ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อความผันผวนของฤดูกาลสร้างความเสี่ยงและความเสียหายต่อการผลิตของเกษตรกร ซึ่งปรากฏผลชัดเจนมากขึ้นทุกที โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการต่างคาดการณ์กันว่าสถานการณ์ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดจากสภาพอากาศ เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และพายุไซโคลน จะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น
ในปี 2559 นี้ ทุกฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤติภัยแล้งครั้งใหญ่และรุนแรงหนัก ประกอบกับปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในเขื่อนมีเหลือเพียงร้อยละ 20 ต่ำสุดในรอบสิบปี โดยเฉพาะบริเวณลุ่มเจ้าพระยา และต้องสงวนไว้เพื่อการอุปโภคและบริโภคจนถึงหน้าฝน จึงต้องงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง การที่ต้องหยุดทำนาปรังในช่วงหน้าแล้งจึงเท่ากับตัดโอกาสรายได้ ดังนั้นชาวนาจึงต้องดิ้นรนหาทางรอดด้วยวิธีการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวหลากหลายรูปแบบ
จากการสำรวจข่าวที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของชาวนาเพื่อสู้กับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ชาวนาส่วนใหญ่จะลดพื้นที่ทำนาลง มีชาวนาบางรายยอมเสี่ยงเพื่อสามารถทำนาต่อไป เพราะไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ด้วยการลุงทุนเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำเพื่อทำนา ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก ชาวนาบางรายก็ปล่อยทิ้งนาให้รกร้าง และออกไปทำงานรับจ้าง อย่างไรก็ตามมีชาวนาหลายรายที่มีการปรับตัวเพื่อหาทางออกได้อย่างน่าสนใจ
ตัวอย่างชาวนาที่มีวิถีการปรับตัวเพื่อสู้ภัยแล้ง เช่น ชาวนาเขตหนองจอก กรุงเทพฯ รายหนึ่งหันมาปลูกแตงโมปลอดสารพิษในนาข้าว ทดแทนการทำนาปรังช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นการเรียนรู้และทดลองด้วยตนเองมาเรื่อย ๆ เป็นปีที่ 3 ระยะแรกจะประสบปัญหาบ้าง เพราะเป็นการปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ต่อมาเริ่มเรียนรู้มากขึ้น จนประสบผลสำเร็จ ผลผลิตแตงโมมีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น ชาวนาอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แบ่งพื้นที่นาบางส่วนปลูกพืชหมุนเวียนในช่วงหน้าแล้ง ปลูกพริก แตงกวา ถั่วฝักยาว แตงโม ฟักทอง ซึ่งเป็นการลงทุนน้อย ให้ผลผลิตเร็ว มีรายได้หมุนเวียนชัดเจน และสามารถบรรเทาค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ จากการปลูกและบริโภคในครัวเรือนบางส่วน และที่เหลือก็นำไปขายสร้างรายได้
จะเห็นได้ว่าการปรับตัวเพื่อสู้กับภาวะภัยแล้งของชาวนาทั้ง 2 กรณีนี้ เริ่มต้นจากการตระหนักต่อปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบซ้ำซาก และเริ่มเรียนรู้ว่าหากทำแบบเดิมก็จะล้มเหลวแบบเดิม จึงเริ่มเรียนรู้ปรับวิถีการผลิตด้วยแนวทางใหม่
ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือและจูงใจให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนา หาอาชีพเสริม และปรับเปลี่ยนการผลิตในช่วงฤดูแล้ง เช่น ให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำกับชาวนาเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และพัฒนาช่องทางการตลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนจากชาวนาออกมาว่า ชาวนาอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนด้านความรู้ในการปรับตัวอย่างใกล้ชิด มากกว่าการให้เงินกู้ยืมซึ่งจะกลายเป็นภาระหนี้สินในภายหลัง รวมไปถึงการหาตลาดจำหน่ายสินค้าและตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรที่เป็นหลักให้ชัดเจน ราคาเป็นธรรมเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในการผลิตสินค้าว่ามีตลาดรองรับที่มั่นคงและแน่นอน และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
ก่อนอื่นเราต้องตระหนักว่าภาวะวิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้กับชาวนาและเกษตรกรในปีนี้ ไม่ใช่ภาวะชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นกลไกธรรมชาติที่จะเกิดรุนแรงหนักขึ้นและหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นแนวทางและมาตรการสนับสนุนภาครัฐควรดำเนินควบคู่กันทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยแนวทางที่ยั่งยืนคือการสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาขีดความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักกับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อน การสนับสนุนให้เกษตรกรและองค์กรชุมชนวิเคราะห์ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ การค้นหา ศึกษาและทดลองทางเลือกในการปรับตัวรูปแบบต่าง ๆ และนำมาทดลองปฏิบัติใช้
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 18 มีนาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.