนใจ และสามารถเอื้อให้เกิดการสรุปบทเรียน เพื่อวางแผนการจัดการลุ่มน้ำได้อย่างเหมาะสมในพื้นที่ภาคอีสาน โดยที่ไม่ต้องสร้างผลกระทบมหาศาลกับผู้คนที่ทำมาหากินและอยู่อาศัยในลุ่มน้ำ เช่นโครงการที่เป็นมาในอดีต
สนั่น ชูสกุล คือ คนที่ทำงานศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีงานศึกษาของเขาที่ทำร่วมกับชาวบ้าน และโครงการทามมูล หลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทามนับแสนไร่ ที่จะถูกทำลายลงเพราะการสร้างเขื่อนเหล่านี้ รวมไปถึงแหล่งเพาะพันธุ์ปลา แหล่งอาหารอันอุดมตามธรรมชาติ และแหล่งหยูกยาสมุนไพรอันเคยเป็นที่พึ่งพาของคนยากจน ก็จะถูกทำลายลงไปพร้อมกันด้วย
สนั่น ชูสกุล ปักหลักทำงานกับชาวบ้านยากจนในเขตลุ่มน้ำมูล จังหวัดสุรินทร์ มาตั้งแต่ปี 2535 และก่อตั้งโครงการทามมูลในเวลาต่อมา เพื่อเดินหน้าศึกษาค้นคว้าทางวิชาการร่วมกับชาวบ้าน ให้คำปรึกษากับชาวบ้านที่เดือดร้อน และนำเสนอข้อมูลผลกระทบของโครงการโขง ชี มูล และระบบนิเวศของลุ่มน้ำมูนที่จะถูกทำลาย หักล้างเหตุผลความเชื่อของฝ่ายรัฐที่มองว่าโครงการขนาดใหญ่และเขื่อน จะนำมาซึ่งอาชีพที่ดีกว่า รายได้ที่ดีขึ้น และแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ของภาคอีสาน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง
การมุ่งมั่นอุทิศตนช่วยเหลือสังคมและเกษตรกรยากจน รวมทั้งการผลิตงานวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลาการทำงานหลายสิบปีของเขา ทำให้สนั่น ชูสกุล ได้รับรางวัลวรรณกรรมอย่างมากมาย ตั้งแต่เรื่องสั้น ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ในปี 2536 และรางวัลชมเชยจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2542 เรื่องสั้นหิมพาล ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศวรรณกรรมทอง จากนิตยสารดอกเบี้ย และรางวัลชมเชยจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในปี 2537 ไปจนถึงเรื่องสั้น ถนนไปชายทะล ที่ได้รับรางวัลชมเชย จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในปี 2538 และในปี 2558 นี้เอง ที่เขาเพิ่งได้รับรางวัลเกียรติยศสันติประชาธรรม สำหรับบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสังคม ตามแนวทางของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือได้ว่าการทำงานของเขาที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขางทั้งจากแวดวงนักสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ เครือข่ายชาวบ้าน และพี่น้องในแวดวงวรรณกรรม
แม้ว่าวันนี้การเดินทางของสนั่น ชูสกุลจะหยุดลง เขาจากไปด้วยวัย 56 ปี จากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา แต่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับเขาต่างเชื่อมั่นว่า เส้นทางการปกป้องสายน้ำมูนที่เขาได้ร่วมสร้างกับพี่น้องเขื่อนราษีไศล สมาคมคนทาม ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทามมูน และน้องๆ จากโครงการทามมูน จะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ในเส้นทางที่เขาถากถางมา
เส้นทางการบอกเล่าเรื่องราวของลำน้ำมูนจะยังไม่จบลง ตราบเท่าที่เขื่อนและโครงการขนาดใหญ่ ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างสรรพคุณ โดยไม่เหลียวแลบาดแผลของผู้คนและบทเรียนความล้มเหลวในอดีต จิตวิญญาณของพี่ชายแห่งสายน้ำมูน สนั่น ชูสกุล จะยังคงดำรงอยู่ในใจของพวกเราทุกคน และสืบสานสู่คนรุ่นต่อไป อีกนานเท่านาน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 22 เมษายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.