เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) ร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม จังหวัดราชบุรี และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ได้จัดสัมมนา "วิกฤติหนี้นอกระบบเกษตรกรกับทางออกที่ยั่งยืน" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกร และองค์กรพัฒนาเอกชน ล้วนมีความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร ถือเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ส่งผลเร่งให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกินอย่างรวดเร็วและรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรมีความสัมพันธ์กับหนี้ในระบบ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มักเป็นหนี้ในระบบก่อน และเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ในระบบได้ จึงมีการกู้หนี้นอกระบบเพื่อชำระหนี้ในระบบในลักษณะหมุนเวียนหนี้ ถือเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมต้องร่วมมือกันแก้ไข
ทำไมเกษตรกรจึงไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน กิมอัง พงษ์นารายณ์ เกษตรกรจากสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรว่า เกษตรกรที่กู้หนี้ส่วนใหญ่มักจะติดลบทางด้านการเงินมาก่อน ทั้งจากมีหนี้สินเก่าที่ค้างชำระ ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงิน หรือแม้แต่การขาดทุนจากการจำหน่ายผลผลิต
"ชาวนาใช้เงินลงทุนปลูกข้าวต่อไร่ราว 6,500 บาท หรือ 81.25 บาทต่อถัง ขณะที่โรงสีรับซื้อข้าวในราคา 61.25 บาทต่อถัง นับเป็นการขาดทุนตั้งแต่ต้น" นอกจากนี้ชาวนายังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การระบาดของแมลงศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ ซึ่งหากผลผลิตเสียหายติดต่อกันสองรอบของการเพาะปลูก ชาวนาก็ต้องหาทางออกทางการเงินด้วยการกู้หนี้เพื่อมาใช้จ่าย
กลไกรัฐกับความช่วยเหลือเรื่องหนี้นอกระบบ ยังขาดเจ้าภาพหลักและความต่อเนื่อง พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐที่ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องปัญหาหนี้สินมีอยู่หลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีหลักเกณฑ์ในการทำงานและประเด็นที่ช่วยเหลือแตกต่างกันไป ส่งผลให้การบูรณาการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงานนั้นเป็นไปได้ยาก และมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินเกษตรกร และ"ทัศนคติ"ของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ในการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่มองว่าเป็นปัญหาเชิงคดีแพ่ง ต้นเหตุหนี้เกิดจากความฟุ่มเฟื่อยของผู้กู้เอง ฯลฯ จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพและการช่วยเหลือทำได้ไม่เต็มที่
สถาบันการเงินควรปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างรับผิดชอบ ด้วยหลักระบบคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน สฤนี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้ยกตัวอย่างของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้หลักระบบคุ้มครองผู้บริโภคการเงิน (World Bank Good Practiced) ในการปล่อยผู้สินเชื่อผู้กู้รายย่อย ควรมีการเปิดเผยข้อมูลที่รับผิดชอบ โดยข้อมูลทั้งหมดต้องเปิดเผยในภาษาที่เข้าใจง่าย เพียงพอให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ใช้วิธีขายที่เป็นธรรมและเหมาะสม ไม่ยัดเยียด ที่สำคัญต้องให้เวลาเปลี่ยนใจ ( cooling-off period) คือช่วงระยะเวลาหลังจากที่ผู้ซื้อสินเชื่อได้เซ็นตกลงสัญญากับทางทางธนาคารแล้ว สามารถไปคิดไตร่ตรองและสามารถยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ รวมถึงไม่ขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละคน ไม่ใช้วิธีขู่กรรโชกหรือวิธีอื่น ๆ ที่ละเมิดสิทธิลูกหนี้ในการติดตามหนี้ พร้อมทั้งมีความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค มีกลไกเยียวยาและรับเรื่องร้องเรียน และส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงินและความตระหนักรู้เรื่องการเงิน
