วันที่ 8-9 ธันวาคม 2558 ได้มีการจัดงานสัมมนาเพื่อเสนอผลการศึกษาเรื่อง "การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ"ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีจัดโดยมูลนิธิชีวิตไท (LocalAct)ในเวทีนี้มีเกษตรกรจากภาคกลาง 5 จังหวัด คือ ชัยนาท สุพรรณบุรี อยุธยา เพชรบุรี และราชบุรี กว่าสี่สิบคนเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาและทางออกเรื่องหนี้นอกระบบของเกษตรกร
จากการสะท้อนภาพปัญหาของเกษตรกร ทำให้เห็นมิติของหนี้นอกระบบเกษตรกร ที่ไม่สามารถแยกขาดจากโครงสร้างของระบบการผลิต วิถีชีวิตและความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกรได้รับอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะ การไร้อำนาจต่อรองในระบบตลาด การไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระบบการผลิต และ นโยบายส่งเสริมการเกษตรที่ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนจากการผลิตหลายต่อหลายครั้ง
"วงจรหนี้สินเกษตรกร" เริ่มต้นจาก การกู้หนี้ในระบบ-นำมาลงทุน-ขาดทุนจากการผลิต และวนซ้ำกลับมากู้หนี้นอกระบบ—ใช้คืนหนี้ในระบบและลงทุน—ขาดทุนการผลิต เมื่อยังขาดทุนอยู่ก็วนกลับมาที่ กู้หนี้นอกระบบก้อนใหม่-ใช้หนี้บางส่วน ลงทุน- ขาดทุนการผลิต ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอกพูนกลายเป็นวัวพันหลักจนเกษตรกรหลายรายหาหนทางออกไม่เจอ สุดท้ายเมื่อหาทางออกจากปัญหาหนี้สินไม่ได้ เกษตรกรบางรายก็จบปัญหาด้วยวิธีการฆ่าตัวตาย ดังที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์
แล้วทำไมเกษตรกรถึงออกจากวงจรหนี้นอกระบบได้ยากนัก? เกษตรกรหลายรายสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบไม่สามารถแยกออกจากหนี้ในระบบได้เพราะชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเกษตรกรภาคกลางรายหนี่ง ที่กู้หนี้ในระบบเพื่อมาลงทุนทำการเกษตรตามแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุน คือ การเลี้ยงโคเนื้อ โดยมีธนาคารของรัฐสนับสนุนเงินกู้ก้อนหนึ่งเพื่อเลี้ยงโค และรัฐให้ความหวังว่าเมื่อเลี้ยงได้ตามเป้าหมายก็จะรับซื้อในราคาที่เกษตรกรได้กำไร แต่ในความจริงเงินกู้ในระบบของธนาคารรัฐนั้นไม่เพียงพอ ที่จะลงทุนซื้อโค สร้างโรงเรือน และวางระบบการจัดการต่างๆ เกษตรกรรายนี้ จึงจำเป็นต้องพึ่งนายทุนนอกระบบ กู้เงินมาลงทุนเพิ่มเติม รวมทั้งในระหว่างที่เขายังไม่ได้รายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินออม และไม่มีรายได้เสริม เขาจึงต้องไปยืมเงินนอกระบบในละแวกชุมชนและพ่อค้ามาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของครอบครัว โดยต้องยินยอมทำสัญญาที่ถูกเอาเปรียบและจ่ายดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 15 ต่อปี ให้กับเจ้าหนี้นอกระบบทำให้เกษตรกรรายนี้มีภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกระบบและต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน แต่ก็หวังและเฝ้ารอวันที่โคเนื้อเติบโตพอที่จะนำไปขายตามที่รัฐบอกไว้เพื่อสะสางหนี้สินที่กู้มาทั้งหมด
แต่เมื่อเกิดโรคระบาดในโคเนื้อที่ส่งผลต่อราคาตลาดเนื้อวัวทั่วประเทศ สิ่งที่เกษตรกรลงทุนไปตามนโยบายที่รัฐส่งเสริม จึงไม่เป็นไปตามแผนที่คาดไว้ ทำให้เขาขาดทุน โคที่เลี้ยงไว้ เนื้อไม่ได้มาตรฐานตลาดก็ไม่รับซื้อ แต่เนื่องจากรัฐไม่ได้มีการประกันรายได้ เกษตรกรรายนี้ จึงจำเป็นต้องดิ้นรนอีกครั้ง โดยการไปกู้หนี้นอกระบบเพื่อนำเงินมาลงทุนเช่าแผงขายเนื้อวัว ที่ตนเองเลี้ยงเพื่อขายวัวออกไปให้ได้มากที่สุด ระหว่างนี้ครอบครัวก็ต้องใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดกระเบียดกระเสียนลูกหลานก็จำเป็นต้องเรียนและใช้เงิน
ส่วนหนี่งของวงจรหนี้นอกระบบเกษตรกร จึงมีจุดเริ่มต้นจากนโยบายส่งเสิรมเกษตรของภาครัฐ ซี่งไม่มีการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรนั่นเอง สุดท้ายเมื่อเกษตรกรอับจนหนทางเจ้าหนี้นอกระบบก็จะบีบบังคับให้เกษตรกรขายที่ดิน ยึดที่ดินของเกษตรกรที่นำไปขายฝาก หรือฟ้องดำเนินคดีหากเกษตรกรทำสัญญาจำนองที่ดินไว้ วิกฤติของเกษตรกร การไม่เข้าใจกฎหมายและเข้าไม่ถึงความยุดิธรรม ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดิน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกษตรกรที่ประสบปัญหา ซี่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ระหว่าง 50-80 ปี ต้องเดินทางร้องขอความยุติธรรมและขอความช่วยเหลือเพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน ที่สูงวัย ไร้ที่พี่ง และต้องเผชิญสภาพความยากลำบากอย่างลำพัง
ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไร้ที่ทำกิน เมื่อล้มเหลวแล้วก็ไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ในอาชีพการเกษตรของตน จำเป็นต้องทิ้งบ้านเกิดเข้าสู่อาชีพรับจ้าง ขณะที่คนหนุ่มสาว ลูกหลานของเกษตรกร ก็มีแรงจูงใจน้อยมากที่จะกลับมาสานต่ออาชีพเดิมของบรรพบุรุษให้มีคุณภาพเพราะเข็ดหลาบต่อภาพของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ที่ต้องเผชิญกับความลำบากในอาชีพการเกษตรนี้
การสะท้อนภาพปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรในเวทีสัมมนาครั้งนี้ ทำให้หลายภาคส่วนตระหนักว่าปัญหาหนี้สินเป็นประเด็นวิกฤตของเกษตรกร ที่สำคัญก็คือการแก้ไขปัญหาต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรม ระบบการผลิตและการตลาดที่เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะนั่นคือสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้เกษตรกรหลุดจากวงจรหนี้สินไม่ได้นั่นเอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.