งานวิจัยเรื่องการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรจากปัญหาหนี้นอกระบบของมูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เกี่ยวกับรูปแบบและลักษณะหนี้นอกระบบเกษตรกร ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงขอนำมาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนในพื้นที่แห่งนี้
หนี้นอกระบบของเกษตรกรมีหลายรูปแบบ มีทั้งรูปแบบที่เกษตรกรกู้ยืมกันเองเพื่อช่วยเหลือกัน เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน มักคิดดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งเกษตรกรผู้กู้จะยอมรับในเงื่อนไขนี้ได้ แตกต่างจากหนี้นอกระบบในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรม ที่เอาเปรียบเกษตรกรด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งมีเงื่อนไขบีบรัดให้เกษตรกรประสบปัญหาในการชำระเงินคืน และส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร
รูปแบบหนี้นอกระบบที่ส่งผลกระทบกับเกษตรกร หากมองในภาพรวมสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทประเภทแรกคือสัญญากู้เงินโดยการจำนองและขายฝากที่ดินเมื่อเกษตรกรต้องการกู้ยืมเงินจำนวนมาก หากเกษตรกรมีที่ดินทำกิน เจ้าหนี้นอกระบบจะให้เกษตรกรนำเอกสารการครอบครองที่ดิน เช่น โฉนด หรือ น.ส.3 มาจำนองหรือขายฝากไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
การนำเอกสารที่ดินมาจำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบ เมื่อเกษตรกรผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้นอกระบบ จะต้องฟ้องคดีกับเกษตรกรเสียก่อน จึงจะสามารถยึดที่ทำกินของเกษตรกรมาเป็นของตนได้ เจ้าหนี้นอกระบบโดยส่วนใหญ่จึงนิยมให้เกษตรกรทำสัญญากู้เงินโดยขายฝากที่ดินแทนซึ่งหมายความว่า หากเกษตรกรมีความสามารถในการชำระคืน ก็สามารถนำเงินมาไถ่คืนเอกสารสิทธิ์ดินได้ แต่หากเกษตรกรไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่ดินที่เกษตรกรนำมาขายฝากไว้นั้น จะตกเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบได้ทันที เนื่องเพราะสัญญากู้เงินโดยการขายฝากที่ดิน ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนั้นกับเจ้าหนี้ นับตั้งแต่วันทำสัญญากู้เงินแล้ว
ด้วยเหตุนี้ สัญญากู้เงินโดยการขายฝากที่ดิน จึงเป็นเช่นสัญญาขายที่ดินให้กับเจ้าหนี้นอกระบบนับตั้งแต่วันทำสัญญานั่นเอง
การกู้หนี้นอกระบบประเภทที่สอง คือสัญญาเงินกู้กระดาษเปล่า หรือสัญญาเงินกู้ไม่กรอกจำนวนตัวเลขสัญญาเงินกู้ประเภทนี้ เจ้าหนี้นอกระบบจะให้เกษตรกรผู้กู้เซ็นชื่อไว้ในเอกสารการกุ้ยืมโดยไม่มีการกรอกรายละเอียดและตัวเลข ซี่งเจ้าหนี้นอกระบบมักอ้างว่าจะนำมากรอกข้อความและเนื้อหาในภายหลังเอง การศึกษาพบว่าเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ เมื่อมีความเดือดร้อน และมีเหตุให้ต้องการใช้เงินเร่งด่วน มักต้องยอมจำนนต่อเงื่อนไขการกู้ยืมเงินของเจ้าหนี้นอกระบบ ถึงแม้จะรู้ว่าสัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรม
การทำสัญญากู้เงินกระดาษเปล่า หรือสัญญากู้เงินไม่กรอกจำนวนตัวเลข ทำให้เกษตรกรตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบกับเจ้าหนี้นอกระบบพบว่าในบางกรณีเมื่อเกษตรกรผิดนัดชำระหนี้ หรือเจ้าหนี้นอกระบบต้องการยึดเอาที่ดินของเกษตรกรที่นำมาค้ำประกันไว้ เจ้าหนี้นอกระบบจะใส่จำนวนเงินกู้ เกินกว่าจำนวนเงินจริงที่เกษตรกรกู้ไป และนำไปฟ้องร้องเป็นคดีความ ทำให้เกษตรกรไม่มีความสามารถในการหาเงินมาชำระคืนได้ตามสัญญา
หนี้นอกระบบเกษตรกรประเภทที่สาม คือเงินกู้แบบจ่ายดอกเบี้ยรายวัน (Loan Shark)เป็นเงินกู้นอกระบบสำหรับผู้ที่ต้องการเงินเร่งด่วนแต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เกษตรกรที่กู้หนี้นอกระบบรูปแบบนี้ มักไม่สามารถหาเงินกู้จากแหล่งอื่นได้แล้วจึงจำยอมต้องกู้เงินประเภทนี้ เกษตรกรที่ต้องการเงินกู้เร่งด่วนจะต้องขอกู้เงินผ่านพนักงานของบริษัทหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าพวก “หมวกกันน็อค”เนื่องจากพนักงานเหล่านี้ จะใช้มอเตอร์ไซต์และสวมหมวกกันน็อคในการตระเวนปล่อยและเก็บคืนเงินกู้วงเงินกู้เร่งด่วนอยู่ที่ประมาณ 1,000-10,000 บาท โดยเจ้าหนี้จะคำนวณและรวมดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่ายรวมเข้าไว้กับเงินต้น โดยเกษตรกรจะต้องชำระดอกเบี้ยรายวันให้กับเจ้าหนี้ เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อช่วงเวลาของการชำระคืน เช่น 20 วัน หรือ 24 วัน เจ้าหนี้นอกระบบประเภทนี้บางราย จะมีการทวงหนี้ด้วยวิธีการข่มขู่ คุกคาม จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายหากเกษตรกรไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามกำหนด เกษตรกรที่มีหนี้นอกระบบรูปแบบนี้ บางรายจึงต้องหลบหนีออกไปอยู่นอกชุมชน เพราะเกรงกลัวอิทธิพลและการถูกทำร้าย
เห็นได้ชัดว่า หนี้นอกระบบที่เกษตรกรเผชิญอยู่ปัจจุบัน เป็นรูปแบบของการกู้หนี้ที่ไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนกฎหมาย และเจ้าหนี้ใช้อิทธิพลอำนาจมืดในการหาผลประโยชน์กับเกษตรกร รวมไปถึงการใช้ช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในยึดที่ดินจากเกษตกรกร เช่น การทำสัญญาขายฝากระยะสั้นเมื่อผิดนัดก็สามารถยึดที่ดินได้เลย หรือการนำเอกสารการกู้ยืมที่เจ้าหนี้กรอกตัวเลขเองไปฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้เกษตรกรชำระหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากการกู้ยืมจริง รูปแบบหนี้นอกระบบเหล่านี้ กำลังกลายเป็นวิกฤตและส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากสูญเสียที่ดิน ในอัตราเร่งและเร็วกว่าการสูญเสียที่ดินจากการฟ้องร้องของสถาบันการเงินเสียอีก
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 8 มกราคม 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.