งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่องการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ ของมูลนิธิชีวิตไทมีข้อสรุปจากการศึกษาในประเด็นปัญหารากฐานของหนี้นอกระบบเกษตรกรที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรก็เป็นได้
การศึกษาสภาพปัญหาหนี้นอกระบบ และผลกระทบกับครอบครัวเกษตรกรพบว่าปัญหาหนี้นอกระบบเกษตกรเกี่ยวโยงกับหลายปัจจัย ไม่ได้มีเหตุผลจากการขาดแคลนงินลงทุนทำการเกษตร และเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาทางโครงสร้างสังคม เช่น การขาดการศึกษาของเกษตรกร การขาดแคลนที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบเพราะยากจนและไม่มีหลักทรัพย์ รายละเอียดสาเหตุการเป็นหนี้นอกระบบเกษตรกรโดยสังเขปประกอบด้วย
การทำการผลิตในระบบที่ไม่เอื้อต่อการพึ่งตนเองและการขาดแคลนที่ทำกิน ระบบการผลิตของเกษตรกร ที่เปลี่ยนแปลงจากการผลิตเพื่อพึ่งตนเอง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำเพราะใช้ปัจจัยการผลิตภายในแปลงตนเอง มาเป็นระบบการผลิตที่มีเป้าหมายเพื่อขายในตลาดเป็นหลัก ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนทำเกษตรสูงขึ้นรวมถึงต้องใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้นด้วย
เกษตรกรจึงต้องกู้เงินทั้งจากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อซื้อที่ทำกินเพิ่ม หรือเช่าที่ทำกินเพิ่ม เนื่องจากที่ทำกินเดิมมีน้อย หรือมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องกู้ยืมเงินทั้งจากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อนำเงินมาลงทุนซื้อปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์กล้าไม้ ปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร เนื่องจากระบบเกษตรเคมีที่ทำอยู่ปัจจุบัน เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยการผลิตของตนเองได้ แต่ต้องซื้อปัจจัยการผลิตทั้งหมดจากภายนอก ด้วยราคาที่สูงและไม่ได้มีการควบคุมจากรัฐ
การขาดหลักประกันทางรายได้ที่แน่นอนและสวัสดิการสังคมรองรับที่เพียงพอ งานศึกษาพบว่าเกษตรกรต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดในการทำการเกษตร เช่น เกิดภาวะภัยธรรมชาติทำลายผลผลิตการเกษตร หรือเกิดภาวะราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ไม่คุ้มทุน ขาดทุน และไม่มีรายได้หมุนเวียนในครอบครัว หรือกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นในครอบครัว เช่น คนในครอบครัวเจ็บป่วยกระทันหัน เกิดอุบัติเหตุ และต้องเร่งหาเงินมาช่วยเหลือ
การหันไปพึ่งพิงแหล่งเงินกู้นอกระบบบ่อยครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แสดงให้เห็นภาพสะท้อนของอาชีพทำการเกษตรว่า เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในอาชีพทำการเกษตรแต่อย่างใด เนื่องจาก ไม่มีหลักประกันทางรายได้ที่แน่นอนและไม่มีเงินเก็บออม รวมถึงไม่มีหลักประกันการดำเนินชีวิตหรือสวัสดิการสังคมรองรับจากรัฐที่เพียงพอ เช่น การประกันความเสียหายของพืชผลการเกษตรเนื่องจากภัยธรรมชาติ การประกันราคาผลผลิตเบื้องต้นที่ทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุน หรือการประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับเกษตรกรความเปราะบางทางเศรษฐกิจเหล่านี้นี่เอง ทำให้เกษตรกรเดินเข้าสู่เส้นทางของหนี้นอกระบบ
การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบและไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะกู้เงินในระบบได้ พบว่าเกษตรกรที่มีฐานะยากจนมาก จะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หรือไม่อยุ่ในเงื่อนไขที่จะกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในระบบได้ ทั้งด้วยสาเหตุที่ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ว่าหนี้ในระบบมีเงื่อนไขการกู้ยืมอย่างไร รวมถึงไม่มีหลักทรัพย์ใดๆ ที่จะนำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้ อีกทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบไม่ได้มีเงื่อนไขการพิจารณา ให้เงินกู้ยืม บนฐานความช่วยเหลือเมื่อเกษตรกรเดือดร้อนแต่จะพิจารณาเงื่อนไขการให้กู้จาก ศักยภาพในการชำระคืนของเกษตรกรเป็นสำคัญ
การขาดความรู้และทักษะการประกอบอาชีพ การวางแผนลงทุนและการใช้จ่าย การศึกษา พบว่าเกษตรกรยังไม่มีความรู้ และทักษะที่เพียงพอในการลงทุนทำการผลิตในระบบเกษตรเคมีเนื่องจากไม่มีความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำเกษตรแบบนี้ และเกษตรกรเองก็ไม่ได้รับการศึกษา หรือการฝึกอบรมด้านการเกษตรมาอย่างดีพอ โอกาสรอดทางทางเศรษฐกิจจากการลงทุนสูง จึงเป็นไปได้น้อย
ไม่แตกต่างจากการลงทุนประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร เกษตรกรมีแนวโน้มไม่มีความรู้ และทักษะที่เพียงพอในลงทุนประกอบอาชีพของตน ทั้งที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีโอกาสเสี่ยงกับการประสบปัญหาขาดทุนก็ตาม การขาดความรู้ และทักษะในการวางแผนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน การประเมินความเสี่ยงจากการผลิต และการวางแผนทางการเงิน จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถบริหารการเงินของครอบครัว และผลักดันให้เกษตรกรหันไปพึ่งพิงแหล่งเงินกู้นอกระบบ
เห็นได้ชัดว่า รากฐานของปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐเป็นสำคัญ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร ด้วยการโอนย้ายจากหนี้นอกระบบ มาสู่หนี้ในระบบและการช่วยเหลือด้านคดีความ แม้จะช่วยบรรเทาปัญหาภาระดอกเบี้ยแพง และความเดือดร้อนจากคดีความได้บ้าง แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอ และไม่ใช่การแก้ปัญหาจากระดับรากฐาน ในครั้งต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงผลกระทบ และแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกรที่ยั่งยืน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 11 ธันวาคม 2558
ภาพประกอบจาก internet
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.