แม้ว่าพลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะสั่งยกเลิกร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ที่จะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก ในรัฐบาลนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทำให้หลายฝ่ายวางใจได้ เนื่องเพราะร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน
ในฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อรองรับการศึกษาทดลองเกี่ยวกับจีเอ็มโอ การผลิตและการใช้จีเอ็มโอ และป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านเห็นว่าร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้น จะไม่สามารถควบคุมผลกระทบของจีเอ็มโอที่มีต่อเกษตรกร ผู้บริโภค เศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ดังบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจของผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล เรื่องพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ: เปิดทางจีเอ็มโอหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะ ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอฉบับนี้อยู่ถึง 9 ประเด็นสำคัญด้วยกัน คือ 1)ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle) 2) ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 3) โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ เพราะเปิดช่องให้สามารถนำจีเอ็มโอทุกชนิดเข้ามาในประเทศได้ ยกเว้นแต่จะมีการประกาศห้าม นอกจากนั้นสามารถ ผลิตได้ ขายได้ ทดลองได้
4) ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ 5) ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 6) ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 7) ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน
8)การปลูกพืชจีเอ็มโอเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและอาจไม่ปลอดภัย แต่ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ 9) ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง เพราะคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ให้ใบอนุญาตใช้จีเอ็มโอได้นั้น มาจากการแต่งตั้งจากภาครัฐ และเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญการเฉพาะด้านเท่านั้น ไม่มีส่วนของภาคประชาชนเข้าไปพิจารณาอนุมัติเลย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อหวั่นวิตกที่สำคัญคือ ผลกระทบจีเอ็มโอที่มีต่อเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของจีเอ็มโอจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ปัญหาหลักในปัจจุบันของเกษตรกรในเรื่องภาวะหนี้สินและการสูญเสียที่ดินให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
จากผลการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ ของมูลนิธิชีวิตไท ได้สะท้อนให้เห็นถึงวงจรหนี้สินของเกษตรกร ที่เริ่มต้นจากการขาดแคลนเงินทุน ความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน นำมาสู่การ "กู้หนี้" ทั้งจากหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อนำมา "ลงทุน" ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร และเป็นใช้จ่าย (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเรียนลูก ฯลฯ) ความจำเป็นฉุกเฉิน(เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ฯลฯ) และนำไปชำระหนี้เก่า
เมื่อเกษตรกรนำเงินที่กู้มาลงทุนแล้ว สิ่งที่เกษตรกรเจอในขั้นต่อไปคือการ "ขาดทุน" ทั้งขาดทุนเพราะต้นทุนการผลิตสูง (ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ฯลฯ) แต่ขณะเดียวกันราคาผลผลิตที่ได้นั้นกลับมีราคาต่ำ ทำให้ไม่คุ้มกับเงินที่ได้ลงทุนไปในตอนแรก ขาดทุนเพราะราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนในแต่ละปี และขาดทุนจากภัยธรรมชาติ (ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคแมลงระบาด ฯลฯ) ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
เมื่อเกษตรกรขาดทุนจากเงินที่ได้ทำการลงทุนไปแล้วนั้น เพื่อให้มีเงินในการใช้จ่ายต่อไป จึงต้องไปกู้หนี้มาใหม่ เพื่อมาลงทุนและใช้จ่าย และเมื่อขาดทุนอีก ก็กลับไป "กู้หนี้-ลงทุน-ขาดทุน" เป็นวงจรหนี้ของเกษตรกรต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด
ดังนั้นจึงทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า หากพ.ร.บ.จีเอ็มโอที่ยังขาดความครอบคลุมในเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นได้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์แล้วนี้ อะไรจะเป็นหลักประกันความเสี่ยงให้เกษตรกรได้
หากเกษตรกรมีการ "ลงทุน" ปลูกพืชจีเอ็มโอ ที่มักโฆษณาว่าได้ผลผลิตสูง สามารถลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ อะไรจะเป็นหลักประกันความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร หากเกษตรกรปลูกไปแล้วจะมีตลาดรองรับ และผลผลิตจีเอ็มโอจะสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้หรือไม่ ในเมื่อต่างชาติเริ่มมีกระแสแบนพืชจีเอ็มโอมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากผลผลิตนั้นขายไม่ได้ ผู้บริโภคไม่ยอมรับ หรือราคาตกต่ำ เกษตรกรไทยจะต้อง "ขาดทุน" รัฐบาลหรือใครจะรับผิดชอบ
หากเกษตรกรมีการ "ลงทุน" ปลูกพืชจีเอ็มโอ เมล็ดพันธุ์ที่ถูกดัดแปลงโดยบริษัท จะถูกผูกขาดทางการค้าและถูกจดสิทธิบัตรเป็นของบริษัท เกษตรกรต้องเสียค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมไปถึงต้นทุนของค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในสูตรที่กำหนดพ่วงมาด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้เกษตรกรจะต้อง "ขาดทุน" เพราะสู้ต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป รัฐบาลหรือใครจะรับผิดชอบ
และหากพ.ร.บ.จีเอ็มโอที่ยังไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อนนั้นได้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์แล้ว ซึ่งในกฎหมายไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากจับพลัดจับผลูเกษตรกรต้องรับผิดชอบเอง คงมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันสนุกน่าดูเลย เพราะแค่เกสรและเมล็ดพันธุ์ปลิวไปไร่ผู้อื่นก็ปนเปื้อนได้แล้ว
ลองคิดดูเล่น ๆ หากพ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซ้ำเติมปัญหาหนี้สิน ทำให้เกษตรกร ลงทุน ขาดทุน เป็นวงจรปัญหาหนี้สินเกษตรกรหนักเพิ่มขึ้น แม้ทุกวันนี้ยังไม่มีการปลูกพืชจีเอ็มโออย่างเป็นทางการ ลำพังแค่ปัญหาจากการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาพืชพันธุ์ใหม่และเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีการผูกขาดการค้าโดยบริษัท ส่งผลให้ระบบการผลิตของเกษตรกรเปลี่ยนไป เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงเสียจนหายใจหายคอแทบไม่คล่องอยู่แล้ว
และในอนาคตหากมีการปลูกพืชจีเอ็มโอที่อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทในการผูกขาดทางการค้ายิ่งขึ้นไปอีก มีหวังคราวนี้นอกจากเกษตรกรรายย่อยจะหายใจไม่คล่องแล้ว คงได้ใช้เครื่องช่วยหายใจในการดำรงชีวิตแทนเป็นแน่
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 25 ธันวาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.