สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นรอบหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นข่าวและปรากฏการณ์ว่าชาวนาและเกษตรกรจำนวนมากประกาศขายที่นาทิ้ง เพื่อหนีปัญหา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สื่อมวลชนได้รายงานข่าวที่เกิดขึ้น คือ ที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีชาวนากว่า 20 ราย ขึ้นป้ายประกาศขายที่นาของตนเอง
เนื่องจากตลอดช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ชาวนาประสบกับปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด ไม่มีน้ำทำนาและปลูกพืชชนิดใดก็ไม่ได้ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ชาวนาหลายรายจึงตัดสินใจประกาศขายที่นาทิ้ง
เพื่อนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงดูครอบครัว บางรายตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น โดยนำเงินที่ได้ไปลงทุนซื้อที่ดินแปลงใหม่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่เดิม บางรายพลิกชีวิตเมื่อขายที่ดินไปแล้วก็หันไปเช่าที่ดินนายทุนทำนาแทน
นอกจากนี้เมื่อถามเหตุผลว่าทำไมชาวนาต้องตัดสินใจขายที่นาให้กับนายทุน ไม่ใช่เพราะชาวนาไม่รู้สึกเสียดายที่ดินมรดกซึ่งตกทอดมาจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย แต่ที่ขายด้วยความจำใจเพราะต้องทนทุกข์ยากจากความแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนการทำนาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนทำนา และที่สำคัญชาวนาหลายรายต้องประสบกับปัญหาหนี้สินทั้งจากหนี้ในระบบ เช่น ธ.ก.ส. และหนี้สินนอกระบบ ซึ่งเร่งรัดและบีบให้ชาวนาต้องตัดสินใจขายที่นาเพื่อนำเงินไปชำระหนี้
สถานการณ์ภาพรวมระดับประเทศในเรื่องการสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินของเกษตรกร น่าเสียดายว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลจากหน่วยงานใดทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แต่จากข้อมูลในอดีตส่วนหนึ่งอาจพอประเมินแนวโน้มและทิศทางความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง จากรายงานของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2502 – 2509 รวม 8 ปี เกษตรกรสูญเสียที่ดินจากการจำนองและขายฝาก จำนวน 172,869 ไร่ หรือคิดเฉลี่ยปีละ 21,608 ไร่ ตัวเลขล่าสุดปี 2555 มีที่ดินเกษตรกรที่ติดจำนองและขายฝากทั่วประเทศประมาณ 30 ล้านไร่
นอกจากนี้ยังพบว่าการเป็นเจ้าของที่ดินทำกินของเกษตรกรยากจนลดลงตามลำดับ จากประมาณ 1.05 ล้านครัวเรือน ในปี 2549 ลดลงเหลือ 0.83 ล้านครัวเรือนในปี 2552 และลดลงเหลือ 0.48 ล้านครัวเรือน ในปี 2554 นั่นคือในรอบ 6 ปี แนวโน้มการสูญเสียที่ทำกินของเกษตรกรมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2555)
ในขณะที่แนวโน้มการสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมแทนที่ด้วย บ้านจัดสรร โรงงาน ห้างร้าน และเขตอุตสาหกรรม ข้อมูลปี 2535-2544 พื้นที่เกษตรกรรมลดลงประมาณ 1 ล้านไร่ เฉลี่ยลดลง 1 แสนไร่ต่อปี
รวมไปถึงสูญเสียพื้นที่ผลิตพืชอาหารเป็นพืชพลังงานเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลผลิตมันสำปะหลังไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น จาก 1.8 ล้านตันในปี 2556 เป็น 2 ล้านตันในปี 2557 ในขณะที่น้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น จาก 0.38 ล้านตันในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 0.78 ล้านตันในปี 2556
การสูญเสียที่ดินจากการกว้านซื้อของทุนในประเทศและทุนต่างชาติ ส่วนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดแต่สามารถประเมินได้จากสัดส่วนการถือครองที่ดินทางการเกษตรของประเทศปี 2555 ประมาณ 149 ล้านไร่ เกษตรกรถือครองด้วยตนเอง ประมาณ 71 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินถือครองโดยนายทุนและผู้อื่นประมาณ 78 ล้านไร่ และจากข้อมูลงานศึกษาของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2555 ประเมินว่า พื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของประเทศไทย หรือประมาณ 100 ล้านไร่ อาจมีการถือครองโดยคนต่างชาติ
