ในสายตาของคนทำงานทางสังคมซึ่งทำงานคลุกคลีกับปัญหาของชาวนาและเกษตรกรรายย่อยมาระยะหนึ่ง ต้องยอมรับว่าชุดวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมชาวนาและสังคมชนบทไทย เพื่อนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการทำงานขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมของเอ็นจีโอในยุคสมัยเมื่อ 10-20 ปีก่อน กับ ยุคปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มชาวนาและเกษตรกรรายย่อยให้ยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ยังไม่ค่อยเห็นถึงพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่มากนัก ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะขบวนเอ็นจีโอส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งผู้เขียนเองก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
จากอดีตลักษณะการทำงานของเอ็นจีโอส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในแนวทาง “Small is Beautiful” การทำงานเปลี่ยนแปลงจุดใหญ่มักเริ่มต้นจากจุดเล็กเสมอ นั่นคือการทำงานลงลึกระดับพื้นที่ เลือกฐานที่มั่นในชุมชนหรือเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่อาจมีปัญหาหรือได้รับผลกระทบระดับนโยบายและโครงสร้างในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง และมองว่าแนวทางการต่อสู้และกระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้จะสามารถเป็นตัวแทนของชาวนาและเกษตรกรในภาพใหญ่ได้ โดยชาวนากลุ่มนี้มาจากการทำงานระดับฐานราก เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมระดับหนึ่ง สามารถทำงานร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันจนถึงที่สุด
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการทำงานลักษณะนี้อาจมีความเหมาะสมสอดคล้องกับข้อจำกัดด้านกำลังคนและทรัพยากรที่มีอยู่น้อย รวมถึงสภาวะสังคมชาวนายุคเมื่อ 20-30 ปีก่อน ยังไม่ค่อยมีความสลับซับซ้อนสูงนัก ครัวเรือนชาวนาสามารถอยู่รอดได้จากการพึ่งพาการผลิตภายใน และมีรายได้จากภาคเกษตรเป็นหลัก
สังคมชาวนาในความหมายแบบเดิมข้างต้นตายไปแล้ว ระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมามีบทสรุปและผลการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์หลายชิ้นกล่าวไว้เช่นนั้น จริงหรือที่สังคมชาวนาตายไปแล้ว เพราะสถิติตัวเลขชาวนายังเป็นอาชีพของคนกลุ่มใหญ่ของประเทศกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน และประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม หรือว่าบทสรุปนี้เป็นคำกล่าวเกินจริงเพื่อต้องการปลุกกระแส กระตุกต่อมคิดเพื่อให้เกิดการตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้เพียงเท่านั้น
เนื่องจากสังคมไทยและขบวนเอ็นจีโอส่วนใหญ่ยังจมอยู่กับความเข้าใจว่าสังคมชาวนายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จึงยังมีชุดวิเคราะห์สังคมชาวนาแบบเดิม ติดอยู่กับภาพจำของชาวนาแบบเก่าที่อ่อนด้อยทางเศรษฐกิจและสังคม เข้าไม่ถึงข้อมูลและข่าวสาร ทำให้ถูกชักจูงและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนได้ง่าย มีข้อจำกัดในการดำเนินการด้านอื่น ๆ เช่น การแปรรูป และการตลาด เป็นต้น ดังนั้นมุมมองและอัตลักษณ์ต่อชาวนายังเป็นรูปแบบเดิม ๆอยู่คือ มองว่าชาวนาเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบฝ่ายเดียว ดังนั้นเพื่ออยู่รอดชาวนาควรดำรงรักษาบทบาทการผลิตที่ติดอยู่กับผืนดินเอาไว้ ควรอยู่แบบพอเพียง ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ควรอาจหาญมีวิถีชีวิตและบริโภคแบบสมัยใหม่ทัดเทียมกับคนในเมือง
ปัญหาอันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนของสังคมชาวนา ทำให้มุมมองการทำงานมีความหยุดนิ่ง ขาดการริเริ่มประเด็นใหม่ ๆ ที่ท้าทาย ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนามีทั้งด้านบวกและด้านลบ ส่วนหนึ่งเป็นพลังของสังคมชาวนาในการปรับตัว ชนบทไม่ได้มีแต่ชาวนาสูงวัย เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่รอวันผุกร่อน ไร้ผู้สืบทอด แต่อีกด้านหนึ่งเราพบเห็นชาวนารุ่นใหม่จำนวนมากที่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ บางคนอาจมีงานประจำหรืออาชีพอื่นอยู่แล้ว แต่อาสาเข้ามาทำงานสร้างเครือข่ายและประสานงานให้กับชาวนารุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นเองในหลากหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มฉันรักชาวนา กลุ่มชาวนาวันหยุด กลุ่มชาวนาเงินล้าน กลุ่มเพลินข้าวบ้าน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวนาและคนรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองจากลูกจ้างบริษัทมาเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และค้าขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ
โจทย์คือเราเห็นแต่ภาพชาวนารุ่นใหม่ที่รู้จักปรับตัวและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นหรือ แล้วชาวนารุ่นพ่อแม่ ชาวนารุ่นกลางและรุ่นเก่าซึ่งเป็นชาวนาส่วนใหญ่หายไปไหน เราจะทำอย่างไรกับพวกเขา เราจะปล่อยเขาไว้ให้เผชิญกับชะตากรรม หรือเชื่อมโยงให้ชาวนาในแต่ละรุ่นได้อยู่ร่วมกันได้ สนับสนุนกัน ไม่ขัดแย้งกันระหว่างวิธีคิดแบบเดิมกับวิธีคิดแบบใหม่ สามารถมีแนวทางสนับสนุนด้านการตลาดแนวใหม่ให้กับชาวนารุ่นเก่าและรุ่นกลางได้เข้าถึงมากขึ้นหรือไม่
สุดท้ายอยากเห็นว่าขบวนคนทำงานขับเคลื่อนและปฏิบัติการทางสังคม ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอ หากรวมถึงกลุ่มชาวนาและเกษตรกรรายย่อย นักวิชาการ และภาครัฐ เกิดการทบทวนชุดวิเคราะห์เกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาและเกษตรกรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมครั้งใหญ่ เพื่อนำไปสู่การจัดวางตำแหน่ง บทบาท และรูปแบบการทำงานหนุนเสริมความเข้มแข็งชาวนาและเกษตรกรในระยะเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมและมีทิศทาง โดยเฉพาะการเชื่อมร้อยและเปลี่ยนผ่านระหว่างชาวนายุคเก่าสู่ชาวนายุคใหม่ในการแก้ปัญหาและพัฒนาให้ชาวนาโดยรวมสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ทัดเทียม และไม่ควรมีใครต้องถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 8 เมษายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.