ถ้าถามว่าความสุขคืออะไร เราคงได้คำตอบที่แตกต่างและหลากหลายกันไป เพราะแต่ละคนย่อมมีมุมมองต่อความสุขที่ไม่เหมือนกัน ความสุขเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอก เช่น สภาพแวดล้อม บรรยากาศ สิ่งเร้าและกระตุ้น ปัจจัยภายในคือความคิด ความรู้สึก และสภาวะทางอารมณ์ของแต่ละบุคคลด้วยเหตุนี้บางครั้งเราจึงอาจพบเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของชาวนายากจนไม่แตกต่างจากรอยยิ้มของเศรษฐีผู้มั่งคั่ง บางคนอาจบอกว่าความสุขเกิดจากการได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาและความสมหวังในสิ่งต่าง ๆ แต่ความสุขก็เกิดขึ้นได้จากความพอใจหรือยินดีกับสิ่งที่มีในปัจจุบัน แม้จะไม่ได้ในทุกสิ่งที่คาดหวังก็ตาม
ความสุขของชาวนา
หากถามถึงความสุขในมุมมองของชาวนา ชาวนาบางคนอาจมองทั้งความสุขและความทุกข์เป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ “ข้าว” หากข้าวเจริญเติบโต ได้ผลผลิตดี ราคาดี นั่นคือความสุข แต่หากข้าวแห้งเหี่ยว ล้มตาย หรือราคาข้าวตกต่ำ นั่นคือความทุกข์
ในปี 2557 ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 2,346 ราย พบว่าระดับความสุขของเกษตรกรไทยโดยรวมอยู่ในระดับมาก เฉลี่ยประมาณร้อยละ 78 โดยความสุขของเกษตรกรไทยวัดจากตัวชี้วัดความสุขใน 6 มิติ ได้แก่ ครอบครัวดี สุขภาพดี สังคมดี การงานดี สุขภาพเงินดี และใฝ่รู้ดี ตามลำดับ โดยในแต่ละมิติมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
เมื่อแยกสาขามาดูเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าว พบว่า มีความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับมากที่สุดด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.35 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน ภายหลังจากได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีความสุขในระดับมากขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 88.6 สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากเกษตรกรได้รับเงินแล้วเกษตรกรมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีความหวังในอาชีพทำนามากขึ้น
น่าเสียดายว่าปีล่าสุด 2558 ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ยังไม่มีการเปิดเผยผลการสำรวจระดับความสุขของชาวนาออกมา แต่ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากจากสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวนากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันว่าได้บั่นทอนความสุขของชาวนาลดลงไปมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะจากปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพ รายได้ และภาระหนี้สินจากการกู้ยืมช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น
ความทุกข์ของชาวนา
ความทุกข์ของชาวนา คือ ความทุกข์ยากและลำบากจากปัญหาต่าง ๆ รอบด้าน ทั้งความทุกข์ภายนอก ได้แก่ สุขภาพร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความทุกข์ภายใน ได้แก่ จิตใจ และปัญญา รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรม ความทุกข์ของชาวนาที่เป็นปัญหาในอดีต ก็ยังคงเป็นปัญหาสะเทือนใจต่อคนในยุคปัจจุบัน และมีความซับซ้อนและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ความทุกข์ทางกาย เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ความเสี่ยงต่อสารเคมีปนเปื้อนและตกค้างในร่างกาย เชื้อโรคจากสภาพแวดล้อม และวิธีการทำงานที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหักโหม
ความทุกข์ด้านจิตใจ จากค่านิยมสังคมชาวนาที่เปลี่ยนไปเป็นระบบเกษตรเชิงพาณิชย์ ทำให้ชาวนาดิ้นรนปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก แต่ประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ เกิดภาวะขาดทุนซ้ำซาก ทำให้ชาวนาเกิดความเครียด ซึมเศร้า นำไปสู่การเกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา ต้องขายทรัพย์สินและจำนองที่นา เปลี่ยนอาชีพเป็นกรรมกรรับจ้างในเมืองหลวง และบางรายถึงขั้นฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา
ความทุกข์ด้านปัญญา เกิดการสูญเสียวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม จิตวิญญาณในการพึ่งพาตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างชาวนาด้วยกันเองและสิ่งแวดล้อม เพราะมุ่งเน้นการเกษตรเชิงพาณิชย์มากเกินไป
ความทุกข์ทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดจากภาระต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นจากหลายสาเหตุ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด แต่กลับได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้เสียเปรียบทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก และวิถีความเป็นอยู่ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสบริโภคนิยมจนยากลำบาก และไม่พึ่งตนเอง
ขจัดความทุกข์และคืนความสุขให้ชาวนา
ขจัดความทุกข์และคืนความสุขด้วยการแก้ไขปัญหาของชาวนาอย่างยั่งยืน หลายเรื่องเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้บรรลุผลสำเร็จ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ดำเนินมาแล้ว 4 ปี เข้าสู่ปีสุดท้ายในปีนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวนาและเกษตรกรอย่างยั่งยืน มีการกำหนดแผนและแนวทางยุทธศาสตร์ไว้อย่างสวยหรูและรอบด้าน แต่ยังขาดการผลักดันให้เกิดผลเชิงรูปธรรม มีหลายเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี โดยเฉพาะการหนุนเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของชาวนาให้มีความมั่นคงและมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง และเห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรต้องมีการผลักดันอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ได้แก่
1.พัฒนาระบบการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของชาวนาและเกษตรกรให้มีความมั่นคง และให้ครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจกับเกษตรกรในรายได้ขั้นต่ำที่สามารถยึดการเกษตรเป็นอาชีพได้
2.เร่งพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลการเกษตร ให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงด้านการผลิตทางการเกษตรจากทุกภัยพิบัติให้กับเกษตรกรในทุกพื้นที่ โดยให้เกษตรกรมีส่วนรับผิดชอบชำระเบี้ยประกันตามความเสี่ยงของพื้นที่
3.ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยพัฒนาระบบสวัสดิการให้ครอบคลุมเกษตรกรในทุกสาขาอาชีพ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
4.สร้างแรงจูงใจให้เยาวชน หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ และแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้มีจิตสำนึก เห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรและวิถีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้อย่างครบวงจร
5.การจัดหาที่ดินทำกิน สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่อาชีพเกษตรกรรม และเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมการพัฒนาภาคเกษตรของเกษตรกรต้นแบบให้มากขึ้น
6.พัฒนาสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นกลไกสนับสนุนการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง โดยการพัฒนาความรู้และความสามารถด้านการตลาดและการบริหารจัดการ และการสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน ภายใต้ระบบการควบคุมตรวจสอบที่รัดกุม รวมทั้งการเชื่อมโยงบทบาทของสถาบันเกษตรกรเพื่อร่วมวางแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมตามพื้นฐานและความต้องการของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.