บทความเรื่องลัทธิบริโภคนิยม เกิดจากอะไรและจะแก้ไขกันอย่างไร ของรศ.วิทยากร เชียงกูล ได้กล่าวถึงที่มาของลัทธิบริโภคนิยมในสังคมไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า“สังคมไทยพัฒนามาจากสังคมชุมชนเกษตรแบบดั้งเดิม พึ่งตนเองได้แบบมีผลผลิตเหลือเฟือ การจัดงานฉลองตามประเพณี งานบุญทางศาสนา นิยมทำกันใหญ่โตเพื่อแสดงความใจกว้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น อาหารการกิน ต้องทำเผื่อเหลือมากๆ เพราะกลัวว่าถ้าไม่มากพอ คนที่มาร่วมงานจะหาว่าใจแคบ สมัยก่อนคนไทยในชุมชนเกษตรผลิตอาหารได้เอง รวมทั้งเวลาจัดงานญาติพี่น้องเพื่อนบ้านนำเอาอาหารมาช่วยงานด้วย จึงไม่ได้สิ้นเปลืองมาก แต่วัฒนธรรมแบบนี้เมื่อเอามาใช้ในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินซื้อหา การจัดงาน เช่น บวชนาค แต่งงาน ฯลฯ จึงกลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยกว่าสมัยก่อนมาก”
เนื้อหาจากบทความดังกล่าวข้างต้นทำให้ผู้เขียนนึกถึงสังคมชนบทสมัยก่อนและวิถีการผลิตทางเกษตรแบบดั้งเดิมที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เกษตรกรจากที่ทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ก็ผันตัวเองมาเป็นการเกษตรแบบอุตสาหกรรมและการค้ามากยิ่งขึ้น มีการใช้เครื่องจักรและเครื่องทุ่นแรงเพิ่มขึ้น (รวมถึงการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง) และวาดหวังว่าระบบการผลิตเชิงการค้าเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถเติบโตได้ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามวิถีการผลิตที่ทำให้เกษตรกรสามารถเติบโตได้ทางเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยมนั้น ก็ไม่ได้สวยงามตามภาพฝันที่วางไว้ แม้ว่าหากเกษตรกรจะมีปัจจัยการผลิต ที่ดิน แรงงาน เงินทุน เป็นของตนเอง เกษตรกรมีที่ดินและมีเงินทุนจำนวนมากในการลงทุนการผลิต จ้างแรงงาน และเมื่อได้ผลผลิตปริมาณมาก เกษตรกรก็ควรจะมีรายได้จากการขายผลผลิตจำนวนมากตามไปด้วย
แต่เกษตรกรอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนราคาผลผลิตที่มากเนื่องจาก 1. มีเกษตรกรรายอื่นที่สามารถเพราะปลูกผลผลิตออกมาได้เยอะเช่นกัน จนทำให้ผลผลิตมีจำนวนมากและเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด 2. ผู้ซื้ออาจจะไม่ได้ต้องการซื้อผลผลิตชนิดนั้น และ 3. ผลผลิตของเกษตรกรมีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ที่ต้องการซื้อสินค้ามีจำนวนน้อย ผลผลิตที่เกษตรกรคาดหวังว่าจะได้ราคาสูงนั้น ก็อาจจะถูกกดราคาลงมา เพราะความต้องการซื้อน้อย และผลผลิตการเกษตรก็มีระยะเวลาเน่าเสีย
หลักของการค้าขายผลผลิตทางการเกษตร(สินค้า) ตามรูปแบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากปัจจัยการผลิตที่พึงต้องมีเป็นของตนเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “กลไลตลาด” เรื่องความต้องการซื้อของผู้ซื้อ(อุปสงค์) และความต้องการขายของผู้ขาย(อุปทาน) ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาผลผลิตทางการเกษตร เพราะนอกจากจะมีส่วนทำให้เกษตรกรขาดทุนจากการขายได้แล้ว ก็ทำให้เกษตรกรได้กำไรจากการขายได้เช่นกัน เพราะหากผลผลิตที่เกษตรกรสามารถเพาะปลูกออกมามีปริมาณน้อย แต่คุณภาพดี และผู้ซื้อมีความต้องการซื้อสูง เกษตรกรก็สามารถขายผลผลิตชนิดนั้นได้ในราคาสูงเช่นกัน ในระบบทุนนิยมที่การแข่งขันค่อนข้างสูง เกษตรกรแทบจะไม่สามารถการันตีรายได้ที่แน่นอนในแต่ละปีของตนเอง เพราะบางปีเกษตรกรอาจจะปลูกมาก- ได้มาก ปลูกน้อย-ได้น้อย ปลูกมาก-ได้น้อย หรืออาจปลูกน้อย-ได้มาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ “กลไกตลาด” ในแต่ละช่วง
แต่สำหรับเกษตรกรปัญหาการขาดทุนจากการขายผลผลิตนั้น ไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้เกษตรกรขาดทุน เพราะในระหว่างกระบวนการเพาะปลูกนั้น อาจเกิดภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ โรคและแมลงระบาด ส่งผลให้ผลผลิตในปีนั้นเสียหายและทำให้เกษตรกรขาดทุน
นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้จากการขายผลผลิตแบบรายปี ในขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแบบรายเดือน ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นภายในครอบครัว เช่น เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ก็อาจส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายเร่งด่วน จนต้องหันไปกู้ยืมเงิน เพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงเพื่อใช้ลงทุนทำการเกษตรในครั้งต่อไป หรือแม้แต่การขาดทุนจากลงทุนทำการเกษตรในรอบปีก่อน ๆ ก็เป็นผลทำให้เกษตรกรขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร จนเกิดการกู้หนี้ ยืมสินเพื่อมาลงทุนทำการเกษตร
เกษตรกรที่กู้เงินมาเพื่อลงทุนการเกษตรและใช้จ่ายนั้น โดยส่วนมากจะเป็นเกษตรกรที่ขาดทุนและไม่มีเงินทุนในการทำเกษตรมาก่อนหน้าที่จะทำการกู้เงิน และเมื่อเกษตรกรได้เริ่มกู้เงินแล้ว จะเป็นการยากที่เกษตรกรจะสามารถหลุดภาวะหนี้สินได้ เนื่องจากได้กู้เงินเพราะขาดทุนมาก่อนหน้าเพื่อมาลงทุนและใช้จ่าย และเมื่อประสบปัญหาขาดทุนจากการผลิตซ้ำรอยเดิม ทั้งด้านราคาและจำนวนผลผลิตเสียหาย ก็เป็นผลให้เกษตรกรต้องกู้เงินเพื่อมาลงทุนใช้จ่ายต่อไปเรื่อยๆ
ฉบับหน้าผู้เขียนจะเล่าถึงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ผู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดได้จากวิถี “กลไกตลาด” จนสามารถหลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน พวกเขาเหล่านั้นมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินกันอย่างไร
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 11 มีนาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.