"ที่ดิน" คือฐานทรัพยากรที่สำคัญต่อระบบการผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกคนและทุกอาชีพ ทั้งคนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ต้องการที่ดินเพื่อเพาะปลูกและหว่านไถ ภาคอุตสาหกรรม ต้องการที่ดินเพื่อประกอบการ ตั้งโรงงาน บริษัท ห้างร้าน โรงแรมและรีสอร์ท ทุกสาขาอาชีพต่างก็มีความจำเป็นในการใช้ที่ดิน ซึ่งจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับขนาดกำลังการผลิตและรูปแบบธุรกิจ
ไม่เพียงแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความต้องการในการใช้ทรัพยากรที่ดิน ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เช่น แม่ค้าแผงลอยตามท้องถนนและตลาด ก็มีความจำเป็นในการใช้ที่ดินตั้งแผงค้าของตนเอง คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าปากซอย ก็มีความต้องการใช้ที่ดินหัวมุมถนนไว้สำหรับจอดรถและตั้งวินมอเตอร์ไซค์เพื่อรอรับผู้โดยสาร
นอกจากนี้ "ที่ดิน" ไม่เพียงแต่มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ที่ดินยังเป็นทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีวิต ตามหลักปัจจัยสี่ นั่นคือ ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่หรือบ้านหลังเล็ก อาศัยตามคอนโด หรือห้องเช่าเล็ก ๆ ที่ดินก็มีความจำเป็นในการตั้งบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของเรา
"ที่ดิน" ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นต่อเราทุกคนและในทุกอาชีพ วันหนึ่งหากเราต้องสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งรกรากบ้านเรือน หากเราถูกยึดที่ดินทำกินไป นั่นก็เท่ากับว่าเราสูญเสียช่องทางในการประกอบอาชีพ และในขณะนี้มีคนกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการสูญเสียที่ดินอย่างหนัก ทั้งที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและที่ดินเพื่อประกอบอาชีพ คือ "กลุ่มอาชีพเกษตรกร"
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ทำการสำรวจสถานะความมั่นคงด้านที่ดินทำกินของเกษตรกรพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยกว่าร้อยละ 52 จะต้องเช่าที่ดินทำกินเพื่อการประกอบอาชีพ และเกษตรกรอีกกว่าร้อยละ 20 จะต้องจำนองที่ดินเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และมีเกษตรกรเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
หากถามว่าทำไมเกษตรกรไทย จึงไม่สามารถรักษาที่ดินของตนเองเอาไว้ได้ สาเหตุหลัก ๆ คงหนีไม่พ้นปัญหาเรื่อง "หนี้สิน" แน่นอนว่าในการหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้จ่ายและลงทุนการผลิต ที่ดินคือหลักทรัพย์ค้ำประกันที่สำคัญ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปจำนองและกู้ยืมเงิน และหากถามเพิ่มเติมว่าทำไมเกษตรกรไทยจึง "เป็นหนี้" และไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนเองก่อขึ้นมาได้ จนตนเองต้องสูญเสียที่ดิน
คนส่วนใหญ่มักมองว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นเพียงปัญหาระดับบุคคล ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย อยากมี อยากได้ตามกระแสสังคมของตัวเกษตรกรเอง จึงทำให้เกษตรกรเหล่านั้นเป็นหนี้ ในบทความนี้เราคงไม่สามารถชี้ชัดได้ขนาดนั้น เพราะความจำเป็นและต้องการใช้จ่ายมีกันอยู่ในทุกอาชีพ
เพราะหากมองดูสถานะอาชีพเกษตรกร เราจะพบว่ารายได้จากอาชีพเกษตรนั้นไม่มีความแน่นอน และไม่สามารถประกันได้ว่าในแต่ละปีตนเองจะมีรายรับจากผลผลิตที่แน่นอนจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้เป็นเพราะหลายเหตุปัจจัยแวดล้อมด้วยกัน เช่น ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ในแต่ละปีเกษตรกรอาจเจอภาวะผลผลิตล้นตลาด ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ถูกกดราคารับซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง โครงสร้างการผลิตและการตลาดที่ไม่เป็นธรรม ปัจจัยทางด้านธรรมชาติ ไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วม เป็นผลทำให้ผลผลิตเสียหาย ผลผลิตไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ขั้นหนักที่สุดเกษตรกรอาจไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ หรือรายได้เท่ากับศูนย์และขาดทุน
เมื่อเกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์รายรับที่แน่นอนได้ รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ในขณะที่รายจ่ายต้องมีการใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา เกษตรกรจึงมีเหตุจำเป็นที่ต้องนำที่ดินที่มีอยู่ไปจำนองเพื่อให้มีเงินทุนในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ด้วยความไม่มั่นคงทางรายได้สะสมมาเรื่อย ๆ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรก็ลดลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
เกษตรกรหลายคนต้องสูญเสียที่ดินทำกินของตนเองไป เกษตรกรหลายคนผันตัวจากเกษตรกรที่ทำกินบนที่ดินของตนเอง มาเป็นผู้เช่าที่ดินผู้อื่นเพื่อการเกษตรและหารายได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ขณะที่รายรับก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนสำหรับเกษตรกรอยู่เช่นเดิม และด้วยภาวะหนี้สินพอกพูนจนนำไปสู่การสูญเสียที่ดิน เกษตรกรหลายคนที่ทำการเกษตรเอง ก็ต้องผันตัวมาเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร รับค่าจ้างรายวันแทน
และในปัจจุบันมีเกษตรกรกว่าร้อยละ 80 ที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อเป็นต้นทุนในการเริ่มการผลิต และหลักทรัพย์อย่างเดียวที่พวกเขาสามารถใช้เพื่อคำประกันได้นั้นก็คือ "ที่ดิน" ซึ่งเท่ากับว่ายังคงมีเกษตรอีกกว่าร้อยละ 80 ซึ่งที่ดินของเขาเหล่านั้นอยู่บนความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน จากปัญหารายได้ที่ไม่แน่นอน จากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาขาดทุนและหนี้สิน
สถานการณ์ปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่กัดกินชีวิตเกษตรกรไทยมายาวนาน แต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวไม่มีท่าทีที่จะลดลงเลย กลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่อาชีพเกษตรกร ที่หลายคนยังให้ความสำคัญว่าเป็น "กระดูกสันหลังของชาติ" จะทรุดโทรมไปมากกว่านี้ ถึงเวลาหรือยังที่ภาครัฐและสังคมไทยจะเริ่มช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.