สถาบันการเงินชุมชน ทางเลือกในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยแนวทางสถาบันการเงินชุมชนนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะถึงแม้ว่าสถาบันการเงินชุมชนที่มีประสิทธิภาพสูงจะมีข้อดีในเรื่องการเข้าใจบริบทของชาวนา บางครั้งสามารถนำหลักความไว้เนื้อเชื่อใจกันเองภายในชุมชนมาใช้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ในการกู้เงินได้ และสามารถเจรจากันเองในชุมชนได้ ประเด็นสำคัญคือสถาบันการเงินชุมชนหลายกลุ่มนั้นมีเงินในกลุ่มมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีความระมัดระวังในการปล่อยกู้มากเช่นกัน ถ้าสถาบันการเงินชุมชนปล่อยกู้หมด สถาบันการเงินชุมชนก็มีความเสี่ยงสูง เพราะสถาบันการเงินเหล่านั้นเองรู้ว่า สมาชิกของกลุ่มตนเองนั้นยังไม่มีศักยภาพในการคืนเงินกู้
ทางออกที่ยั่งยืน คือการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร รศ.ดร.ปัทมาวดี ได้เสนอแนวทางออกในการแก้หนี้สินเกษตรกรอย่างยังยืน โดยการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร การนำระบบการจัดการไร่นาที่กระจายความเสี่ยง ปลูกพืชที่หลากหลายชนิดเพื่อกระจายความเสี่ยง เกษตรกรไม่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกินขนาดใหญ่ ควรอยู่ในขนาดเหมาะสมกับแรงงานที่มี ไม่ต้องเช่าที่ดินทำกินเพิ่ม และนำระบบเกษตรแบบใหม่ คือ "ระบบเกษตรแม่นยำ" (Precision Agriculture) แนวทางการบริหารจัดการไร่นาอย่างแม่นยำ ทำให้เกษตรกรสามารถคำนวณได้ว่าในไร่นาของตนเอง สามารถปลูกพืชแต่ละชนิดเท่าไหร่ ระบบการให้น้ำ ให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช การให้น้ำตามความชื้นดิน ฯลฯ จะทำให้เกษตรกรสามารถคำนวณต้นทุนในการใช้จ่ายเองได้ พร้อมทั้งการให้ความสำคัญต่อเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการปรับปรุงไร่นาของตนเอง กระตุ้นให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีกำลังใจและเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อทำให้ที่ดินของพ่อแม่เกิดประโยชน์สูงสุด
เกษตรทางเลือก คิดแบบองค์รวม การผลิต แปรรูป การตลาด สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กล่าวว่าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันยิ่งแก้ไขปัญหาได้ยากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของเกษตรกร และการเปลี่ยนแปลงของระบบตลาด ทางเลือกของเกษตรกร หากไม่ทำการเกษตรแบบเดิม(ตอบสนองระบบตลาด) ให้เกษตรกรมององค์รวม การผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยการจัดทำตลาดที่เกษตรกรนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายเองในหมู่บ้าน จะช่วยทำให้ได้ความรู้และเข้าใจแนวทางการตลาด และปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ในยุคสมัยที่เทคโนโลยี มีความทันสมัย เศรษฐกิจ และสังคมพัฒนาอย่างรวดเร็ว ให้เกษตรกรหันกลับมาปรับเปลี่ยนบทบาทและกำหนดทิศทางของตนเองให้ได้
จะเห็นได้ว่าปัญหาหนี้นอกของเกษตรกรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งจากหนี้ในระบบและนอกระบบด้วยแนวทางที่ยั่งยืน ต้องแก้ไขทั้งในระดับเกษตรกรและระดับโครงสร้างไปพร้อมกัน ระดับเกษตรกร โดยการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้วยแนวทางการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงและหลากหลาย พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่ สำหรับการแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง คือ การออกนโยบายที่เหมาะสมในการช่วยเหลือเกษตรกร การวางเงื่อนไขในการทำงานให้บูรณาการกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การสร้างระบบเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ต้องมีการปล่อยสินเชื่อด้วยความเป็นธรรมและรับผิดชอบ และที่ความสำคัญที่สุดความจริงใจและต่อเนื่องระดับนโยบายในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 20 มกราคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.