จากบทความเรื่อง“เกษตรกรปลดหนี้ ตอนที่ 1 กลไลราคา” พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2559 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตของเกษตรกร จากเกษตรแบบพึ่งตนเอง มาเป็นเกษตรแบบอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งมีกลไกตลาดเป็นตัวกำหนด ทำให้มีการแข่งขันทางการค้าสูง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถคาดเดารายได้จากผลผลิตที่แน่นอนได้ บ้างก็ขาดทุน บ้างก็ได้กำไร และประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในแต่ละปี ทำให้เกษตรกรขาดทุนตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายของเกษตรกร ทั้งสามสาเหตุหลักนี้ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ
ในแต่ละปีเรามักจะเห็นภาพข่าวที่เกษตรกรออกมาชุมนุมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือเรื่องปัญหาหนี้สินที่ตนเองเผชิญอยู่อย่างสม่ำเสมอจนชินตา ซึ่งหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรระดับหนึ่ง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการการปลดหนี้ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงการขยายเวลาการชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หรือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ก็มีมาตรการแก้หนี้ของเกษตรกรโดยการลดหนี้เงินต้นเหลือครึ่งหนึ่ง ตัดดอกเบี้ยที่มีทั้งหมด และโอนหนี้ของเกษตรกรจากแหล่งอื่นเข้ามาเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐดังกล่าวมีข้อจำกัดไม่สามารถช่วยเหลือและแบกรับภาระหนี้สินของเกษตรกรได้ทั้งหมด
นอกจากภาพเกษตรกรที่เรียกร้องความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐแล้ว ในหนังสือ “หนี้นอกระบบเกษตรกร ฟางเส้นสุดท้าย สู่การสูญเสียที่ดิน” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิชีวิตไท เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้นำเสนอภาพของเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มช่วยตนเองในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ในบทความนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนจากกรณีตัวอย่างการรวมกลุ่มช่วยเหลือตนเองของเกษตรกร มาให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่าเกษตรกรมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือตนเองกันอย่างไร
ที่อำเภออู่ทอง จัดหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการรวมกลุ่มก่อตั้ง “กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทองสุพรรณบุรี” ขึ้นในปีพ.ศ.2547สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีหนี้สิน และไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ การรวมกลุ่มจึงมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้ ให้ได้รับการซื้อหนี้จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้สามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ และได้รับการฟื้นฟูอาชีพ ในการฟื้นฟูอาชีพสมาชิก ทางกลุ่มได้ส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงหมูหลุม ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมให้สมาชิกทำนาอินทรีย์และแปรรูปข้าวขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง
ในการขายผลผลิตของกลุ่ม ทางกลุ่มมีการขายอยู่ 2 รูปแบบ คือการขายตรงให้กับผู้บริโภคผ่านโครงการผูกปิ่นโต โดยจะมีลูกค้าที่แน่นนอนและลูกค้าจะจ่ายเงินค่าข้าวล่วงหน้าเป็นรายปี และอีกแบบคือ การขายโดยการออกร้านขายสินค้าตามการเชิญของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตลาดหน้าอำเภออู่ทอง ตลาดนัดรูทการ์เด้น ที่ซอยทองหล่อ ตลาดในงานสัมมนาต่าง ๆ ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สินค้าที่นำไปขายมีทั้งข้าวสาร ผักและผลไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากสมาชิกในกลุ่ม
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญของกลุ่ม คือการส่งเสริมให้สมาชิกหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ โดยทางกลุ่มมีข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าวที่แตกต่างกัน ระหว่างการปลูกข้าวเคมี การปลูกข้าวเคมีผสมอินทรีย์ และการปลูกข้าวที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบอินทรีย์ รวมถึงผลกำไรที่แตกต่างกันระหว่างการปลูกข้าวทั้ง 3 รูปแบบนี้ เพื่อชี้ข้อมูลให้สมาชิกเห็นความแตกต่าง และหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ทดแทนการปลูกข้าวเคมี ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินเกษตรกร
โดยเกษตรกรที่ผู้เขียนนำมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้คือ “ป้ายา สุริยา” เกษตรกรชาวสุพรรณบุรี สมาชิกกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทองสุพรรณบุรี ซึ่งก่อนหน้าที่ป้ายาจะเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ป้ายาเป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบเคมีมาก่อน ประกอบกับสมาชิกในครอบครัวป้ายาประสบอุบัติเหตุและล้มป่วยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ป้ายาต้องกู้ยืมเงินและมีหนี้สินก้อนแรกจากการกู้ยืมเงินมารักษาสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว พร้อมทั้งการทำนาแบบเคมี ทำให้ป้ายาต้องจ้างแรงงานและเครื่องจักรทุกอย่างในการทำนา เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายกับราคาข้าวที่ขายได้แล้ว ป้ายาแทบไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้นในการแก้ปัญหาหนี้สินก้อนแรก ป้ายาตัดสินใจขายที่ดิน เพราะไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะมีภาระที่สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยต้องดูแล ทำให้ไม่มีเวลาในการประกอบอาชีพ
ต่อมาป้ายาได้ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มฯ ป้ายาได้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของตนเองมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ป้ายาจึงตัดสินใจกู้เงินจากธ.ก.ส. และกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำมาลงทุนทำเกษตรอินทรีย์ เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตและพึ่งตนเองได้ สามารถใช้แรงงานในครอบครัวทำเองได้ ราคาผลผลิตก็ดี ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน และได้ทานอาหารที่สดสะอาด ไม่มีสารเคมีตกค้าง ร่างกายจะได้ไม่เจ็บป่วย เพราะการทำนาเคมีที่ผ่านมา ป้ายาต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงและราคาผลผลิตต่ำ
ปัจจุบันป้ายามีรายได้จากการทำนาและการปลูกผักเป็นหลัก ซึ่งเป็นการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ความสำเร็จของป้ายา คือการพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องใช้เงินมาก หลายอย่างที่เคยจ้างก็ทำได้เอง ผลผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือผัก ก็มีคนต้องการ เพราะเห็นว่าไม่มีสารเคมี รวมทั้งครอบครัวป้ายามีอาหารที่ปลอดภัย การเข้ากลุ่มทำให้มีเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกัน ป้ายาจึงตัดสินใจแล้วว่า จะทำเป็นอินทรีย์ไปเรื่อย ๆ ด้วยต้นทุนที่น้อย ไม่นานคงสามารถปลดหนี้สินได้
จากกรณีตัวอย่าง “เกษตรกรปลดหนี้” ที่ผู้เขียนได้นำเสนอในบทความครั้งนี้ แม้ว่าอาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้ประสบปัญหาหนี้สินระดับรุนแรงได้ แต่ผู้เขียนต้องการนำเสนอภาพอีกด้านหนึ่งของการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยตัวเกษตรกรเอง เนื่องจากที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างและนโยบายภาครัฐ ยังไม่สามารถดำเนินการอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือกันเองของเกษตรกร สามารถเป็นทิศทางในการดำเนินการควบคู่กันได้ โดยไม่ต้องรอการแก้ปัญหาระดับนโยบาย และจะเป็นทางออกในการปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 1 เมษายน 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.