ในบทความที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบของเกษตรกร จะมองแยกขาดจากโครงสร้างการผลิตที่ผลักดันให้เกษตรกรเป็นหนี้ไม่ได้ และปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่ได้เป็นเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับปัญหาในระดับนโยบายอย่างใกล้ชิด ส่วนทางออกของปัญหานั้น คงไม่มีมาตรการใดที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กัน เพราะความซับซ้อนของปัญหาหนี้สินเกษตรกรมีมาก และมีระดับความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน
จากการพูดคุยกับเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ พบว่าจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรเริ่มถึงทางตัน หรือเผชิญปัญหาจนเกือบที่จะไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ได้ ซึ่งเกษตรกรบางส่วนหากอดทนต่อสู้ หรือมีกลุ่มองค์กรเกษตรกรให้คำปรึกษาช่วยเหลือ อาจสามารถปรับตัวได้ทัน และสามารถรักษาที่ดินไว้ได้ แต่เกษตกรส่วนใหญ่ที่ไม่รู้เท่าทันกฎหมาย มักต้องพ่ายแพ้คดีความและสูญเสียที่ดินไปในที่สุด
เกษตรกรที่สามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาหนี้สินได้ มีจุดเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ในสาเหตุของปัญหาหนี้สินตนเอง และยอมรับในส่วนที่ตนเองนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้สิน การแก้ไขของพวกเขาจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป อาทิ เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตใหม่ และไม่ยอมจำนนอยู่ในวิถีชีวิตแบบเดิม ที่เสี่ยงจะสูญเสียที่ดิน และก่อให้เกิดหนี้สินไม่รู้จบ
ที่เคยอยู่ในวิกฤติหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ เผชิญปัญหารุนแรงถึงขีดสุดจนถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะกำลังจะสูญเสียที่กรณีศึกษาประสบการณ์ของเกษตรกรภาคกลางท่านหนึ่ง ดินทำกินทั้งหมดรวมทั้งที่อยู่อาศัยด้วย มีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบหลายล้านบาท สาเหตุจากการลงทุนทำนาแล้วขาดทุนซ้ำซาก และลงทุนประกอบอาชีพเสริมที่ขาดความรู้ ขาดทักษะ หลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อของผู้ประกอบการ ว่าทำธุรกิจนี้แล้วจะร่ำรวยในเวลารวดเร็ว เมื่อหลงเชื่อก็เอาที่ดินจำนอง และกู้หนี้นอกระบบมาหมุนใช้จ่าย แก้ปัญหาวันต่อวัน เมื่อขาดทุนจนไม่สามารถมีเงินมาหมุนเวียนในครอบครัว ไม่สามารถกู้หนี้ในระบบหรือนอกระบบได้อีก เมื่อต้องเจอกับภาวะถูกเจ้าหนี้ทวงถามบ่อยครั้ง ทำให้เกษตรกรท่านนี้ถึงกับมีภาวะเสียสติ จนเกือบที่จะปลิดชีวิตตัวเองหนีปัญหา
แต่เกษตรกรท่านนี้ใช้เวลาราว 2 เดือน หยุดคิดทบทวนประสบการณ์ความล้มเหลวของชีวิตตลอดระยะที่ผ่านมา จนได้แรงกระตุ้นให้ตนเองลุกขึ้นมาเริ่มต้นอีกรอบด้วยความคิดที่ว่า "หากเราไม่สู้ แล้วเราจะทำอะไรต่อไป" หลังจากตั้งหลักได้ เกษตรกรท่านนี้จึงหาทางออกด้วยการเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อขอใช้สิทธิ์ให้ กฟก. ซื้อหนี้จากธนาคารเอกชน และเดินทางไปร้องขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานรัฐทุกที่ จนถึงทำเนียบรัฐบาลเพื่อร้องต่อนายกรัฐมนตรีก็เคยทำ เพื่อให้มีการยับยั้งไม่ให้ธนาคารยึดที่ดินตนเองขายทอดตลาด
บทเรียนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินที่สำเร็จของเกษตรกรท่านนี้ ไม่ใช่ว่าเพราะเกษตรกรท่านนี้มีโอกาสดี หรือมีสถาบันอื่นเข้ามาช่วยเหลือ แต่เพราะเกษตรกรรายนี้ กล้ายอมรับปัญหา และพร้อมที่จะสู้กับปัญหา โดยหนี้ในระบบ ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็ง ส่วนหนี้นอกระบบก็เข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอผ่อนชำระเป็นงวดๆ ไป จนกว่าจะหมด โดยมีวินัยและซื่อสัตย์ รวมทั้งใช้เวลาพิสูจน์ตนเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้และสังคมอีกครั้ง เกษตรกรท่านนี้เคยเล่าให้ฟังว่า "ต้องคิดเสมอว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วต้องตั้งสติ ดึงสติกลับมาให้ได้ อย่าคิดหวังเพียงให้คนอื่นช่วยเรา แต่เราต้องช่วยตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก"
จากเดิมที่ไม่เคยสนใจวิธีการผลิตที่พึ่งตนเอง ก็ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง "จากเดิมที่คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะรวย ได้เงินเยอะๆจำนวนมากๆเพื่อที่จะสบาย แต่ไม่เคยสบายเลย มีแต่ก่อหนี้สิน ก็เปลี่ยนวิธีคิดเป็นว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตครอบครัวลดรายจ่าย มีรายได้ มีชีวิตที่มีความสุขสงบ รักษาที่ดินทำกิน มีพออยู่พอกินให้ได้ก็พอ" พอวิธีคิดเปลี่ยน เกษตรกรรายนี้ ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เริ่มที่จะตั้งสติเรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองถนัด จนสามารถยืนขึ้นได้อีกครั้ง
ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ การแก้ไขปัญหาควรเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ ในสาเหตุของปัญหาหนี้สิน และยอมรับในส่วนที่เกิดจากตนเอง โดยตั้งสติและเรียนรู้ที่จะต่อสู้ สร้างกำลังใจเพื่อฝ่าฟันให้หลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน
ในส่วนของภาครัฐ ควรจะสนับสนุนและให้โอกาสเป็นพิเศษ หรือให้แต้มต่อกับเกษตรกรเหล่านี้ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพ ปรับเปลี่ยนชีวิต วิถีการผลิต และรักษาที่ดินไว้ได้ เพื่อให้อาชีพเกษตรกรกลับมาเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี สมฐานะคนที่ผลิตอาหารให้กับสังคมได้อีกครั้ง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.