ในขณะที่แนวโน้มการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการได้ที่ดินกลับคืนมาของเกษตรกรเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่เท่าทันกับสถานการณ์และความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น พิจารณาได้จากสถิติการรักษาที่ดินของเกษตรกรโดยกลไกภาครัฐ 3 หน่วยงานหลัก ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร ได้แก่
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นับตั้งแต่มีการชำระหนี้แทนเกษตรกรปี 2549-2558 รวม 9 ปี กองทุนฟื้นฟูฯสามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรไว้ได้ประมาณ 1.38 แสนไร่ เฉลี่ยปี 15,333 ไร่ จากจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูทั้งหมด 5 แสนราย ได้รับการชำระหนี้แทนแล้ว 2.87 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.74
กองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) พบว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2534-2558 รวม 24 ปีที่ผ่านมา สามารถไถ่ถอนหรือซื้อคืนที่ดินของเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จำนวน 269,046 ไร่ เฉลี่ยปีละประมาณ 11,210 ไร่ โดยสามารถช่วยรักษาที่ดินของเกษตรกรไว้ได้ประมาณ ร้อยละ 10 ของเกษตรกรที่มาขอความช่วยเหลือ
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตั้งแต่ปี 2518 -2558 รวม 30 ปี มีเกษตรกรไร้ที่ดินได้รับการจัดสรรที่ดินส.ป.ก. จำนวน 35,515,620 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นที่ดินรัฐ มีที่ดินเอกชนเป็นส่วนน้อย ซึ่งส.ป.ก.สนับสนุนการให้เกษตรกรเช่าซื้อและโอนสิทธิ์ให้เกษตรกร จำนวนเพียง 459,322 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.29 หรือเฉลี่ยปีละ 15,310 ไร่ เท่านั้น โดยภาพรวมพบว่าจากเกษตรกรไร้ที่ดินที่ยื่นเรื่องเข้ามาได้รับการจัดสรรที่ดินไม่ถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังมีที่ดินส.ป.ก.จำนวนมากมีการขายเปลี่ยนมือและมีนายทุนเป็นเจ้าของแอบแฝง
จะเห็นได้ว่าอัตราการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเกิดจากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากแรงผลักเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่เอื้อให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินเอาไว้ อาทิเช่น รายได้จากภาคเกษตรไม่เพียงพอกับรายจ่าย เกษตรกรต้องการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น โครงสร้างการผลิตและการตลาดไม่เป็นธรรม ภาวะหนี้สิน ภัยธรรมชาติ รวมไปถึงแรงจูงใจด้านราคาและการกว้านซื้อจากนายทุน โดยเฉพาะในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราเร่งการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ในขณะที่อัตราการได้กลับมาซึ่งที่ดินของเกษตรกร จากกลไกและมาตรการของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เท่าทันสถานการณ์ ประเมินว่าที่ทำได้ดีที่สุดสามารถรักษาที่ดินเกษตรกรไว้ได้เพียงร้อยละ 10 นั่นคือส่วนที่เหลือร้อยละ 90 ที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เกษตรกรต้องเผชิญชะตากรรมและหาทางออกด้วยตนเอง
ซึ่งหากยังปล่อยให้สถานการณ์เหล่านี้ดำเนินไปเรื่อย ๆ และยังไม่มีการปฏิรูปกลไกและมาตรการเพื่อที่จะรักษาและคุ้มครองที่ดินของเกษตรกรเอาไว้อย่างทันท่วงที อาจเป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทย ซึ่งวันหนึ่งเคยให้นิยามของประเทศเอาไว้ว่า "ครัวของโลก"
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 29 มกราคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.