งานวิจัยเรื่องการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรจากปัญหาหนี้นอกระบบของโลโคลแอค มีข้อเสนอจากงานวิจัยที่น่าสนใจ จึงจะขอนำบางส่วนมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ และหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร พบว่าทั้งเกษตรกรและหน่วยงานรัฐเอง ต่างก็ยอมรับว่าปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาทั้งสองระดับ คือระดับครอบครัวเกษตรกร และการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย จึงจะสามารถหยุดยั้งปัญหาหนี้นอกระบบได้ งานวิจัยชิ้นนี้ จึงมีข้อเสนอทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ในส่วนข้อเสนอระดับพื้นที่ สรุปโดยย่อคือ
(1) เกษตรกรต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและต้องการหลุดพ้นจากหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ในทีนี้ยังหมายถึงเกษตรกรควรยอมรับสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจของตนเอง รวมไปถึงการหยุดเพื่อทบทวนและตั้งสติในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้น
(2) เกษตรกรควรปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิถีชีวิตที่ส่งเสริมให้เกิดหนี้นอกระบบ เช่น วิถีการผลิตการเกษตรที่ต้องพึ่งคนอื่น แต่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ควรวางแผนการลงทุนการผลิตเกินตัว หากเกษตรกรสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการผลิตที่สามารถพึ่งตนเองได้ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีเงินเก็บออม และมีอิสระในอาชีพการเกษตรมากขึ้น
(3) เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดการหนี้นอกระบบ กระบวนการกลุ่มจะช่วยให้เกษตรกรมีความกล้าในการเจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบ ลดภาวะความตึงเครียดในครอบครัวและภายในชุมชน
(4) เกษตรกรควรจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินลงทุนทำการเกษตร และเป็นสวัสดิการค่าใช้จ่ายของเกษตรกรยามเดือดร้อนและประสบภาวะฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกครอบครัว และที่ผ่านมามักเป็นสาเหตุให้เกษตรกรเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ
ส่วนข้อเสนอระดับนโยบาย สรุปโดยย่อคือ
(2)รัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตในระบบที่พึ่งพาตนเองได้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่จำเป็นให้กับเกษตรกรยากจนเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากระบบการผลิตที่เกษตรกรทำอยู่ปัจจุบัน คือจุดเริ่มต้นของหนี้สินและการขาดทุนการผลิตซ้ำซาก
(3)รัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างความมั่นคงจากเศรษฐกิจฐานราก เช่น นโยบายประกันราคาผลผลิตเบื้องต้น นโยบายประกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ ควรใช้หลักการธนาคารเพื่อคนจนเข้ามาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อวางแผนการผลิต การตลาดและการออมในครัวเรือน
(4)รัฐควรพัฒนาศักยภาพสถาบันการเงินชุมชน เพื่อเป็นกลไกระดับท้องถิ่นในการคัดครอง ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะวิกฤตหนี้สิน สร้างวินัยการออม และเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือเกษตรและคนจนให้มีแหล่งพึ่งพิงยามเกิดเหตุฉุกเฉินในชีวิต
(5)รัฐควรจัดตั้งให้มีธนาคารที่ดิน เพื่อไถ่ถอนที่ดินเกษตรกรคืนจากนายทุนและธนาคาร ป้องกันปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดินจากการหลุดจำนองและขายฝาก รวมถึงทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดิน จัดสรรให้เกษตรกรที่สูญเสียที่ดินไปแล้ว ได้เช่าและเช่าซื้อที่ดินเพื่อทำอาชีพการเกษตรต่อไป
(6)รัฐควรแก้ไขกฎหมายห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนอกระบบทั่วไปสูงกว่าร้อยละ 15 ที่กฎหมายกำหนดอยู่ รวมทั้งควรจัดให้มีการลงทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อควบคุมเจ้าหนี้นอกระบบบางส่วนให้อยู่ภายใต้กฎหมาย
งานวิจัยยังเสนอด้วยว่า การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบด้วยมาตรการการเงินการคลัง การให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และการพักชำระหนี้ ซี่งเป็นมาตรการที่รัฐใช้อยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมาสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ระดับรากฐานได้ เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาของการช่วยเหลือ เกษตรกรที่ยังขาดศักยภาพในการพึ่งตนเอง ก็จะต้องหันกลับไปพึ่งเจ้าหนี้นอกระบบอีกเช่นเคย การกำหนดมาตรการ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เกษตรกรเผชิญอยู่ รัฐเองจึงไม่ต่างกับเกษตรกร ที่ต้องใช้สติ หันกลับมาทบทวนอย่างจริงจังว่า แนวทางแก้ปัญหาที่เคยทำผ่านมานั้น ในท้ายที่สุดแล้ว ได้นำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาจริงหรือ
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 4 มีนาคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.