สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกแย่งยึดที่ดินจากใครบ้าง และพวกเขาครอบครองที่ดินไปแล้วมากน้อยแค่ไหน นี่น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยหากได้อ่านหนังสือเรื่อง“นักแย่งยึดที่ดิน” หรือ “The Land Grabbers” ที่เขียนโดยนักข่าวอาวุโสชาวอังกฤษ คุณเฟรด เพียร์ส หนังสือเล่มนี้กำลังจะถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ในเดือนมีนาคมนี้
นักข่าวอาวุโสผู้นี้ใช้เวลานับปี เดินทางไปรอบโลกเพื่อสัมภาษณ์และค้นหาคำตอบเกี่ยวกับการแย่งยึดที่ดินในทุกทวีป จากเจดดาห์ ลอนดอน ชิคาโก จนไปถึงสุมาตรา กัมพูชา และลาว บางคนอาจจะมองว่า การแย่งยึดที่ดินเป็นคำด่าประณาม แต่คุณเพียร์ส ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เห็นว่า คำนี้ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง และเป็นหัวข้อการประชุมทางวิชาการมาแล้วหลายครั้ง จึงน่าจะเป็นคำที่ยอมรับกันได้ในทางวิชาการ
การเปิดเผยสถานการณ์การแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นทั่วโลกของเฟรด เพียร์ส ถือว่ามีความสำคัญและเป็นข้อมูลที่น่าตกใจยิ่ง เพราะมีเกษตรกรและคนยากจนจำนวนมาก โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย กลายเป็นคนไร้ที่ดิน และแรงงานรับจ้างมีเพียงค่าแรงอันน้อยนิดประทังชีวิต ภายใต้วาทกรรมและข้ออ้างเพื่อการพัฒนาที่นักลงทุนต่างชาติ และรัฐบาลประเทศเจ้าบ้านช่วยกันแต่งขึ้น ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม การแย่งยึดที่ดิน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการคุกคาม สร้างความเดือดร้อน ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า อย่างที่ไม่สามารถจะประเมินความเสียหายได้
ในระดับโลก มีตัวเลขประมาณการจากอ็อกแฟม องค์กรความช่วยเหลือเอกชนว่าที่ดินราว 560 เอเคอร์ (เท่ากับ 1,400 ล้านไร่ หรือมากกว่าสี่เท่าของพื้นที่ประเทศไทย) ได้ถูกแย่งยึดไปแล้วจากมหาเศรษฐีทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ที่ดินทั่วโลกนี้ได้ถูกแย่งยึดครอบครองไปแล้ว จำนวนเท่าใด
ในประเทศไทยเอง สถานการณ์การแย่งยึดที่ดินเกิดขึ้นมาโดยตลอดและรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤตอาหารโลก ในปี พ.ศ. 2551 ที่ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนำมาสู่การกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากโดยนักลงทุนต่างชาติ และเศรษฐีภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำชลประทาน ดังที่ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยเปิดเผยไว้เมื่อปี พ.ศ. 2555 ว่าที่ดินในประเทศไทยราว 100 ล้านไร่ (หนึ่งในสามของประเทศ) อยู่ในมือของคนต่างชาติ ในรูปแบบของนิติกรรมอำพราง และ ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เคยเปิดเผยไว้ในปีพ พ.ศ. 2556 ว่ามีผู้ถือครองที่ดินในประเทศสูงถึง 630,000 ไร่ ซึ่งเป็นเพียงที่ดินประเภทโฉนด ยังไม่รวมถึงที่ดินเอกสารสิทธิ์ประเภทอื่น
การแย่งยึดที่ดินในประเทศไทยไม่ได้มีรูปแบบเพียงการกว้านซื้อที่ดินจากนักลงทุน และมหาเศรษฐีทั้งในและต่างประเทศเท่านั้น ปัจจุบันการแย่งยึดที่ดินมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น นโยบายการพัฒนาประเทศ และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ๆ ส่งผลกระทบต่อการแย่งยึดที่ดินของเกษตรกร คนจน และชนพื้นเมือง เป็นพื้นที่ในวงกว้างไม่แพ้การกว้านซื้อที่ดินจากมหาเศรษฐีด้วยเช่นกัน
นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้ได้แก่การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษบนพื้นที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อย การกำหนดเขตที่ดิน และเขตป่าของรัฐในที่ทำกินของคนยากจนและชนพื้นเมืองที่ห่างไกล การขยายพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ และอื่น ๆ อีกมาก แม้จะถูกเรียกว่าเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งโครงการเหล่านี้ได้สร้างความเดือดร้อน เพราะแย่งยึดที่ดินของประชาชน ทำให้คนชนบทและคนชายขอบต้องอพยพโยกย้ายจากถิ่นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน กลายเป็นแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน ไม่มีอนาคต และมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากที่เกษตรกรทั่วโลกกำลังเผชิญ
มองอีกมุมหนึ่ง การแย่งยึดที่ดินนอกจากจะมีรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ยังมีรูปแบบผ่อนส่งให้เกิดขึ้นช้า ๆ ด้วยการแย่งยึดการใช้ประโยชน์ที่ดินไปจากประชาชน เปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกจากพืชอาหารของครอบครัว เป็นพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงาน ที่เกษตรกรและคนจนบริโภคไม่ได้ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือแม้แต่ข้าว สายพันธุ์ที่ชาวนาปลูกขายแต่ไม่บริโภคเอง แม้จะไม่ถูกแย่งยึดที่ดินอย่างเฉียบพลัน แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ มักเดินอยู่บนเส้นทางของการขาดทุนซ้ำซาก มีหนี้สินท่วมตัว และต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ ถือเป็นการแย่งยึดที่ดินโดยระบบเศรษฐกิจและระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน
หนังสือ “การแย่งยึดที่ดิน” กล่าวไว้ว่า การแย่งยึดที่ดินไม่ได้เกิดขึ้นจากมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่ต้องการยึดครองที่ดินราคาถูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เพราะความทะยานอยากของรัฐบาลประเทศเจ้าบ้าน ที่ต้องการเงินลงทุนมหาศาลในโครงการขนาดใหญ่ จึงเชื้อเชิญและมอบข้อเสนอที่ดินราคาถูกให้กับนักลงทุนต่างชาติ
นี่น่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทย ที่จะไม่เดินรอยตามรัฐบาลประเทศเจ้าบ้านเหล่านั้นที่เอาความจริงคือ “การทอดทิ้งเกษตรกรรายย่อยให้เผชิญกับความเดือดร้อน” ไปแลกกับความฝันที่ว่า ”การพัฒนาและเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น” ซึ่งเอาเข้าจริง มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ที่สำคัญ บทเรียนโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา บอกได้ชัดแล้วว่า คนที่ได้รับผลประโยชน์จริงไม่ใช่กลุ่มเกษตรกรยากจน หรือคนท้องถิ่นที่ถูกบอกให้เสียสละแต่อย่างใด
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 25 มีนาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.