เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเปิดทางให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเช่าหรือครอบครองที่ดินในระยะยาวหวังผลในการสร้างงานสร้างรายได้ถือเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของหลายรัฐบาลทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและจากการยึดอำนาจ เพียงแต่กระบวนการและวิธีการส่งเสริมการลงทุนหรือการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนนั้นแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายขายชาติขายแผ่นดิน ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ทุกรัฐบาลก็ยังเดินหน้าอนุมัติโครงการ
นับย้อนไปสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542หนึ่งในกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับตามข้อตกลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ในการขอรับการช่วยเหลือทางการเงินอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งในกฎหมายดังกล่าวได้ระบุเรื่องการให้สิทธิกับเอกชนเช่าที่ดินในมาตรา 3 และมาตรา4 ว่าสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ระยะเวลานาน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้วผู้เช่าและผู้ให้เช่าสามารถต่อสัญญาเช่าออกไปได้อีกแต่ไม่เกิน 50 ปี หมายความว่าผู้เช่ามีสิทธิเช่าที่ดินได้นานถึง99 ปี แม้ว่าการเช่าเกิน 100 ไร่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมที่ดินก็ตาม
ต่อมาสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังไม่ได้ยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ด้วยโดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายอ้างว่าเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ความจริงคือเปิดทางให้นายทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามายึดครองที่ดินอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากได้ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 โดยเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 23ได้ระบุการได้มาซึ่งที่ดินเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้ดำเนินการด้วยวิธีการ จัดซื้อ เช่าซื้อ เช่าระยะยาว แลกเปลี่ยน ถมทะเล หรือเวนคืนมาจากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทั้งที่ป่าสงวนเขตคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ธรณีสงฆ์ รวมถึงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นที่ได้มาให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อพัฒนาแล้วให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจขาย ให้เช่าได้ และใน มาตรา 26 ยังได้กำหนดว่าการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือใช้ประโยชน์นั้นให้เช่าเป็นระยะเวลาคราวหนึ่งไม่น้อยกว่า 50 ปี ไม่เกิน 99 ปี และนำทรัพย์สินนั้นไปจำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้
ล่าสุดนับจากต้นปี 2558 จนถึงขณะนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ได้รื้อฟื้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาอีกรอบ เห็นได้จากความพยายามของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังตามที่ปรากฏเป็นข่าว เมื่อเดือนมกราคม 2558 “สมคิด สั่งธนารักษ์เร่งสรุปแก้กฎหมายเช่าที่ดิน 99 ปี หวังจูงใจนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น” ต่อมาจึงได้ออกคำสั่งมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพร้อมมีประกาศฉบับที่ 1/2558 และฉบับที่2/2558 กำหนดให้ 10 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.สงขลา จ.หนองคาย จ.นราธิวาส จ.เชียงราย จ.นครพนม และ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีขนาดพื้นที่รวม 1,832,480 ไร่นำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การท่องเที่ยว ตามยุทธศาสตร์แนวทางการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
เพื่อความชัดเจนในการเร่งรัดให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปด้วยความรวดเร็วทันใจ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 17/2558 เรื่องการจัดที่ดินเพื่อประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเร่งรัดกระบวนการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เขตป่าไม้ถาวรตามมติครม. เขตปฏิรูปที่ดินให้ตกเป็นที่ราชพัสดุเพื่อให้สามารถนำมาให้เอกชนเช่าที่ดินนั้นได้ระบุไว้ในคำสั่งข้อ 6 และข้อ 7 ว่าต้องไม่น้อยกว่า 50 ปีและอาจต่อสัญญาได้อีก และผู้เช่าที่ดินมีสิทธินำไปให้เช่าช่วงเพื่อหาผลประโยชน์ได้ รวมถึงบรรดาสิ่งปลูกสร้างที่ผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงได้สร้างขึ้นก็ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้นด้วย การเช่าแม้จะเกิน 100 ไร่ก็ไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินตามกฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมระบุไว้ อีกต่อไป
อีกมาตรการหนึ่งที่ คสช.ใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนแต่ถูกคัดค้านจากนักกฎหมาย นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่เคารพในสิทธิของชุมชนและอาจส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจากเดิมที่การจัดผังเมืองรวมจะต้องมีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ (พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518)และต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เกษตรกรรม
สำหรับแนวทางกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษหากเป็นที่ดินถมเองและยังไม่ได้สร้างถนน ไฟฟ้าน้ำประปา จะเสียค่าเช้าในอัตรา 32,000 บาท/ไร่/ปี เดือนละไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน แต่หากไม่ต้องการพัฒนาที่ดินเองให้นิคมจัดสร้างจะเสียค่าเช่า 160,000 บาท/ไร่/ปี (ดูอีกครั้ง 5 พื้นที่ใช้ ม.44 กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ www.citizenthaipbs.net/node/5488)
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการเพิกถอนที่ดินรัฐ เพื่อนำมาให้เอกชนเช่าในระยะยาวของรัฐบาลแต่ละยุค มีการรุกคืบที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากในช่วงแรกที่นำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมาให้เช่า ต่อมาให้เช่าเขตคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถมทะเล เวนคืนที่ธรณีสงฆ์ และที่หดหู่ที่สุดคือการเวนคืนที่ดินป่าไม้ถาวรซึ่งถือเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงการพยายามปลดล็อกเปิดทางให้นายทุนเข้ามายึดที่ดิน เช่น การเช่าเกิน 100 ไร่ โดยไม่ต้องขออนุมัติอธิบดีกรมที่ดิน หรือการยกเลิกกฎหมายผังเมืองในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนขั้นรุนแรงจึงปรากฏชัดแล้วว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสียอย่างแน่นอนเพราะเท่าที่ดูจากสิ่งที่รัฐบาลวางกรอบให้เอกชนแสดงเจตจำนงลงทุนนั้น ยังไม่มีใครเห็นทิศทางที่ชัดเจนว่าจะสร้างรายได้และสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ได้สักกี่มากน้อย และจะเป็นจริงแค่ไหน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 15 เมษายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.