งานวิจัยเรื่องการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรจากปัญหาหนี้นอกระบบของมูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เกี่ยวกับผลกระทบของหนี้นอกระบบ ต่อวิกฤติชีวิตของเกษตรกรรายย่อย ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงขอทยอยนำมาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนในพื้นที่แห่งนี้
การศึกษาพบว่า ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งจากหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ แต่ปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นปัญหาที่มีภาวะวิกฤติและมีความรุนแรงมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่ดิน การสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง โดยเฉพาะปัญหาที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะพฤติกรรมการติดตามและทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้นอกระบบ ที่มีลักษณะขู่เข็ญ บีบบังคับและคุกคามต่อเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ และทำให้เกิดผลกระทบกับครอบครัวเกษตรกรที่สำคัญ 3 ประการคือ
ประการแรก เกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกยึดที่ดินจากเจ้าหนี้นอกระบบเมื่อเกษตรกรกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบด้วยการทำสัญญาจำนองที่ดิน หรือทำสัญญาเงินกู้กระดาษเปล่าไม่กรอกตัวเลข หากเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด เจ้าหนี้นอกระบบจะใช้วิธีฟ้องศาล และขอให้ศาลยึดที่ดินเกษตรกรเพื่อขายทอดตลาด และนำเงินมาชำระหนี้ให้กับตน
โดยทั่วไปเจ้าหนี้นอกระบบ จะมีผู้รู้ด้านกฎหมายให้คำปรึกษาด้านการทำสัญญาเงินกู้ จึงมักทำสัญญาเงินกู้ที่รัดกุม และสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ ในขณะที่เกษตรกรมักไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ไม่มีความรู้ด้านสัญญาเงินกู้ที่ตนเองเซ็น และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
เมื่อเกษตรกรถูกเจ้าหนี้นอกระบบฟ้องดำเนินคดี เกษตรกรจะมีความตื่นกลัว เพราะไม่เข้าใจเงื่อนไขและขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อถูกดำเนินคดีจึงมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และขาดหลักฐานเอกสารที่สำคัญในการสู้คดี เมื่อศาลมีคำสั่งยึดที่ดินและทรัพย์สินของเกษตรกรขายทอดตลาดแล้ว กลับพบว่าเกษตรกรยังถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้นอกระบบได้อีกในขั้นตอนของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเจ้าหนี้มักให้เกษตรกรทำสัญญาประนีประนอม ยินยอมชดใช้หนี้คืนในวงเงินที่สูงขึ้นกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยที่มีอยู่เดิม เมื่อเกษตรกรทำสัญญาประนีประนอมหนี้แล้ว หากเกษตรกรยังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ได้เจ้าหนี้นอกระบบยังสามารถร้องขอเจ้าหน้าที่รัฐให้มีคำสั่งขับไล่เกษตรกรออกจากที่ดิน หรือสามารถแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมเกษตรกรในข้อหาบุกรุกและครอบครองที่ดิน ซึ่งกลายเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้อีกด้วย
ประการที่สองเกษตรกรได้รับผลกระทบด้านสภาพจิตใจ และความสัมพันธ์ในครอบครัวเมื่อเกษตรกรกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ และไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด และตกอยู่ในภาวะหมุนหนี้ คือยืมเงินจากแหล่งหนึ่งมาใช้คืนให้กับอีกแหล่งหนึ่ง งานศึกษาพบว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพจิตใจจากสภาวะการเป็นหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้น เนื่องจากเกษตรกรต้องวนเวียนหาเงินมาชำระหนี้เป็นเวลายาวนานโดยไม่สามารถหาทางออกจากวงจรดังกล่าวได้ ยิ่งหากถูกพนักงานทวงหนี้ที่เรียกกันทั่วไปว่า"หมวกกันน็อค" ตามทวงหนี้ถึงบ้านทุกวัน ยิ่งทำให้เกษตรกรประสบปัญหาสุขภาพจิต หวาดระแวง เป็นทุกข์ ไม่สามารถทำมาหากิน และดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข บางรายกลายเป็นความเครียดสะสม มีภาวะซึมเศร้า วิตกจริต และคิดฆ่าตัวตายหนีปัญหา
ประการที่สาม เกษตรกรต้องสูญเสียที่ทำกิน และสูญเสียอาชีพทำการเกษตร การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรจากปัญหาหนี้นอกระบบ เกิดขึ้นได้จากหลายกรณี ทั้งจากการทำสัญญาจำนองที่ดิน ขายฝากที่ดิน หรือทำสัญญากระดาษเปล่า แต่ทั้งหมดนี้พบว่าการทำสัญญาขายฝากที่ดินเป็นเงื่อนไขการกู้หนี้นอกระบบที่ทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินได้ง่ายที่สุด เนื่องจากตามกฎหมาย เมื่อเกษตรกรทำสัญญาขายฝากที่ดินแล้ว ที่ดินผืนที่ถูกขายฝาก จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้นอกระบบโดยทันที เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า หากเกษตรกรสามารถหาเงินมาไถ่ถอนชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้จะต้องยินยอมให้เกษตรกรไถ่ถอนที่ดินคืนได้ นี่เป็นสาเหตุที่ในปัจจุบันเจ้าหนี้นอกระบบมักให้เกษตรกรทำสัญญาขายฝากที่ดินระยะสั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการไถ่ถอนคืน
ความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเกรงกลัวในอิทธิพลของเจ้าหนี้นอกระบบ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกษตรกรยินยอมทำสัญญาเงินกู้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรม ต้องกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และนำมาซี่งปัญหาการถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกยึดที่ดินจากเจ้าหนี้นอกระบบสูญเสียที่ทำกิน และสูญเสียอาชีพทำการเกษตรไปในที่สุด ในคราวต่อไป ผู้เขียนจะนำบทสรุปและข้อเสนอจากงานวิจัยมาแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.